Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

อริยสัจ ๔ ตามหลักพุทธวจน เป็นอย่างไร

User Rating:  / 37
PoorBest 

วีดีโอ1

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4mp3

 

วีดีโอ2

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4mp3

วีดีโอ3

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4mp3

 

วีดีโอ4

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4mp3

 

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

อริยสัจสี่โดยสังเขป

(ทรงแสดงด้วยความยึดในขันธ์ห้า)

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐ มีสี่อย่างเหล่านี้, สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์, และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือ :- ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง.

ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า ? คือ :-

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือตัณหาอันใดนี้ ที่เป็นเครื่องนำให้มีการเกิดอีก อันประกอบด้วยความกำหนัด เพราะอำนาจแห่งความเพลิน มักทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่

ตัณหาในกาม (กามตัณหา),

ตัณหาในความมีความเป็น (ภวตัณหา),

ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น (วิภวตัณหา).

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือความดับสนิท เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือของตัณหานั้น ความสละลงเสีย ความสลัดทิ้งไป ความปล่อยวาง ความไม่อาลัยถึงซึ่งตัณหานั้นเอง อันใด.

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือหนทางอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปดนั่นเอง, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ :-

ความเห็นชอบ, ความดำริชอบ,

การพูดจาชอบ, การงานชอบ, การเลี้ยงชีพชอบ,

ความเพียรชอบ, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่นชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล คือความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ พวกเธอพึงทำความเพียร เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์, นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ดังนี้เถิด.

ตามรอยธรรม หน้า ๑๓

(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๒/๑๖๗๘-๑๖๘๓. : คลิกดูพระสูตร


อริยมรรค มีองค์ ๘

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ อริยสัจ คือหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ หนทางอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้เอง องค์แปด คือ

ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)

ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)

วาจาชอบ (สัมมาวาจา)

การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)

อาชีวะชอบ (สัมมาอาชีวะ)

ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ)

ความระลึกชอบ (สัมมาสติ)

ความตั้งใจมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ)

ภิกษุทั้งหลาย ! ความเห็นชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ความ รู้ในทุกข์ ความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ ความรู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ความรู้ในหนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อันใด, นี้เราเรียกว่า ความเห็นชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน, นี้เราเรียกว่า ความดำริชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! วาจาชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการพูดเท็จ การเว้นจากการพูดยุให้แตกกัน การเว้นจากการพูดหยาบ การเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ, นี้เราเรียกว่า วาจาชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! การงานชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! การเว้นจากการฆ่าสัตว์ การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ การเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, นี้เราเรียกว่า การงานชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! อาชีวะชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกในกรณีนี้ ละการหาเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการหาเลี้ยงชีพที่ชอบ, นี้เราเรียกว่า อาชีวะชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความเพียรชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ ในกรณีนี้ ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความไม่บังเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันบาปทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้บังเกิด; ย่อมปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการละเสียซึ่งอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่บังเกิดขึ้นแล้ว; ย่อม ปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่ได้บังเกิด; ย่อม ปลูกความพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองจิต ย่อมตั้งจิตไว้ เพื่อความยั่งยืน ความไม่เลอะเลือนความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้ว, นี้เราเรียกว่า ความเพียรชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความระลึกชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้มีปกติ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัมปชัญญะ) มีสติ นำความพอใจ และความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสตินำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้; เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ, มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ นำความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้, นี้เราเรียกว่า ความระลึกชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไร ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ ในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ เพราะวิตกวิจารรำงับลง, เธอเข้าถึงฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่ เพราะปีติจางหายไป, เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมเข้าถึงฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุ ว่า เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม แล้ว แลอยู่ เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัส ในกาลก่อน เธอย่อมเข้าถึงฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์และไม่สุข มีแต่สติอันบริสุทธิ์เพราะ อุเบกขาแล้วแลอยู่, นี้เราเรียกว่า สัมมาสมาธิ.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อริยสัจ คือ หนทางเป็นเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

 

ปฐมธรรม หน้า ๒๙๕

(ภาษาไทย) มหา. ที. ๑๐/๒๓๑/๒๙๙. : คลิกดูพระสูตร


 

ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า "ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! ก็เวทนา เล่ามีอะไรเป็นเหตุให้เกิด? มีอะไรเป็นเครื่องก่อให้เกิด? มีอะไรเป็นเครื่องกำเนิด? มีอะไรเป็นแดนเกิด?" ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า 'ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เวทนา มีผัสสะเป็นเหตุให้เกิด มีผัสสะเป็นเครื่องก่อให้เกิด มีผัสสะเป็นเครื่องกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด'. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอย่างนี้".

ดูก่อนสารีบุตร ! ถ้าคนทั้งหลาย จะพึงถามเธอ (ต่อไปอีก) อย่างนี้ว่า "ข้าแต่ท่านสารีบุตร ! เมื่อท่านรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร นันทิ (กิเลสเป็นเหตุให้รู้สึกเพลิน) จึงจะไม่เข้าไปตั้งอยู่ในเวทนาทั้งหลาย?" ดังนี้. ดูก่อนสารีบุตร ! เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบแก่เขาว่าอย่างไร?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าเขาถามเช่นนั้น ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาว่า 'ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เวทนาสามอย่างเหล่านี้ มีอยู่; สามอย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา. ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้ารู้แล้วว่า 'เวทนาทั้ง ๓ อย่างนั้น เป็นของไม่เที่ยง; สิ่งใดเป็นของไม่เที่ยง, สิ่งนั้น ล้วนเป็นทุกข์' ดังนี้; เพราะรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ นันทิ จึงไม่เข้าไปตั้งอยู่ในเวทนาทั้งหลาย'. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะตอบแก่เขาอยางนี้".

ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! ปริยายที่เธอกล่าวนี้ ก็เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งเนื้อความนั้นแหละ แต่โดยย่อ ว่า "เวทนาใด ๆ ก็ตาม เวทนานั้นทั้งหมด ย่อมถึงการประชุมลงในความทุกข์" ดังนี้.

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๗๔

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๔๙/๑๑๑-๑๑๓ : คลิกดูพระสูตร

 

 

 


 

การรู้อริยสัจ

รีบด่วนกว่าการดับไฟที่กำลังไหม้อยู่บนศีรษะ

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อไฟลุกโพลงๆอยู่ที่เสื้อผ้าก็ดีที่ศีรษะก็ดี บุคคลนั้นควรจะทำอย่างไร ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อไฟลุกโพลง ๆ อยู่ที่เสื้อผ้าก็ดีที่ศีรษะก็ดี, เพื่อจะดับเสียซึ่งไฟ ที่เสื้อผ้าก็ดี ที่ศีรษะก็ดี สิ่งที่บุคคลนั้นพึงกระทำโดยยิ่งก็คือ ฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี สติ และสัมปชัญญะ (เพื่อจะดับไฟนั้นเสีย).

ภิกษุทั้งหลาย ! (แม้กระนั้นก็ดี) วิญญูชนจะไม่ใส่ใจ จะไม่เอาใจใส่กับเสื้อผ้าก็ดีศีรษะก็ดีที่ไฟกำลังลุกโพลงอยู่ ; แต่จะรู้สึกว่า สิ่งที่ควรกระทำโดยยิ่ง ก็คือฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี (ขะมักเขม้น) อัปปฏิวานี (ไม่ถอยหลัง) สติ และสัมปชัญญะ เพื่อรู้เฉพาะตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจทั้งสี่ที่ตนยังไม่รู้เฉพาะ. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า ทุกข์เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ดังนี้.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๙๘

(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๓๕/๑๗๑๗. : คลิกดูพระสูตร

 


 

การรู้อริยสัจ ไม่เป็นสิ่งสุดวิสัย

ทั้งในอดีต อนาคต ปัจจุบัน

ล้วนมีการประกาศอริยสัจ ตามเป็นจริง

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต, สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ประกาศธรรมที่ตนรู้ดียิ่งแล้วตามเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกท่าน ประกาศแล้ว ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง, ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต, สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด จักประกาศธรรมที่ตนรู้ดียิ่งแล้วตามเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกท่าน จักประกาศซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง. ในกาลเป็นปัจจุบันนี้, สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ประกาศอยู่ซึ่งธรรมที่ตนรู้ดียิ่งแล้วตามเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกท่าน ย่อมประกาศอยู่ ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง. ความจริงอันประเสริฐสี่อย่างนั้นเหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์, เหตุให้เกิดทุกข์, ความดับไม่เหลือของทุกข์ และทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,” ดังนี้เถิด.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๗๒

(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๑๕/๑๖๕๙. : คลิกดูพระสูตร

 


 

มีบุคคลบวชแล้วรู้อริยสัจ ทั้งในอดีต - อนาคต - ปัจจุบัน

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต, กุลบุตรเหล่าใด ออกจากเรือนบวชแล้ว เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน ได้รู้พร้อมยิ่งแล้วตามเป็นจริง, กุลบุตรทั้งหมดนั้น ได้รู้พร้อมยิ่งแล้ว ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง. ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต, กุลบุตรเหล่าใด จักออกจากเรือนบวช เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน จักรู้พร้อมยิ่งตามเป็นจริง, กุลบุตรทั้งหมดนั้น ก็จักรู้พร้อมยิ่งแล้ว ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง. และในกาลเป็นปัจจุบันนี้, กุลบุตรเหล่าใด ออกจากเรือนบวชอยู่ เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน รู้พร้อมยิ่งอยู่ตามเป็นจริง, กุลบุตรทั้งหมดนั้น ก็รู้พร้อมยิ่งอยู่ ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง. ความจริงอันประเสริฐสี่อย่างนั้น เหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์, เหตุให้เกิดทุกข์, ความดับไม่เหลือของทุกข์ และทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า นี้เป็นทุกข, นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข, นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,” ดังนี้เถิด.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๗๓

(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๑๔/๑๖๕๗. : คลิกดูพระสูตร

 


 

ทั้งอดีต-อนาคต-ปัจจุบัน ล้วนแต่มีการรู้อริยสัจ

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลทั้งหลายเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตาม ใน กาลยืดยาวฝ่ายอดีต ได้รู้พร้อมเฉพาะแล้วตามความเป็นจริง, บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้รู้พร้อมเฉพาะแล้วตามความเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลทั้งหลายเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ใน กาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักรู้พร้อมเฉพาะตามความเป็นจริง, บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด ก็จักรู้พร้อมเฉพาะตามความเป็นจริง ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลทั้งหลายเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ใน กาลนี้ รู้พร้อมเฉพาะตามความเป็นจริงอยู่, บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด ก็รู้พร้อมเฉพาะตามความเป็นจริงอยู่ ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง เหล่าไหนเล่า ? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐเรื่องทุกข์, ความจริงอันประเสริฐเรื่องเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, ความจริงอันประเสริฐเรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และความจริงอันประเสริฐเรื่องทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรม อันเป็นเครื่องทำให้รู้ว่า ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,” ดังนี้.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๗๓

(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๑๕/๑๖๕๘. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 
Today90
Yesterday366
This week90
This month456
Total2507761

Who Is Online

6
Online