Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

ไม่มีมา ไม่มีไป ไม่มีเกิด ไม่มีดับ หมายความว่าอย่างไร

User Rating:  / 3
PoorBest 

 

วิดีโอ

ชมรมคนรู้ใจ วันที่  4 ม.ค.  2555
 
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4mp3

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

นิสสิตัสสะ จะลิตัง

ความหวั่นไหว ย่อมมี แก่บุคคล ผู้อันตัณหาและทิฏฐิ อาศัยแล้ว

อะนิสสิตัสสะ จะลิตัง นัตถิ

ความหวั่นไหว ย่อมไม่มี แก่บุคคล ผู้อันตัณหาและทิฏฐิ ไม่อาศัยแล้ว

จะลิเต อะสะติ ปสสัทธิ

เมื่อความหวั่นไหวไมมี ปัสสัทธิ ย่อมมี

ปสสัทธิยา สะติ นะติ นะ โหติ

เมื่อปัสสัทธิมี ความน้อมไป ย่อมไม่มี

นะติยา อะสะติ อาคะติคะติ นะ โหติ

เมื่อความน้อมไปไม่มี การมาและการไปย่อมไม่มี

อาคะติคะติยา อะสะติ จุตูปะปาโต นะ โหติ

เมื่อการมาและการไปไม่มี การเคลื่อน และการเกิดขึ้น ย่อมไม่มี

จุตูปะปาเต อะสะติ เนวิธะ นะ หุรัง นะ อุภะยะมันตะเร

เมื่อการเคลื่อนและการเกิดขึ้นไม่มี อะไรๆ ก็ ไม่มี ในโลกนี้ ไม่มี ในโลกอื่น

ไม่มีในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง

เอเสวันโต ทุกขัสสะ 

นั่นแหละ คือ ที่สุดแห่งทุกข ละ

สาธยายธรรม หน้า ๔๔

(ไทย) อุ . ขุ . ๒๕/๑๔๔/๑๖๑: คลิกดูพระสูตร

(บาลี) อุ . ขุ . ๒๕/๒๐๗/๑๖๑คลิกดูพระสูตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ที่เรียกกันว่า สัตว์ สัตว์ ดังนี้,

อันว่าสัตว์มีได้ ด้วยเหตุเพียงไรเล่า พระเจ้าข้า !

ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ราคะ (ความกำหนัด)

นันทิ (ความเพลิน) ตัณหา (ความอยาก) ใดๆ มีอยู่ในรูป

เพราะการติดแล้ว ข้องแล้ว ในรูปนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัตว์” (ผู้ข้องติดในขันธ์ทั้ง ๕) ดังนี้.

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในเวทนา (ความรู้สึกสุข ทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์)

เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในเวทนานั้น

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัตว์ดังนี้.

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในสัญญา (ความหมายรู้)

เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในสัญญานั้น

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัตว์ดังนี้.

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในสังขารทั้งหลาย (ความปรุงแต่ง)

เพราะการติดแล้วข้องแล้ว ในสังขารทั้งหลายนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัตว์ ดังนี้.

ราธะ ! ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา ใดๆ มีอยู่ในวิญญาณ

เพราะการติดแล้ว ข้องแล้วในวิญญาณนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัตว์ดังนี้แล.

พุทธวจน ฉบับ ๑๑ ภพภูมิ ข้อ ๙ หน้า ๒๓

(ไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๙๑/๓๖๗.: คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗.: คลิกดูพระสูตร

 

อานนท์ ! ก็คำนี้ว่านามรูปมี เพราะปัจจัย คือวิญญาณดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.

อานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า

นามรูปมี เพราะปัจจัยคือวิญญาณ”.

อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณจักไม่ก้าวลงในท้องแห่งมารดาแล้วไซร้;

นามรูปจักปรุงตัวขึ้นมาในท้องแห่งมารดาได้ไหม ?

 

ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”.

อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณก้าวลงในท้องแห่งมารดาแล้ว จักสลายลงเสียแล้วไซร้;

นามรูปจักบังเกิดขึ้น เพื่อความเป็นอย่างนี้ได้ไหม ?

 

ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”.

อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณของเด็กอ่อน ที่เป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม จักขาดลงเสียแล้วไซร้;

นามรูป จักถึงซึ่งความเจริญ งอกงาม ความไพบูลย์บ้างหรือ ?

 

ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”.

อานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละ คือเหตุ, นั่นแหละคือนิทาน, นั่นแหละคือสมุทัย,

นั่นแหละคือปัจจัย ของนามรูป;  นั้นคือ วิญญาณ.

อานนท์ ! ก็คำนี้ว่าวิญญาณมี เพราะปัจจัย คือนามรูปดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.

อานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า

วิญญาณมี เพราะปัจจัยคือนามรูป”.

อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณ จักไม่ได้มีที่ตั้ง ที่อาศัยในนามรูป แล้วไซร้;

ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหม ?

 

ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”.

อานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ, นั่นแหละคือนิทาน,

นั่นแหละคือสมุทัย, นั่นแหละคือปัจจัยของวิญญาณ; นั่นคือ นามรูป.

อานนท์ ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้สัตว์โลก จึงเกิดบ้าง จึงแก่บ้าง จึงตายบ้าง จึงจุติบ้าง จึงอุบัติบ้าง :

คลองแห่งการเรียก (อธิวจน) ก็มีเพียงเท่านี้,

คลองแห่งการพูดจา (นิรุตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้,

คลองแห่งการบัญญัติ (ปญฺญตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้,

เรื่องที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา (ปญฺญาวจร) ก็มีเพียงเท่านี้,

ความเวียนว่ายในวัฏฏะ ก็มีเพียงเท่านี้ :

นามรูปพร้อมทั้งวิญญาณตั้งอยู่เพื่อการบัญญัติซึ่งความเป็นอย่างนี้

(ของนามรูปกับวิญญาณ นั่นเอง).

พุทธวจน ฉบับ ๙ ปฐมธรรม ข้อ ๓ หน้า ๖

(ไทย) มหา. ที. ๑๐/๕๑/๕๘. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) มหา. ที. ๑๐/๖๗/๕๘. : คลิกดูพระสูตร

 

วัจฉะ ! เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้นสำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมีอุปาทานอยู่ (สอุปาทานสฺส)

ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน

วัจฉะ ! เปรียบเหมือน ไฟที่มีเชื้อ ย่อมโพลงขึ้นได้ (อคฺคิ สอุปาทาโน ชลติ) ที่ไม่มีเชื้อ ก็โพลงขึ้นไม่ได้อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น

วัจฉะ ! เราย่อมบัญญัติความบังเกิดขึ้นสำหรับสัตว์ผู้ที่ยังมีอุปาทานอยู่ไม่ใช่สำหรับสัตว์ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน

 

พระโคดมผู้เจริญ !

ถ้าสมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกล,

สมัยนั้น พระโคดมย่อมบัญญัติซึ่งอะไรว่าเป็นเชื้อแก่เปลวไฟนั้น  ถ้าถือว่ามันยังมีเชื้ออยู่ ?”

วัจฉะ ! สมัยใด เปลวไฟ ถูกลมพัดหลุดปลิวไปไกลเราย่อมบัญญัติเปลวไฟนั้น ว่ามีลมนั่นแหละเป็นเชื้อ

วัจฉะ ! เพราะว่า สมัยนั้น ลมย่อมเป็นเชื้อของเปลวไฟนั้น.

 

พระโคดมผู้เจริญ !

ถ้าสมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่น,

สมัยนั้น พระโคดมย่อมบัญญัติซึ่งอะไร ว่าเป็นเชื้อแก่สัตว์นั้น  ถ้าถือว่ามันยังมีเชื้ออยู่ ?”

วัจฉะ ! สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้  และยังไม่บังเกิดขึ้นด้วยกายอื่น

เรากล่าว สัตว์นี้ ว่า มีตัณหานั่นแหละเป็นเชื้อ

เพราะว่า สมัยนั้น ตัณหาย่อมเป็นเชื้อของสัตว์นั้น แล.

 

พุทธวจน ฉบับ ๘ อินทรียสังวร (ตามดู ! ไม่ตามไป...) ข้อ ๑๐ หน้า ๓๗

พุทธวจน ภพภูมิ  หน้า ๒๕.

(ไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๓๙๘/๘๐๐.: คลิกดูพระสูตร

(บาลี) สฬา. สํ. ๑๘/๔๘๕/๘๐๐.คลิกดูพระสูตร

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าบุคคลย่อมคิด ถึงสิ่งใดอยู่ (เจเตติ) ย่อมดำริ ถึงสิ่งใดอยู่ (ปกปฺเปติ)

และย่อมมีใจฝังลงไป ในสิ่งใดอยู่ (อนุเสติ) (อารมฺมณเมตํ โหติ วิญฺญาณสฺส ฐิติยา)

สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ(อารมฺมเณ สติ ปติฏฺฐา วิญฺญาณสฺส โหติ)

เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี(ตสฺมึ ปติฏฺฐิเต วิญฺญาเณ วิรูเฬฺห นติ โหติ) เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, ย่อมมีการน้อมไป(นติยา สติ อาคติคติ โหติ) เมื่อมีการน้อมไป, ย่อมมีการไปการมา(อาคติคติยา สติ จุตูปปาโต โหติ)

เมื่อมีการไปการมา, ย่อมมีการเคลื่อนการบังเกิด

เมื่อมีการเคลื่อนการบังเกิด, ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะฯ จึงเกิดขึ้นครบถ้วน

ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใดแต่เขายังมีใจปักลงไปในสิ่งใดอยู่

สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ.

เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี

เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, ย่อมมีการน้อมไป

เมื่อมีการน้อมไป, ย่อมมีการไปการมา

เมื่อมีการไปการมา, ย่อมมีการเคลื่อนการบังเกิด

เมื่อมีการเคลื่อนการบังเกิด, ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะฯ จึงเกิดขึ้นครบถ้วน

ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

 

พุทธวจน ฉบับ ๘ อินทรียสังวร (ตามดู ! ไม่ตามไป...) ข้อ ๑๒ หน้า ๔๑

(ไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๖๕/๑๔๙. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) นิทาน. สํ. ๑๖/๘๐/๑๔๙. : คลิกดูพระสูตร

 

ราธะ ! ความพอใจ (ฉันทะ) ก็ดี ความกำหนัด (ราคะ) ก็ดี

ความเพลิน (นันทิ) ก็ดี ความอยาก (ตัณหา) ก็ดี

มีอยู่ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย ในวิญญาณ ใดๆ

พวกเธอทั้งหลาย จงละกิเลสนั้นๆ เสีย.

ด้วยการทำอย่างนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย

วิญญาณนั้นๆ จักเป็นสิ่งที่พวกเธอละได้แล้วเป็นสิ่งที่มีมูลรากอันตัดเสียแล้ว

ทำให้เหมือนตาลยอดเน่า ทำให้มีอยู่ไม่ได้ทำให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป.

ราธะ ! ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดีความเพลินก็ดี ความอยากก็ดี กิเลสเป็นเหตุให้เข้าไปสู่ภพ (อุปายะ) ก็ดี

และความยึดมั่น (อุปาทาน) ก็ดี อันเป็นเครื่องตั้งทับ เครื่องเข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตมีอยู่ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ใดๆ

พวกเธอทั้งหลายจงละกิเลสนั้นๆเสีย

ด้วยการทำอย่างนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ นั้นๆ

จักเป็นสิ่งที่พวกเธอละได้แล้วเป็นสิ่งที่มีมูลรากอันตัดเสียแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดเน่า

ทำให้มีอยู่ไม่ได้ ทำให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป.

 

พุทธวจน ฉบับ ๑๑ ภพภูมิ ข้อ ๑๓๐ หน้า ๔๖๑

(ไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๙๕-๑๙๖/๓๗๕-๓๗๖.: คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๖-๒๓๗/๓๗๕-๓๗๖.คลิกดูพระสูตร

 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ที่เรียกว่าสัตว์ สัตว์ดังนี้,

อันว่าสัตว์มีได้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า !

ราธะ ! ความพอใจอันใด ราคะอันใด นันทิอันใด ตัณหาอันใด

มีอยู่ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ

เพราะการติดแล้ว ข้องแล้ว ในสิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าสัตว์ดังนี้.

ราธะ ! เปรียบเหมือนพวกกุมารน้อยๆ หรือกุมารีน้อยๆ เล่นเรือนน้อยๆ ที่ทำด้วยดินอยู่

ตราบใดเขายังมีราคะ มีฉันทะ มีความรัก มีความกระหาย มีความเร่าร้อน และมีตัณหา ในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ตราบนั้น พวกเด็กน้อยนั้นๆ ย่อมอาลัยเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น

ย่อมอยากเล่น ย่อมอยากมีเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น

ย่อมยึดถือเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้น ว่าเป็นของเรา ดังนี้.

ราธะ ! แต่เมื่อใดแล พวกกุมารน้อยๆ หรือกุมารีน้อยๆ เหล่านั้น ปราศจากราคะแล้ว ปราศจากฉันทะแล้วปราศจากความรักแล้ว ปราศจากความเร่าร้อนแล้ว

ปราศจากตัณหาแล้วในเรือนน้อยที่ทำด้วยดินเหล่านั้นในกาลนั้น พวกเขาย่อมทำเรือนน้อยๆ ที่ทำด้วยดินเหล่านั้นให้กระจัดกระจายเรี่ยรายเกลื่อนกล่นไป กระทำให้จบการเล่นเสีย ด้วยมือและเท้าทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด.

ราธะ ! อุปไมยก็ฉันนั้น คือ :- แม้พวกเธอทั้งหลายจงเรี่ยรายกระจายออก

ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณจงขจัดเสียให้ถูกวิธี จงทำให้แหลกลาญโดยถูกวิธี

จงทำให้จบการเล่นให้ถูกวิธีจงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหาเถิด.

ราธะ ! เพราะว่า ความสิ้นไปแห่งตัณหานั้นคือ นิพพาน ดังนี้แล.

พุทธวจน ฉบับ ๑๑ ภพภูมิ ข้อ ๑๒๓ หน้า ๔๔๔

(ไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๙๑/๓๖๗: คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๓๒/๓๖๗คลิกดูพระสูตร

 

ภิกษุทั้งหลาย! ผู้ใด ไม่เพลิดเพลินอยู่ในรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ    

ผู้นั้น   เท่ากับไม่เพลิดเพลินอยู่   ในสิ่งที่เป็นทุกข์.

เรากล่าวว่า ผู้ใด   ไม่เพลิดเพลินอยู่   ในสิ่งที่เป็นทุกข์,

ผู้นั้น   ย่อมหลุดพ้นไปได้จากทุกข์”  ดังนี้.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น ๔๒๔

(ไทย) ขนฺธ. สํ ๑๗/๓๐/๖๕ : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ขนฺธ. สํ ๑๗/๓๙/๖๕ : คลิกดูพระสูตร

ภิกษุทั้งหลาย !

ความดับ ความเข้า ไปสงบรำงับ ความตั้งอยู่ไม่ได้ของรูป

ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร และของวิญญาณ ใดๆ

อันนั้นแหละเป็นความดับของทุกข์

อันนั้นแหละเป็นความเข้าไปสงบรำงับของสิ่งซึ่งมีปกติเสียบแทงทั้งหลาย

อันนั้นแหละเป็นความตั้งอยู่ไม่ได้ของชราและมรณะแล.

... ... ... ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมนี้ เป็นธรรมที่สมควรแก่ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.

คือ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มากอยู่ด้วยความรู้สึกเบื่อหน่าย

ในรูป เป็นผู้มากอยู่ด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายในเวทนา

เป็นผู้มากอยู่ด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายในสัญญา

เป็นผู้มากอยู่ด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายในสังขาร

เป็นผู้มากอยู่ด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายในวิญญาณ.

ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มากอยู่ด้วยความรู้สึกเบื่อหน่าย

ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ

ย่อมรู้รอบซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ

เมื่อเขารู้รอบอยู่ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ

ย่อมหลุดพ้นจากรูป จากเวทนา จากสัญญา จากสังขาร จากวิญญาณ

ย่อมพ้นได้จากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก

ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ

เราตถาคตกล่าวว่า เขาย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ ดังนี้.

... ... ... ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมนี้ เป็นธรรมที่สมควรแก่ภิกษุ

ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.

คือ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงในรูปอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงในเวทนาอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงในสัญญาอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารอยู่เป็น ประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงในวิญญาณอยู่เป็นประจำ.

ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงในรูป

ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ อยู่เป็น ประจำ

ย่อมรู้รอบซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ

เมื่อเขารู้รอบอยู่ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ

ย่อมหลุดพ้นจากรูป จากเวทนา จากสัญญา จากสังขาร จากวิญญาณ

ย่อมพ้นได้จากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก

ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ

เราตถาคตกล่าวว่า เขาย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ ดังนี้.

... ... ... ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมนี้ เป็นธรรมที่สมควรแก่ภิกษุ

ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.

คือ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ตามเห็นความเป็นทุกข์ในรูปอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความเป็นทุกข์ในเวทนาอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความเป็นทุกข์ในสัญญาอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความเป็นทุกข์ในสังขารอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความเป็นทุกข์ในวิญญาณอยู่เป็นประจำ

ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้ตามเห็นความเป็นทุกข์ ในรูป

ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ อยู่เป็นประจำ

ย่อมรู้รอบซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ

เมื่อเขารู้รอบอยู่ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ

ย่อมหลุดพ้นจากรูป จากเวทนา จากสัญญา จากสังขาร จากวิญญาณ

ย่อมพ้นได้จากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก

ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ

เราตถาคตกล่าวว่า เขาย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ ดังนี้.

... ... ... ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมนี้ เป็นธรรมที่สมควรแก่ภิกษุ

ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.

คือ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ตามเห็นความเป็นอนัตตาในรูปอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความเป็นอนัตตาในเวทนาอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความเป็นอนัตตาในสัญญาอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความเป็นอนัตตาในสังขารอยู่เป็นประจำ

เป็นผู้ตามเห็นความเป็นอนัตตาในวิญญาณอยู่เป็นประจำ.

ภิกษุนั้น เมื่อตามเห็นความเป็นอนัตตา ในรูป

ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ อยู่เป็นประจำ

ย่อมรู้รอบ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ

เมื่อเขารู้รอบอยู่ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ

ย่อมหลุดพ้นจากรูป จากเวทนา จากสัญญา จากสังขาร จากวิญญาณ

ย่อมพ้นได้จากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก

ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ

เราตถาคตกล่าวว่า เขาย่อมหลุดพ้น จากทุกข์ ดังนี้.

พุทธวจน ฉบับ ๑๑ ภพภูมิ ข้อ ๑๒๘ หน้า ๔๕๕

(ไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๙/๘๓-๘๖: คลิกดูพระสูตร

 

(บาลี) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๔๙/๘๓-๘๖: คลิกดูพระสูตร

 

 

ภิกษุทั้งหลาย ! รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง

สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์

สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นนั้น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา :

เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบตรงตามที่เป็นจริง อย่างนี้ ด้วยประการดังนี้.

(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทุกประการ)

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลเห็นข้อนั้น

ด้วยปัญญาโดยชอบตรงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้,

ปุพพันตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นขันธ์ส่วนอดีต) ทั้งหลาย ย่อมไม่มี;

เมื่อปุพพันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี,

อปรันตานุทิฏฐิทั้งหลาย (ความตามเห็นขันธ์ส่วนอนาคต) ย่อมไม่มี;

เมื่ออปรันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี,

ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้า ย่อมไม่มี;

เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี,

จิตย่อมจางคลายกำหนัด ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย ในวิญญาณ

ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น;

เพราะจิตหลุดพ้นแล้วจิตจึงดำรงอยู่ (ตามสภาพของจิต);

เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่ จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี;

เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง;

เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง ย่อมปรินิพพาน (ดับรอบ) เฉพาะตนนั่นเทียว

เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า

ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว,

กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว,

กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก”  ดังนี้.

พุทธวจน ฉบับ ๙ ปฐมธรรม ข้อ ๑๑๖ หน้า ๓๐๖

(ไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๔๕/๙๓. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๕๖/๙๓. : คลิกดูพระสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มีสังวรนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปด้วยตา,

ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น,

สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ;

ก็ไม่สยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก ไม่เคียดแค้นในอารมณ์อันไม่น่ารัก

เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ มีจิตหาประมาณไม่ได้,

ย่อมรู้ตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ

อันเป็นที่ดับแห่งบาปอกุศลที่เกิดแล้วแก่เขานั้นโดยสิ้นเชิง.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด

อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน

มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ

เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง,

จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอก

และจับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ

ครั้นแล้วนำไปผูกไว้กับเสาเขื่อนหรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง.

ภิกษุทั้งหลาย ! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างกัน

ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยและที่เที่ยวของตนๆ :

งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ,

สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า และลิงก็จะไปป่า.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น

มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว, ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า,

อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง. ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุรูปใด ได้อบรมกระทำให้มากในกายคตาสติแล้ว

ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ,

รูปที่ ไม่น่าพอใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง,

เสียงที่ ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม,

กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่น่าชอบใจ,

รสที่ ไม่น่าชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่น่ายั่วยวนใจ,

สัมผัส ที่ไม่น่ายั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่น่าถูกใจ,

ธรรมารมณ์ ที่ไม่น่าถูกใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มีสังวร เป็นอย่างนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! คำว่าเสาเขื่อนหรือเสาหลักนี้

เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่งกายคตาสติ

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้

พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า

กายคตาสติของเราทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรมกระทำให้มาก

กระทำให้เป็นยาน เครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้

เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดีดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้ แล.

พุทธวจน ฉบับ ๑ ตามรอยธรรม ข้อ ๓๑ หน้า ๗๕

(ไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๒๑๔/๓๔๙. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๗/๓๔๙. : คลิกดูพระสูตร

 

ลักษณะของผู้ไม่ตั้งจิตอยู่กับกาย

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน

มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคงคือ

เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง,

จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอก, จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ

แล้วผูกรวมเข้าด้วยกันเป็นปมเดียวในท่ามกลาง ปล่อยแล้ว.

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นทั้งหกชนิด มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน

เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ :

งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ,

สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, ลิงก็จะไปป่า

ครั้นเหนื่อยล้ากันทั้งหกสัตว์แล้ว สัตว์ใดมีกำลังกว่า สัตว์นอกนั้นก็ต้องถูกลากติดตามไปตามอำนาจของสัตว์นั้น ข้อนี้ฉันใด;

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุใด ไม่อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว

ตา ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ,

รูปที่ไม่น่าพอใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

หู ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง,

เสียงที่ไม่น่าฟังก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

จมูก ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม,

กลิ่นที่ไม่น่าสูดดมก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

ลิ้น ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ,

รส ที่ไม่ชอบใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

กาย ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ,

สัมผัส ที่ไม่ยั่วยวนใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

ใจ ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ,

ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

ลักษณะของผู้ตั้งจิตอยู่กับกาย

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน

มาผูกรวมกัน ด้วยเชือกอันมั่นคง คือ

เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง,

จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอกและจับลิงมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ

ครั้นแล้วนำไปผูกไว้กับเสาเขื่อนหรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง.

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกันเพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ 

งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ,

สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, ลิงก็จะไปป่า.

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว;

ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่าอยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้ฉันใด;

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุใด ได้อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว

ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ,

รูป ที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง,

เสียง ที่ไม่น่าฟังก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม,

กลิ่น ที่ไม่น่าสูดดมก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ,

รส ที่ไม่ชอบใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ,

สัมผัสจ ที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

ใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ,

ธรรมารมณ์ ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;

ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

 

ภิกษุทั้งหลาย ! คำว่าเสาเขื่อน หรือ เสาหลักนี้ เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่ง กายคตาสติ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า

กายคตาสติ ของเราทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้

เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

พุทธวจน ฉบับ ๙ ปฐมธรรม ข้อ ๘๐ หน้า ๒๑๓

(ไทย)สฬา. สํ. ๑๘/๒๑๓/๓๔๘,๓๕๐:คลิกดูพระสูตร

(บาลี)สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๖/๓๔๘,๓๕๐:คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

 

 

Today1294
Yesterday1254
This week6099
This month16117
Total2523422

Who Is Online

48
Online