Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

คุณสมบัติโสดาบันที่พบใหม่

User Rating:  / 6
PoorBest 

 

วิดีโอ

 

บางส่วนจาก สนทนาธรรมค่ำวันเสาร์

๙ สิงหาคม ๒๕๕๗

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

                  ดาวน์โหลด : mp4,mp3

   

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

นันทิยสูตร

 

 [๑๕๙๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า นันทิยะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

[๑๖๐๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกใด ไม่มีโสตาปัตติยังคธรรม ๔ ประการ โดยประการทั้งปวง ในกาลทุกเมื่ออริยสาวกนั้นหรือหนอที่พระองค์ตรัสเรียกว่า อยู่ด้วยความไม่ประมาท?

         พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนันทิยะ อริยสาวกใด ไม่มีโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ เราเรียกอริยสาวกนั้นว่า เป็นคนภายนอก ตั้งอยู่ในฝ่ายปุถุชน อนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท และอยู่ด้วยความไม่ประมาท โดยวิธีใด ท่านจงฟังวิธีนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว นนทิยศากยะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

 [๑๖๐๑] ดูกรนันทิยะ ก็อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทอย่างไร? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ  พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ... เป็นผู้จำแนกธรรม อริยสาวกนั้นพอใจแล้วด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีปราโมทย์ เมื่อไม่มีปราโมทย์ ก็ไม่มีปีติ เมื่อไม่มีปีติ ก็ไม่มีปัสสัทธิ เมื่อไม่มีปัสสัทธิ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้มีความทุกข์ ย่อมไม่เป็นสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับบว่า อยู่ด้วยความประมาท

       อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกนั้นพอใจแล้วด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีปราโมทย์ เมื่อไม่มีปราโมทย์ ก็ไม่มีปีติ เมื่อไม่มีปีติ ก็ไม่มีปัสสัทธิ เมื่อไม่มีปัสสัทธิ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ จิตของผู้มีความทุกข์ย่อมไม่มีสมาธิ เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายไม่ปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความประมาท ดูกรนันทิยะ อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทอย่างนี้แล.

 [๑๖๐๒] ดูกรนันทิยะ ก็อริยสาวกผู้เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม อริยสาวกนั้นยังไม่พอใจด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจกอปรด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุขย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความไม่ประมาท

          อีกประการหนึ่ง อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวกนั้นยังไม่พอใจด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว พยายามให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อความสงัดในกลางวัน เพื่อหลีกเร้นในกลางคืน  เมื่ออริยสาวกนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่อย่างนี้ ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจกอปรด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมได้เสวยสุข จิตของผู้มีความสุข ย่อมเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ อริยสาวกนั้นย่อมถึงความนับว่า อยู่ด้วยความไม่ประมาท

ดูกรนันทิยะ อริยสาวกเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้แล.

 

(ไทย) สํ.ม. ๑๙/๓๙๔–๓๙๖/๑๕๙๙–๑๖๐๒:คลิกดูพระสูตร

(บาลี)สํ.ม. ๑๙/๔๙๙–๕๐๒/๑๕๙๙–๑๖๐๒:คลิกดูพระสูตร

 


 มิตตามัจจสูตรที่ ๑

[๑๔๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์เหล่าชนผู้เป็นมิตร อำมาตย์ญาติหรือสาโลหิต ผู้ที่สำคัญโอวาทว่า เป็นสิ่งที่ตนควรฟัง พึงยังเขาเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการเป็นไฉน? คือ พึงให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ในศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์เหล่าชนผู้เป็นมิตรอำมาตย์ ญาติหรือสาโลหิต ผู้ที่สำคัญโอวาทว่า เป็นสิ่งที่ตนควรฟัง พึงยังเขาเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ในองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการเหล่านี้.

 

(ไทย) สํ.ม.๑๙/๓๖๔/๑๔๙๓:คลิกดูพระสูตร

(บาลี)สํ.ม.๑๙/๔๕๖–๔๕๗/๑๔๙๓:คลิกดูพระสูตร

 

 

มิตตามัจจสูตรที่ ๒

[๑๔๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์เหล่าชนผู้เป็นมิตร ... ให้ดำรงอยู่ ในองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการเป็นไฉน? คือ พึงให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม.

 

[๑๔๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

พึงมีความแปรเป็นอย่างอื่นไปได้ ส่วนอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ไม่พึงมีความแปรเป็นอย่างอื่นไปได้เลย ความแปรเป็นอย่างอื่นในข้อนั้น ดังนี้ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ...จักเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือปิตติวิสัย ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เธอทั้งหลายพึงยังเขาเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ...ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... ในศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ.

[๑๔๙๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

พึงมีความแปรเป็นอย่างอื่นไปได้ ส่วนอริยสาวกผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่พึงมีความแปรเป็นอย่างอื่นไปได้เลย ความแปรเป็นอย่างอื่นในข้อนั้น ดังนี้ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว จักเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือปิตติวิสัย ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

[๑๔๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์เหล่าชนผู้เป็นมิตร อำมาตย์ ญาติหรือสาโลหิต ผู้ที่สำคัญโอวาทว่า เป็นสิ่งที่ตนควรฟัง พึงยังเขาเหล่านั้นให้สมาทาน ให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่ ในองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการเหล่านี้.

 

(ไทย) สํ.ม.๑๙/๓๖๕/๑๔๙๔–๑๔๙๗:คลิกดูพระสูตร

(บาลี)สํ.ม.๑๙/๔๕๗–๔๕๘/๑๔๙๔–๑๔๙๗:คลิกดูพระสูตร


 

 [๑๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ในแคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอ บุคคลชื่อว่าเป็นอุบาสก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหานาม เมื่อใดแล บุคคลถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าเป็นอุบาสก

 

(ไทย) อํ. สตฺตก. ๒๓/๑๖๘–๑๖๙/๑๑๕:คลิกดูพระสูตร

(บาลี) อํ. สตฺตก. ๒๓/๒๒๓/๑๑๕:คลิกดูพระสูตร

 


 

[๑๕๘๒] ดูกรนันทกะ ก็แลอริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นผู้

ประกอบด้วยอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

เป็นผู้ประกอบด้วยวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์

เป็นผู้ประกอบด้วยสุขทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

เป็นผู้ประกอบด้วยยศทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นใหญ่ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์

ดูกรนันทกะ ก็เราได้ฟังแต่สมณะหรือพราหมณ์อื่น จึงกล่าวเรื่องนั้น

หามิได้ความจริง เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเอง จึงกล่าวเรื่องนั้น.

 

[๑๕๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บุรุษคนหนึ่งได้กล่าวกะมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีชื่อนันทกะว่า ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว ท่านผู้เจริญ นันทกะมหาอำมาตย์กล่าวว่า

ดูกรพนาย บัดนี้ยังไม่ต้องการอาบน้ำภายนอก ต้องการจักอาบน้ำภายใน คือ ความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค.

 

(ไทย)สํ. ม. ๑๙/๓๘๗/๑๕๘๒–๑๕๘๓:คลิกดูพระสูตร

(บาลี) สํ. ม.๑๙/๔๙๑–๔๙๒/๑๕๘๒–๑๕๘๓:คลิกดูพระสูตร


 

[๑๖๐๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ๔ ประการนี้

๔ ประการเป็นไฉน?

         อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล อันนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๑

          อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ... นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล อันนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๒

          อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ... นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล อันนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๓

         อริยสาวกประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ นี้เป็นห้วงบุญ ห้วงกุศล อันนำมาซึ่งความสุขประการที่ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข ๔ ประการนี้แล.

..............................................

 

 [๑๖๐๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใครๆ จะนับประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วย

ห้วงบุญ ห้วงกุศล ๔ ประการนี้ว่า ห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข มีประมาณเท่านี้ มิใช่กระทำได้โดยง่าย ที่แท้ ห้วงบุญ ห้วงกุศล ย่อมถึงความนับว่า เป็นกองบุญใหญ่จะนับประมาณมิได้.

 

[๑๖๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใครๆ จะนับประมาณน้ำในมหาสมุทรว่า ประมาณเท่านี้อาฬหกะ  หรือว่าร้อยอาฬหกะ พันอาหฬกะ แสนอาฬหกะ มิใช่กระทำได้โดยง่าย ที่แท้น้ำย่อมถึงความนับว่า เป็นกองน้ำใหญ่ จะนับประมาณมิได้ แม้ฉันใด ใครๆ จะประมาณบุญของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยห้วงบุญ ห้วงกุศล ๔ ประการนี้ว่า ห้วงบุญ ห้วงกุศล อันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสุข มีประมาณเท่านี้ มิใช่กระทำได้โดยง่าย ที่แท้ ห้วงบุญ ห้วงกุศล ย่อมถึงความนับว่า เป็นกองบุญใหญ่ จะนับจะประมาณมิได้ ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

 

[๑๖๐๖] แม่น้ำเป็นอันมากที่หมู่คือคณะนรชนอาศัยแล้ว ไหลไปยังสาครทะเลหลวง ซึ่งจะประมาณมิได้ เป็นที่ขังน้ำอย่างใหญ่ มีสิ่งที่น่ากลัวมาก เป็นที่อยู่ของหมู่รัตนะ ฉันใด สายธารแห่งบุญย่อมไหลไปสู่นรชนผู้เป็นบัณฑิต ผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ที่นั่งและเครื่องปูลาดเหมือนแม่น้ำไหลไปสู่สาคร ฉันนั้นเหมือนกัน.

 

 

(ไทย)สํ.ม. ๑๙/๓๙๗–๓๙๙/๑๖๐๓–๑๖๐๖:คลิกดูพระสูตร

(บาลี)สํ. ม. ๑๙/๕๐๓–๕๐๔/๑๖๐๓–๑๖๐๖:คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Today785
Yesterday1254
This week5590
This month15608
Total2522913

Who Is Online

64
Online