การตั้งจิตอธิษฐานในการประกอบความเพียร กับการขอพร เพื่อให้ได้ซึ่งสิ่งที่ปรารถนา มีแง่มุมต่างกันอย่างไร และต้องสร้างเหตุอย่างไรจึงจะบรรลุผลตามนั้น
วิดีโอ
เปิดธรรมที่ถูกปิด 2554/34
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี
ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภูมิชะ ! ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เป็นผู้ที่
มีความเห็นถูกต้อง มีความมุ่งหมายถูกต้อง
มีการพูดจาถูกต้อง มีการทำงานถูกต้อง
มีการดำรงชีพถูกต้อง มีความพยายามถูกต้อง
มีความระลึกถูกต้อง มีความตั้งจิตมั่นไว้อย่างถูกต้อง;
ชนเหล่านั้น ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์ โดยหวังผล ก็ต้องได้รับผล;
ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล;
ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งโดยหวังผลและไม่หวังผล ก็ต้องได้รับผล ;
ถ้าแม้ประพฤติพรหมจรรย์ โดยหวังผลก็มิใช่ไม่หวังผลก็มิใช่ ก็ยังต้องได้รับผล.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
เพราะเหตุแห่งการได้รับผลนั้น เป็นสิ่งที่เขาทั้งหลายเหล่านั้น ได้ทำแล้วโดยรากเหง้า (โยนิโส).
ภูมิชะ ! เช่นเดียวกับบุรุษผู้ต้องการน้ำมัน เสาะหาน้ำมัน เที่ยวแสวงหาน้ำมันอยู่,
เขาเกลี่ยเยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยน้ำแล้วคั้นเรื่อยไป; แม้บุรุษนั้น
ทำความหวัง...
ทำความไม่หวัง...
ทั้งทำความหวังและความไม่หวัง...
ทั้งทำความหวังก็หามิได้ ความไม่หวังก็หามิได้ ก็ตาม,
เมื่อเขาเกลี่ยเยื่อเมล็ดงาลงในราง ประพรมด้วยน้ำ แล้วคั้นอยู่เรื่อยไป บุรุษนั้นก็ต้องได้น้ำมันอยู่เอง.
ข้อนี้เพราะเหตุไร ?
เพราะเหตุแห่งการได้น้ำมันนั้น เป็นสิ่งที่บุรุษนั้นได้ทำแล้ว โดยลึกซึ้งแยบคาย ฉันใดก็ฉันนั้น.
(ทรงให้อุปมาทำนองนี้อีกสามข้อ คือ บุรุษผู้ ต้องการน้ำนม รีดน้ำนมจากนมแม่โคลูกอ่อน,
บุรุษผู้ ต้องการเนย ปั่นเนยจากนมที่หมักเป็นเยื่อแล้ว, บุรุษที่ ต้องการไฟ สีไฟจากไม้แห้ง,
ก็ย่อมได้ผลตามที่ตนต้องการ. แม้จะทำความหวังหรือความไม่หวังก็ตาม ผลนั้น ๆ ก็ย่อมมีให้เอง
เพราะได้มีการกระทำที่ถูกต้องลงไปแล้ว).
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๓๙๒-๑๓๙๓.
(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๒๑๙/๔๑๔. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุ ท. ! เรายังรู้สึกได้อยู่ซึ่งธรรม ๒ อย่าง คือ
ความไม่รู้จักอิ่มจักพอ (สันโดษ) ในกุศลธรรมทั้งหลาย และ
ความเป็นผู้ไม่ถอยกลับ (อัปปฏิวานี) ในการทำความเพียร.
ภิกษุ ท. ! เราย่อมตั้งไว้ซึ่งความเพียรอันไม่ถอยกลับ (ด้วยการอธิษฐานจิต) ว่า
“หนังเอ็นกระดูก จักเหลืออยู่, เนื้อและเลือดในสรีระจะเหือดแห้งไปก็ตามที ;
ประโยชน์ใด อันบุคคลจะพึงบรรลุได้ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ,
ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มี” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! การตรัสรู้เป็นสิ่งที่เราถึงทับแล้วด้วยความไม่ประมาท อนุตตรโยคักเขมธรรม
ก็เป็นสิ่งที่เราถึงทับแล้วด้วยความไม่ประมาท.
ภิกษุ ท. ! ถ้าแม้พวกเธอ พึงตั้งไว้ซึ่งความเพียรอันไม่ถอยกลับ (ด้วยการอธิษฐานจิต) ว่า
“หนังเอ็นกระดูก จักเหลืออยู่, เนื้อและเลือดในสรีระจะเหือดแห้งไปก็ตามที ;
ประโยชน์ใด อันบุคคลจะพึงบรรลุได้ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ,
ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มี” ดังนี้ แล้วไซร้
ภิกษุ ท. ! พวกเธอ ก็จักกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันไม่มีอะไรอื่นยิ่งกว่าอันเป็นประโยชน์ที่ต้องการของกุลบุตรผู้ออกบวชจากเรือนเป็นผู้ไม่มีเรือนโดยชอบ, ได้ต่อกาลไม่นานในทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้วแลอยู่ เป็นแน่นอน.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๑๖๓-๑๑๖๔.
(ภาษาไทย) ทุก. อํ. ๒๐/๔๘/๒๕๑. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีอายุร้อยปี พึงกล่าวกะบุรุษผู้มีชีวิตร้อยปี อย่างนี้ว่า
“เอาไหมล่ะ ท่านบุรุษผู้เจริญ ! เขาจักแทงท่านด้วยหอกร้อยเล่มตลอดเวลาเช้า
ร้อยเล่มตลอดเวลาเที่ยง ร้อยเล่มตลอดเวลาเย็น.
ท่านบุรุษผู้เจริญ ! เมื่อเขาแทงท่านอยู่ด้วยหอกสามร้อยเล่มทุกวัน ๆ จนมีอายุร้อยปี มีชีวิตอยู่ร้อยปี ;
โดยล่วงไปแห่งร้อยปีแล้ว ท่านจักรู้เฉพาะซึ่งอริยสัจทั้งสี่ที่ท่านยังไม่รู้เฉพาะแล้ว” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! กุลบุตรผู้รู้ซึ่งประโยชน์ ควรจะตกลง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุว่า สังสารวัฏนี้มีเบื้องต้นและที่สุดอันบุคคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว
ดังนั้น เบื้องต้นและที่สุดแห่งการประหารด้วยหอกด้วยดาบด้วยหลาวด้วยขวาน ก็จะไม่ปรากฏ, นี้ฉันใด ;
ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็เป็นฉันนั้น:
เรากล่าวการรู้เฉพาะซึ่งอริยสัจทั้งสี่ ว่าเป็นไปกับด้วยทุกข์กับด้วยโทมนัสก็หามิได้ ; แต่เรา
กล่าวการรู้เฉพาะซึ่งอริยสัจทั้งสี่ ว่าเป็นไปกับด้วยสุขกับด้วยโสมนัสทีเดียว.
อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ
อริยสัจคือทุกข์
อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๙๘-๙๙.
(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๓๖/๑๗๑๘. : คลิกดูพระสูตร