เสียงเป็นอุปสรรคหรือเป็นเสี้ยนหนามต่อการเข้าฌานที่ ๑ แต่ในฌานที่ ๑ เสียงกลับไม่เป็นอุปสรรค คืออย่างไร
แสดงธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่เสียง
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุ ท. ! ถูกแล้ว ถูกแล้ว ตามที่มหาสาวกเหล่านั้น เมื่อพยากรณ์ก็พยากรณ์โดยชอบ. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวฌานว่า มีเสียงเป็นเสี้ยนหนาม จริง. ภิกษุ ท. ! เสี้ยนหนาม ๑๐ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. สิบอย่างอย่างไรเล่า? สิบอย่าง คือ : ความยินดีในการระคนด้วยหมู่ เป็นเสี้ยนหนามแก่ ผู้ยินดีในปวิเวก; การตามประกอบในสุภนิมิต เป็นเสี้ยนหนามแก่ผู้ตามประกอบในอสุภนิมิต; การดูการเล่น เป็นเสี้ยนหนามแก่ ผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย; การเกี่ยวข้องกับมาตุคาม เป็นเสี้ยนหนามแก่ พรหมจรรย์; เสียง เป็นเสี้ยนหนามแก่ ปฐมฌาน; วิตกวิจาร เป็นเสี้ยนหนามแก่ ทุติยฌาน; ปีติ เป็นเสี้ยนหนามแก่ ตติยฌาน; อัสสาสะปัสสาสะ เป็นเสี้ยนหนามแก่ จตุตถฌาน; สัญญาและเวทนา เป็นเสี้ยนหนามแก่ สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ; ราคะ เป็นเสี้ยนหนาม โทสะ เป็นเสี้ยนหนาม. ภิกษุ ท. ! พวกเธอจงเป็นผู้ไม่มีเสี้ยนหนามอยู่เถิด. ภิกษุ ท. ! พวกเธอจงเป็นผู้หมดเสี้ยนหนามอยู่เถิด. ภิกษุ ท. ! พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีเสี้ยนหนามหมดเสี้ยนหนามแล. อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๓๖๐ (ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑๑๙/๗๒. : คลิกดูพระสูตร
[กรณีของปฐมฌาน] โปฏฐปาทะ ! เมื่อภิกษุนั้นมองเห็นนิวรณ์ทั้งห้าเหล่านี้ ที่ตนละได้แล้วอยู่ ปราโมทย์ย่อมเกิด; เมื่อปราโมทย์เกิด ปีติย่อมเกิด; กายของผู้มีใจปีติ ย่อมสงบรำงับ; ผู้มีกายสงบรำงับ ย่อมเสวยสุข; จิตของผู้มีสุข ย่อมตั้งมั่น. ภิกษุนั้น เพราะสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่หนึ่ง อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. สัญญาในกามอันมีในกาลก่อนของเธอนั้น ย่อมดับไป; สัจจสัญญาอันละเอียดในปีติและสุขที่เกิดแต่วิเวก ย่อมมีขึ้นในสมัยนั้น, เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียดในปีติและสุขที่เกิดแต่วิเวก ในสมัยนั้น. เพราะการศึกษาอย่างนี้สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น, สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไป. แม้นี้ ก็เป็นการศึกษา. [กรณีของทุติยฌาน] โปฏฐปาทะ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้จึงบรรลุ ฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งในภายใน นำให้เกิดสมาธิมีอารมณ์อันเดียว ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่. สัจจสัญญาอันละเอียดในปีติและสุขที่เกิดแต่วิเวก ที่มีในกาลก่อน ของเธอนั้นย่อมดับไป; สัจจสัญญาอันละเอียดในปีติและสุขที่เกิดแต่สมาธิ ย่อมมีขึ้นในสมัยนั้น, เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียดในปีติและสุขที่เกิดแต่สมาธิ ในสมัยนั้น. เพราะการศึกษาอย่างนี้ สัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น, สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมดับไป. แม้นี้ ก็เป็นการศึกษา. [กรณีของตติยฌาน] โปฏฐปาทะ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย จึงบรรลุ ฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ผู้ได้บรรลุฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข” ดังนี้ แล้วแลอยู่. สัจจสัญญาอันละเอียดในปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ที่มีในกาลก่อน ของเธอนั้น ย่อมดับไป; สัจจสัญญาอันละเอียดในอุเบกขาสุข ย่อมมีขึ้นในสมัยนั้น, เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียดในอุเบกขาสุข ในสมัยนั้น. เพราะการศึกษาอย่างนี้ สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้น, สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมดับไป. แม้นี้ ก็เป็นการศึกษา. [กรณีของจตุตถฌาน] โปฏฐปาทะ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะละสุขและละทุกข์เสียได้, เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, จึงบรรลุ ฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. สัจจสัญญาอันละเอียดในอุเปกขาสุข ที่มีในกาลก่อน ของเธอนั้นย่อมดับไป; สัจจสัญญาอันละเอียดในอทุกขมสุข ย่อมมีขึ้นในสมัยนั้น, เธอย่อมเป็นผู้มีสัจจสัญญาอันละเอียดในอทุกขมสุข ในสมัยนั้น. เพราะการศึกษาอย่างนี้ สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้น, สัญญาอย่างหนึ่ง ย่อมดับไป, แม้นี้ ก็เป็นการศึกษา. (ในกรณีแห่ง อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ และอากิญจัญญายตนะ ก็มีข้อความที่ตรัสไว้ทำนองเดียวกัน). อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๓๖๕ (ภาษาไทย) สี. ที. ๙/๒๕๔- ๒๖๗/๒๗๙ - ๒๘๒. : คลิกดูพระสูตร