พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนท่อนไม้อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ บางคราวตกเอาโคนลง บางคราวตกเอาตอนกลางลง บางคราวตกเอาปลายลง ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก แล่นไปอยู่ท่องเที่ยวไปอยู่ในสังสารวัฏ ก็ทำนองเดียวกัน บางคราวแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้.
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้น เพราะความที่เขาเป็นผู้ไม่เห็นซึ่งอริยสัจทั้งสี่. อริยสัจสี่อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๙๗
(ไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๓๕/๑๗๑๖.คลิกดูพระสูตร
(บาลี) มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๖.คลิกดูพระสูตร
สาติ ! จริงหรือตามที่ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามกเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ว่า “เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า วิญญาณนี้นี่แหละ ย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป, หาใช่สิ่งอื่นไม่” ดังนี้ ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเช่นนั้นว่า วิญญาณนี้นี่แหละ ย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป หาใช่สิ่งอื่นไม่ ดังนี้”.
สาติ ! วิญญาณนั้น เป็นอย่างไร ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! นั่นคือสภาพที่เป็นผู้พูด ผู้รู้สึก (ต่อเวทนา) ซึ่งเสวยวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่ว ท. ในภพนั้น ๆ”.
โมฆบุรุษ ! เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ เมื่อแสดงแก่ใครเล่า.
โมฆบุรุษ ! เรากล่าววิญญาณ ว่าเป็นปฏิจจสมุปปันนธรรม (สิ่งที่อาศัยปัจจัยแล้วเกิดขึ้น) โดยปริยายเป็นอันมาก; ถ้าเว้น จากปัจจัยแล้ว ความเกิดแห่งวิญญาณมิได้มี ดังนี้มิใช่หรือ.
โมฆบุรุษ ! เมื่อเป็นอย่างนั้น เธอชื่อว่า ย่อมกล่าวตู่เราด้วยถ้อยคำที่ตนเองถือเอาผิดด้วย ย่อมขุดตนเองด้วย ย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากด้วย;
โมฆบุรุษ ! ข้อนั้นแหละ จักเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลแก่เธอตลอดกาลนาน ดังนี้.
พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า ๒๖๘
(ไทย) มู.ม. ๑๒/๓๓๑/๔๔๒.คลิกดูพระสูตร
(บาลี) มู.ม. ๑๒/๔๗๑/๔๔๒ .คลิกดูพระสูตร