พึงตามประกอบในธรรม เป็นเครื่องสงบแห่งจิตในภายใน หมายถึงอะไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือ โคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก : เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว, เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว ; เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น , เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น ; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”; เมื่อภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ ย่อมละความระลึกและความดำริอันอาศัยเรือนเสียได้.เพราะละความระลึกและความดำรินั้นได้ จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ในภายในนั่นเทียว. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้อย่างนี้ ภิกษุนั้นก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ. พุทธวจน ปฐมธรรม หน้า ๒๐๙. (ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๑๖๑/๒๙๔.: คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญ แล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่ออานาปานสติ อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอยู่อย่างนี้ ผลอานิสงส์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาผล ๒ ประการ เป็นสิ่งที่หวังได้; คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือว่าถ้ายังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็จักเป็น อนาคามี. พุทธวจน ปฐมธรรม หน้า ๒๐๓. (ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๒๐/๑๓๑๓.: คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ? ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว, เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว; เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”; ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าว ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ว่าเป็นกายอันหนึ่งๆ ในกายทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ” หายใจออก”; ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวการทำในใจเป็นอย่างดีต่อลมหายใจเข้า และ ลมหายใจออก ว่าเป็นเวทนาอันหนึ่งๆ ในเวทนาทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม เฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”; ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวอานาปานสติ ว่าเป็นสิ่งที่มีได้แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว ไม่มีสัมปชัญญะ. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัส ในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”; ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”; ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัส ในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา. ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้วทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้. พุทธวจน อานาปานสติ หน้า ๑๒. (ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๓๖/๑๓๘๒. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เมื่อเดินอยู่ ย่อมรู้ชัด ว่า “เราเดินอยู่”, เมื่อยืน ย่อมรู้ชัด ว่า “เรายืนอยู่”, เมื่อนั่ง ย่อมรู้ชัด ว่า “เรานั่งอยู่”, เมื่อนอน ย่อมรู้ชัด ว่า “เรานอนอยู่”; เธอ ตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ย่อมรู้ทั่วถึงกายนั้น ด้วยอาการอย่างนั้นๆ … ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุย่อมเป็น ผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการก้าวไปข้างหน้า ในการถอยกลับข้างหลัง. เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการแลดู ในการเหลียวดู. เป็นผู้มีปกติ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการคู้ ในการเหยียด (อวัยวะ). เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร. เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม. เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ. เป็นผู้มีปกติทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในการไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง. เมื่อภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ ย่อมละความระลึกและความดำริอันอาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความระลึกและความดำรินั้นได้ จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ในภายใน นั่นเทียว. ภิกษุทั้งหลาย ! แม้อย่างนี้ ภิกษุนั้นก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ … ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติ อันภิกษุรูปใด รูปหนึ่ง เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปในส่วนวิชชา ย่อมหยั่งลงใน ภายในของภิกษุนั้น เปรียบเหมือนมหาสมุทร อันผู้ใด ผู้หนึ่งถูกต้องด้วยใจแล้ว แม่น้ำน้อยสายใดสายหนึ่งซึ่งไหลไปสู่สมุทร ย่อมหยั่งลงในภายในของผู้นั้นฉะนั้น. (นอกจากนี้ยังได้ตรัสถึงการเจริญอสุภะ ตามที่มีปรากฏในมหาสติปัฏฐานสูตร -มหา. ที. ๑๐/๓๒๕-๓๒๘/๒๗๗-๒๘๘.) และการเจริญฌานทั้ง ๔ โดยตรัสว่าการกระทำเช่นนี้ ก็เป็นเจริญกายคตาสติเช่นกัน). พุทธวจน ปฐมธรรม หน้า ๒๑๑. (ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๑๖๒/๒๙๕-๒๙๖.: คลิกดูพระสูตร
อานนท์ ! ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ มีเท่าไร ? “มี ๕ อย่าง พระเจ้าข้า ! ” ดีละ ดีละ อานนท์ ! ถ้าอย่างนั้น เธอจงทรงจำ ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติที่ ๖ นี้ไว้ คือ ภิกษุในกรณีนี้ มีสติ ก้าวไป มีสติ ถอยกลับ มีสติ ยืนอยู่ มีสติ นั่งอยู่ มีสติ สำเร็จการนอนอยู่ มีสติ อธิษฐานการงาน อานนท์ ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ. พุทธวจน ปฐมธรรม หน้า ๖๘. (ภาษาไทย) ฉกฺก. อํ. ๒๒/๒๙๖/๓๐๐. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ เป็นส่วนแห่งวิชชา (ความรู้แจ้ง). ๒ อย่าง อะไรเล่า ? ๒ อย่าง คือ สมถะ และ วิปัสสนา ภิกษุทั้งหลาย ! สมถะ เมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? อบรมแล้ว จิตจะเจริญ จิตเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? เจริญแล้ว จะละราคะได้. ภิกษุทั้งหลาย ! วิปัสสนาเล่า เมื่อเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? เจริญแล้ว ปัญญาจะเจริญ ปัญญาเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ? เจริญแล้ว จะละอวิชชาได้ แล. พุทธวจน ปฐมธรรม หน้า ๑๙๗. (ภาษาไทย) ทุก. อํ. ๒๐/๕๗/๒๗๕. : คลิกดูพระสูตร
… ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณฐิติ ๔ อย่าง(รูป เวทนา สัญญา สังขาร) พึงเห็นว่า เหมือนกับ ดิน ภิกษุทั้งหลาย ! นันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความเพลิน) พึงเห็นว่า เหมือนกับ น้ำ ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย พึงเห็นว่า เหมือนกับ พืชสดทั้ง ๕ นั้น (พืชจากเหง้าหรือราก, พืชจากต้น, พืชจากตาหรือผล, พืชจากยอด, พืชจากเมล็ด) ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณซึ่งเข้าถือเอารูปตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็น ที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาเวทนาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์ มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาสัญญาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์ มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาสังขารตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า :- เราจักบัญญัติ ซึ่งการมา การไป การจุติ (การตาย) การอุบัติ(การเกิด) ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร ดังนี้นั้น นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย… พุทธวจน ภพภูมิ หน้า ๑๖. (ภาษาไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๕๔/๑๐๗. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือ เอาร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ นี้ โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า แต่จะเข้าไปยึดถือเอา จิต โดยความเป็นตนนั้น หาชอบไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า ร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ เมื่อดำรงอยู่ ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ แต่ว่า ตถาคต เรียกร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่ง มหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิต เป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ตลอดคืน ตลอดวัน … ภิกษุทั้งหลาย ! วานรเมื่อเที่ยวไปในป่าใหญ่ จับกิ่งไม้ ปล่อยกิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ต่อไป แม้ฉันใด ร่างกายอันเป็นที่ประชุม แห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ ที่ตถาคตเรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิต เป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ตลอดคืน ตลอดวัน ฉันนั้นแล … (ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๙๓/๒๓๑-๒๓๒. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า … (๑) เราพึงเป็นผู้สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน … แล้วแลอยู่ … (๒) เพราะวิตกวิจารระงับไป เราพึง เข้าถึง ทุติยฌาน … แล้วแลอยู่ …เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เข้าถึง ตติยฌาน … (๓) เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่ … (๔) เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะ ความดับไปแห่งโสมนัส และโทมนัส ในกาลก่อน เราพึงเข้าถึง จตุตถฌาน … แล้วแลอยู่ … (๕) เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาเสียโดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่ง ปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะการไม่กระทำในใจ ซึ่งนานัตตสัญญามีประการต่างๆ เราพึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ … แล้วแลอยู่ … (๖) เราพึงก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวงเสียแล้ว พึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ … แล้วแลอยู่ … (๗) เราพึงก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะเสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ … แล้วแลอยู่ … (๘) เราพึงก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะเสียโดยประการทั้งปวง เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วแลอยู่… (๙) เราพึงก้าวล่วงซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะเสียได้โดยประการทั้งปวง เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่. … ดังนี้แล้วไซร้ อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี. พุทธวจน อานาปานสติ หน้า ๖๔. (ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๒๔/๑๓๓๗-๑๓๔๕. : คลิกดูพระสูตร
วาเสฏฐะ ! นิวรณ์ ๕ อย่าง เหล่านี้ เรียกกันในอริยวินัย ว่า “เครื่องปิด” บ้าง ว่า “เครื่องกั้น” บ้าง ว่า “เครื่องคลุม” บ้าง ว่า “เครื่องร้อยรัด” บ้าง. ๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่างคือ กามฉันทนิวรณ์ พ๎ยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์. พุทธวจน อานาปานสติ หน้า ๑๓๓. (ภาษาไทย) สี. ที. ๙/๓๖๗/๓๗๘. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ๕ อย่าง เหล่านี้ ท่วมทับจิตแล้วทำปัญญาให้ถอยกำลัง มีอยู่. ๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่าง คือ: - ๑. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๒. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๓. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาซึมเซา) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๔. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญ) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง; ๕. นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา(ความลังเล, สงสัย) ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง. พุทธวจน อานาปานสติ หน้า ๑๓๐. (ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๕๖/๕๑. : คลิกดูพระสูตร