ผู้เริ่มปฏิบัติใหม่ มีวิธีเริ่มต้นปฏิบัติแบบง่ายๆ อย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งรูป. เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งรูป, ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในรูป, ความเพลินนั้นคืออุปาทาน... ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนา. เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งเวทนา, ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในเวทนา, ความเพลินนั้นคืออุปาทาน... ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งสัญญา. เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งสัญญา ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในสัญญา, ความเพลินนั้นคืออุปาทาน... ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งสังขาร. เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งสังขาร ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น ความเพลินใด ในสังขาร, ความเพลินนั้นคืออุปาทาน... ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้นย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ ย่อมเมาหมกอยู่ ซึ่งวิญญาณ. เมื่อภิกษุนั้นเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งวิญญาณ ความเพลิน (นันทิ) ย่อมเกิดขึ้น. ความเพลินใด ในวิญญาณ, ความเพลินนั้นคืออุปาทาน เพราะอุปาทานของภิกษุนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ โสกะปริเทวะอุปายาสทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วน ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. อินทรียสังวร (ตามดู ! ไม่ตามไป...) หน้า 45-47 (ภาษาไทย): ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๓ /๒๘. คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อมไป โดยอาการอย่างนั้นๆ : ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง กามวิตก มาก ก็เป็นอันว่า ละเนกขัมมวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง กามวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในกาม ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง พ๎ยาปาทวิตก มาก ก็เป็นอันว่า ละอัพ๎ยาปาทวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง พ๎ยาปาทวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการพยาบาท ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง วิหิงสาวิตก มาก ก็เป็นอันว่า ละอวิหิงสาวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง วิหิงสาวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการทำสัตว์ให้ลำบาก ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนในคราวฤดูสารท คือเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน คนเลี้ยงโคต้องเลี้ยงฝูงโคในที่แคบเพราะเต็มไปด้วยข้าวกล้า เขาต้องตีต้อนห้ามกันฝูงโคจากข้าวกล้านั้นด้วยท่อนไม้ เพราะเขาเห็นโทษ คือ การถูกประหาร การถูกจับกุม การถูกปรับไหม การติเตียน เพราะมีข้าวกล้านั้นเป็นเหตุ, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ถึงเราก็ฉันนั้น ได้เห็นแล้วซึ่งโทษความเลวทรามเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย, เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ความเป็นฝักฝ่ายของความผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอย่างนี้ เนกขัมมวิตก ย่อมเกิดขึ้น ... อัพ๎ยาปาทวิตก ย่อมเกิดขึ้น อวิหิงสาวิตก ย่อมเกิดขึ้น. เราย่อมรู้แจ้งชัดว่า อวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ก็อวิหิงสาวิตกนั้น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย แต่เป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน. แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดคืน ก็มองไม่เห็นภัยอันจะเกิดขึ้น เพราะอวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้น ตลอดวันหรือตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ก็มองไม่เห็นภัยอันจะเกิดขึ้นเพราะ อวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แต่ว่า เมื่อเราตรึกตามตรองตามนานเกินไปนัก กายก็เมื่อยล้า เมื่อกายเมื่อยล้า จิตก็อ่อนเพลีย, เมื่อจิตอ่อนเพลีย จิตก็ห่างจากสมาธิ, เพราะเหตุนั้น เราจึงดำรงจิตให้หยุดอยู่ในภายใน กระทำให้มีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นไว้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? เพราะเราประสงค์อยู่ว่าจิตของเราอย่าฟุ้งขึ้นเลย ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อมไปโดยอาการอย่างนั้นๆ ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง เนกขัมมวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละกามวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งเนกขัมมวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการออกจากกาม ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง อัพ๎ยาปาทวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละพ๎ยาปาทวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากในอัพ๎ยาปาทวิตก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่พยาบาท ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง อวิหิงสาวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละวิหิงสาวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมาก จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไป เพื่อความตรึกในการไม่ยังสัตว์ให้ลำบาก ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน ข้าวกล้าทั้งหมด เขาขนนำไปในบ้านเสร็จแล้ว คนเลี้ยงโคพึงเลี้ยงโคได้. เมื่อเขาไปพักใต้ร่มไม้ หรือไปกลางทุ่งแจ้งๆ พึงทำแต่ความกำหนดว่า นั่นฝูงโคดังนี้ (ก็พอแล้ว)ฉันนั้นเหมือนกัน. หนังสืออินทรียสังวร (ตามดู ! ไม่ตามไป...)บทที่ 34 หน้า94 (ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๑๖๐/๒๕๒. คลิกดูพระสูตร