เมื่อสภาพเดิมแท้ของเราเป็นวิมุตติอยู่แล้ว จะเกิดอวิชชาขึ้นได้อย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุ ท. ! ที่สุดในเบื้องต้นของอวิชชา ย่อมไม่ปรากฏ ; ก่อนแต่นี้ อวิชชามิได้มี ;
แต่ว่า อวิชชาเพิ่งมีต่อภายหลัง.
ภิกษุ ท. ! คำกล่าวอย่างนี้แหละ เป็นคำที่ใครๆควรกล่าว และ
ควรกล่าวด้วยว่า “อวิชชาย่อมปรากฏเพราะมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่า ถึงแม้อวิชชานั้น ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่.
ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของอวิชชา ? คำตอบพึงมีว่า “นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการ เป็นอาหารของอวิชชา” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่า ถึงแม้นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของนิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการ ? คำตอบพึงมีว่า “ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่า ถึงแม้ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ ก็เป็นธรรมชาติมีอาหาร หาใช่เป็นธรรมชาติที่ไม่มีอาหารไม่. ก็อะไรเล่า เป็นอาหารของทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการ ? คำตอบพึงมีว่า “การไม่สำรวมอินทรีย์” ดังนี้.
....ฯลฯ.... ....ฯลฯ....
การไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการให้บริบูรณ์ ;
ทุจริตทั้งหลาย ๓ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำนิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการให้บริบูรณ์ ;
นิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการบริบูรณ์แล้ว ย่อมทำอวิชชาให้บริบูรณ์.
ภิกษุ ท. ! อาหารแห่งอวิชชานี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ และบริบูรณ์แล้วด้วยอาการอย่างนี้.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑หน้าที่ ๓๓๓
(ไทย) องฺ.ทสก. ๒๔/๑๐๓/๖๑: คลิกดูพระสูตร
(บาลี) ทสก. อํ. ๒๔/๑๒๐/๖๑: คลิกดูพระสูตร
สาวกสูตร
[๔๓๓] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นภิกษุเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากเท่าไรหนอ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้วล่วงไปแล้ว มีมากมิใช่ง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ ๑๐๐ กัปเท่านี้ ๑,๐๐๐ กัป หรือว่าเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ฯ
ภิ. ก็พระองค์อาจจะอุปมาได้ไหม พระเจ้าข้า ฯ
[๔๓๔] พ. อาจอุปมาได้ ภิกษุทั้งหลาย แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสาวก ๔ รูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิต ๑๐๐ ปีหากว่าท่านเหล่านั้นพึงระลึกถอยหลังไปได้วันละแสนกัป กัปที่ท่านเหล่านั้นระลึกไม่ถึงพึงยังมีอยู่อีก สาวก ๔ รูปของเราผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิต ๑๐๐ ปี พึงทำกาละโดยล่วงไป ๑๐๐ ปีๆ โดยแท้แล กัปที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีจำนวนมากอย่างนี้แล มิใช่ง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ร้อยกัป เท่านี้พันกัป หรือว่าเท่านี้แสนกัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
(ไทย) สํ.นิ. ๑๖/๑๘๑/๔๓๓: คลิกดูพระสูตร
(บาลี) สํ.นิ. ๑๖/๒๑๖/๔๓๓: คลิกดูพระสูตร