ทรงมีหลักเกณฑ์การฝึกตามลำดับอย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ทรงมีหลักเกณฑ์การฝึกตามลำดับ
พราหมณ์ ! ในธรรมวินัยนี้ เราสามารถบัญญัติกฎเกณฑ์แห่งการศึกษาตาม ลำดับ การกระทำตามลำดับ และการปฏิบัติตามลำดับได้เหมือนกัน.
พราหมณ์ ! เปรียบเหมือนผู้ชำนาญการฝึกม้า ได้ม้าชนิดที่อาจฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมฝึกให้รู้จักการรับสวมบังเหียนก่อน แล้วจึงค่อยฝึกอย่างอื่นๆ ให้ยิ่งขึ้นไป ฉันใด;
พราหมณ์เอย ! ตถาคตครั้นได้บุรุษที่พอฝึกได้มาแล้ว
ในขั้นแรกย่อมแนะนำอย่างนี้ก่อนว่า
“มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยดีในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยแม้ในโทษที่เล็กน้อย จงสมาทานศึกษาในสิกขาบท ทั้งหลายเถิด” ดังนี้.
พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้น เป็นผู้มีศีล (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว
ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
“มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย : ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว จักไม่ถือเอาโดยนิมิต (คือรวบถือทั้งหมด ว่างามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี) จักไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ (คือแยกถือเอาแต่บางส่วน ว่าส่วนใดงามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี), บาปอกุศล กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตามอารมณ์ เพราะการไม่สำรวมจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ เราจักสำรวมอินทรีย์นั้นไว้ เป็นผู้รักษาสำรวมจักขุนทรีย์” ดังนี้.
(ในกรณี โสตินทรีย์คือหู ฆานินทรีย์คือจมูก ชิวหินทรีย์คือลิ้น กายินทรีย์คือกาย และมนินทรีย์คือใจ ก็มีข้อความนัยเดียวกัน).
พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้น เป็นผู้สำรวมอินทรีย์ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
“มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอยู่เสมอ จงพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉัน ไม่ฉันเพื่อเล่นเพื่อมัวเมา เพื่อประดับตกแต่ง, แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อป้องกันความลำบาก
เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์, โดยคิดว่า เราจักกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสีย แล้วไม่ทำเวทนาใหม่ (คืออิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น, ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหาร และความอยู่ผาสุกสำราญ จักมีแก่เรา” ดังนี้.
พราหมณ์ ! ในกาลใดภิกษุนั้น เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
“มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น(ไม่หลับ ไม่ง่วง ไม่มึนชา). จงชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากอาวรณิยธรรมทั้งหลาย ด้วยการเดิน การนั่ง ตลอดวันยันค่ำ ไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี.
ครั้นยามกลางแห่งราตรี สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ (คือตะแคงขวา เท้าเหลื่อมเท้า) มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น.
ครั้นถึงยามท้ายแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้หมดจดจากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน การนั่ง อีกต่อไป” ดังนี้.
พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว
ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
“มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง” ดังนี้.
พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้น เป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว
ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า
“มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าละเมาะ โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกห้วย ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง). ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า,
ละ อภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิต จากอภิชฌา;
ละ พยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณา มีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาท;
ละ ถีนมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจาก ถีนมิทธะ มีสติ สัมปชัญญะ คอยชำระจิตจากถีนมิทธะ;
ละ อุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน คอยชำระจิต จากอุทธัจจกุกกุจจะ;
ละ วิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า ‘นี่อะไร นี่อย่างไร’ ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย) คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา” ดังนี้.
ภิกษุนั้น ครั้น
ละนิวรณ์ห้าประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำปัญญา ให้ถอยจากกำลังเหล่านี้ จึงบรรลุฌานที่หนึ่ง มีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่;
เพราะสงบวิตก วิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่สอง เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่;
เพราะความจางหายไปแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่าผู้ได้ฌานนี้ “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ มีการอยู่เป็นสุข” แล้วแลอยู่; และ
เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่.
พราหมณ์เอย ! ภิกษุเหล่าใด ที่ยังเป็นเสขะ(คือยังต้องทำต่อไป) ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ยังปรารถนานิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่, คำสอนที่กล่าวมานี้แหละ เป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น.
ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้วจบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันบรรลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพ สิ้นไปรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ, ธรรมทั้งหลาย (ในคำสอน) เหล่านี้ เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ด้วย.
ตามรอยธรรม หน้า ๕๓
(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๖๒/๙๔. : คลิกดูพระสูตร