การจัดงานศพ ตามพุทธวจน ทำอย่างไร
- รายละเอียด
- หมวด: ชีวิตประจำวัน
วีดีโอ1
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี
ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่
วีดีโอ2
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี
ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่
วีดีโอ3
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี
ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่
วีดีโอ4
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี
ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน แม่โคลูกอ่อนขวิดพาหิยทารุจีริยะให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยทารุจีริยะทำกาละแล้ว จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับสรีระของพาหิยทารุจีริยะยกขึ้นสู่เตียงแล้ว จงนำไปเผาเสีย แล้วจงทำสถูปไว้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐเสมอกับท่านทั้งหลาย ทำกาละแล้ว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ช่วยกันยกสรีระของพระพาหิยทารุจีริยะขึ้นสู่เตียง แล้วนำไปเผา และทำสถูปไว้แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สรีระของพาหิยทารุจีริยะข้าพระองค์ทั้งหลายเผาแล้ว และสถูปของพาหิยทารุจีริยะนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายทำไว้แล้ว คติของพาหิยทารุจีริยะนั้นเป็นอย่างไร ภพเบื้องหน้าของเขาเป็นอย่างไร ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะเป็นบัณฑิตปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำเราให้ลำบาก เพราะเหตุแห่งการแสดงธรรมดูกรภิกษุทั้งหลาย พาหิยทารุจีริยะ ปรินิพพานแล้ว ฯ
(ภาษาไทย) อุ. ขุ. ๒๕/๕๙/๕๐ : คลิกดูพระสูตร
ฐานที่ตั้งแห่งความมีสัมปชัญญะ ๑๙ ฐาน
อานนท์ ! อย่างไรเล่า ชื่อว่า ภิกษุกระทำจิตในภายในนั่นแหละ ให้เป็นจิตตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นจิตหยุดพัก ให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ให้เป็นจิตตั้งมั่น ?
อานนท์ ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามสงัด จากอกุศลธรรมจึง เข้าถึงปฐมฌาน .... ทุติยฌาน .... ตติยฌาน .... จตุตถฌาน แล้วแลอยู่. อานนท์! อย่างนี้แล ชื่อว่าภิกษุกระทำจิตในภายในนั่นแหละ ให้เป็นจิตตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นจิตหยุดพัก ให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ให้เป็นจิตตั้งมั่น. ภิกษุนั้น ย่อมกระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นภายใน.
เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อ สุญญตาอันเป็นภายใน ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายใน ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ไม่น้อมไป” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อม (สมฺปชาน) ในกรณีที่จิตไม่น้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นภายในนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่หนึ่ง)....
...
อานนท์ ! กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. ห้าอย่าง อย่างไรเล่า ?
ห้าอย่างคือ รูปทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ .... เสียงทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ.... กลิ่นทั้งหลาย อันพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ .... รสทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ....โผฏฐัพพะทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งด้วยกายะ อันเป็นสิ่งที่ปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล คือ กามคุณ ๕ อย่าง; ซึ่งในกามคุณเหล่านั้นภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนอยู่เนืองๆว่า “มีอยู่แก่เราหรือไม่หนอ ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้. อานนท์ ! ถ้าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “มีอยู่แก่เราแล ที่ความกำเริบแห่งจิต เกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้; อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “ฉันทราคะในกามคุณทั้งห้า เหล่านี้ เรายังละไม่ได” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในกรณีแห่งฉันทะราคะในกามคุณที่ตนยังละมันไม่ได้นั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบเจ็ด)
อานนท์ ! แต่ถ้าว่าภิกษุ เมื่อพิจารณาอยู่ ย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “ไม่มีอยู่แก่เราเลย ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้า หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้; อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “ฉันทราคะในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ เราละได้แล้ว” ดังนี้; ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งฉันทราคะในกามคุณห้าที่ตนละได้แล้วนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบแปด).
อานนท์ ! อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีอยู่; ซึ่งในอุปาทานขันธ์ห้า เหล่านั้น ภิกษุพึงเป็นผู้มีปกติตามเห็นซึ่งความตั้งขึ้นและความเสื่อมไปอยู่ ดังนี้ ว่า “รูป .... เวทนา .... สัญญา .... สังขาร .... วิญญาณ เป็นอย่างนี้, ความเกิดขึ้นแห่ง รูป .... เวทนา .... สัญญา .... สังขาร .... วิญญาณ เป็นอย่างนี้, ความดับแห่ง รูป .... เวทนา .... สัญญา .... สังขาร .... วิญญาณ เป็นอย่างนี้, ดังนี้. เมื่อภิกษุนั้น มีปกติตามเห็นซึ่งความตั้งขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ห้าเหล่านี้อยู่, อัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า อันเธอย่อมละได้ อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “อัสมิมานะของเราในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า, อันเราละได้แล้ว” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งอัสมิมานะในปัญจุปาทานขันธ์อันตนละได้แล้วนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบเก้า)
อานนท์ ! ธรรมทั้งหลาย (อันเป็นที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ๑๙ อย่าง) เหล่านี้แล เป็นไปเพื่อกุศลโดยส่วนเดียว เป็นของพระอริยเจ้า เป็นโลกุตตระ อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า ๑๑๙๐
(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๑๘๖-๑๙๐/๓๔๗-๓๕๐ : คลิกดูพระสูตร
หมวดนวสีวถิกา (คือกาย)
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : (๑) ภิกษุพึง เห็นซากศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าที่ทิ้งศพ ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง ตายแล้วสองวันบ้าง ตายแล้วสามวันบ้าง กำลังขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีหนองไหลน่าเกลียด ฉันใด,
เธอพึงน้อมเข้าไปเปรียบกับกายนี้ฉันนั้นว่า “แม้กายนี้แล ก็มีธรรมดาเป็นอย่างนี้ มีภาวะเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้” ดังนี้. ด้วยอาการอย่างนี้แลที่ภิกษุเป็นผู้ มีปกติพิจารณาเห็นกาย ในกายอันเป็นภายในอยู่ บ้าง, ในกายอันเป็นภายนอกอยู่ บ้าง, ....ฯลฯ....
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า ๑๒๑๓
(ภาษาไทย) มหา. ที. ๑๐/๒๑๙/๒๗๙. : คลิกดูพระสูตร
เมื่อมีคนมาประชุมกัน
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันจบแล้วจึงทรงกระแอมแล้วเคาะบานประตู ภิกษุเหล่านั้นได้เปิดประตูรับ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปที่อาศรมของพราหมณ์ชื่อรัมมกะ ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้จัดไว้ แล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนาเรื่องอะไรกัน และเรื่องอะไรที่พวกเธอสนทนากันค้างไว้?
ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมีกถาปรารภถึงพระผู้มีพระภาคนั้นแลพวกข้าพระองค์พูดกันค้างอยู่ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง
พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า
ดีละภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอผู้เป็นกุลบุตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา นั่งสนทนาธรรมีกถากัน เป็นการสมควร
พวกเธอเมื่อนั่งประชุมกัน ควรทำกิจสองอย่าง คือ
สนทนาธรรมกัน หรือ นั่งนิ่งตามแบบพระอริยะ
(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๒๒๐/๓๑๓ : คลิกดูพระสูตร
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาบิดา อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
(๑) ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน (๒) เราจักทำกิจของท่าน (๓) เราจักดำรงวงศ์สกุล (๔) เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท (๕) เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน
ปฐมธรรม หน้า ๑๐
(ภาษาไทย) ปา. ที. ๑๑/๑๔๔/๑๙๙. : คลิกดูพระสูตร
... ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษมีทรัพย์ มีโภคสมบัติ จะพึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด.
ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.
เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ คนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง พึงยังบุคคลให้รู้แจ้งทั้งสี่ทิศ โดยไม่ยากเลย ฉันใด กรรมที่ทำพอประมาณอันใดในเมตตาเจโตวิมุตติ ที่บุคคลอบรมแล้วอย่างนี้ กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจรและอรูปาพจรนั้นฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกรวาเสฏฐะ แม้นี้แล ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม.
สี. ที. ๙/๓๘๑/๓๘๓ : คลิกดูพระสูตร
ผู้ประสบบุญใหญ่
ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชผู้มีศีล เข้าไปสู่สกุลใด, มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ด้วยฐานะ ๕ อย่าง. ฐานะ ๕ อย่างอะไรบ้างเล่า ? ๕ อย่าง คือ :-
(๑) ในสมัยใด จิตของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเลื่อมใส เพราะได้เห็นนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสวรรค์.
(๒) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย พากันตอบรับ กราบไหว้ ให้อาสนะแก่นักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการเกิดในสกุลสูง.
(๓) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย กำจัดมลทินคือความตระหนี่เสียได้ในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้เกียรติศักดิ์อันใหญ่.
(๔) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมแจกจ่ายทาน ตามสติ ตามกำลังในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้โภคทรัพย์ใหญ่.
(๕) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไต่ถาม สอบสวน ย่อมฟังธรรมในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้ปัญญาใหญ่.
ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชผู้มีศีล เข้าไปสู่สกุลใด, มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ด้วยฐานะ ๕ อย่างเหล่านี้ แล.
ปฐมธรรม หน้า ๑๕๔
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๒๓๓
(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๑๖/๑๙๙ : คลิกดูพระสูตร
การปรินิพพาน
สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่, ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต, ทั้งที่มั่งมี และยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า. เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้วและยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด; ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นเบื้องหน้า ฉันนั้น.
วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว, เราจักละพวกเธอไป. สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล เป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด.
ในธรรมวินัยนี้, ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
ก้าวย่าง อย่างพุทธะ หน้า ๑๒๐
(ภาษาไทย) มหา. ที. ๑๐/๑๐๐/๑๐๘. : คลิกดูพระสูตร