การเจริญเมตตา ต่างจากการเจริญอนิจจสัญญา อย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษมีทรัพย์ มีโภคสมบัติ จะพึงเดินทางไกลกันดาร หาอาหาร ได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุถึง หมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด. ดูกรวาเสฏฐะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณา เห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้น จากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล. เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์ แล้ว ย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปิติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อม ตั้งมั่น เธอมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าในทุกสถาน ด้วยใจ ประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อยู่ คนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง พึงยังบุคคลให้รู้แจ้งทั้งสี่ทิศ โดยไม่ยากเลย ฉันใด กรรมที่ทำพอประมาณ อันใดในเมตตาเจโตวิมุตติ ที่บุคคลอบรมแล้วอย่างนี้ กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาพจร และอรูปาพจรนั้นฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรวาเสฏฐะ แม้นี้แล ก็เป็นทางเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหม. (ภาษาไทย) สี. ที. ๙ / ๓๘๑ / ๓๘๓. : คลิกดูพระสูตร
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาไม่เที่ยง... สัญญาไม่เที่ยง... สังขารไม่เที่ยง... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญาแม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ หยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี. (ภาษาไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗ / ๒๐-๒๑ / ๓๙-๔๓. : คลิกดูพระสูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอด ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใด มีอยู่ในเมตตาฌานนั้น บุคคลนั้นพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของทนได้ยากเป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็นของต้องทำลายไป เป็นของว่างเปล่าเป็นของไม่ใช่ตน บุคคลนั้น เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุทธาวาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอุบัตินี้แลไม่ทั่วไปด้วยปุถุชน ฯ อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยกรุณา ... อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยมุทิตา ... อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ ทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใด มีอยู่ในอุเบกขาฌานนั้น บุคคลนั้นพิจารณาเห็นธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นของทนได้ยากเป็นของเบียดเบียน เป็นของไม่เชื่อฟัง เป็นของต้องทำลายไป เป็นของว่างเปล่าเป็นของไม่ใช่ตน บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่าสุทธาวาส ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอุบัตินี้แลไม่ทั่วไปด้วยปุถุชน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก. (ภาษาไทย) จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๒๘/๑๒๕. : คลิกดูพระสูตร