หลักการพิจารณาอาหาร ในเรื่องอาหารคือคำข้าว (กพฬีการาหาร หรือ กวฬีการาหาร) คืออย่างไร ใช้พิจารณาความตั้งอยู่ และความเจริญงอกงามของวิญญาน, นามรูป และการบังเกิดแห่งภพใหม่อย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาหาร
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าไม่มีราคะ (ความกำหนัด) ไม่มีนันทิ (ความเพลิน) ไม่มีตัณหา (ความอยาก)
ในกพฬีการาหาร (อาหารคือคำข้าว) แล้วไซร้, วิญญาณ ก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ในกพฬีการาหารนั้น วิญญาณ ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ในที่ใด, การหยั่งลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น การหยั่งลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด, ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด, การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีในที่ใด, ชาติชรามรณะต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น ชาติชรามรณะ ต่อไป ไม่มีในที่ใด, ภิกษุทั้งหลาย เราเรียก “ที่” นั้นว่าเป็น “ที่ไม่มีโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น” ดังนี้....
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนยอด หรือศาลาเรือนยอดที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ หรือใต้ก็ตาม เป็นเรือนมีหน้าต่างทางทิศตะวันออก ครั้นพระอาทิตย์ขึ้นมา แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ส่องเข้าไปทางหน้าต่างแล้ว จักตั้งอยู่ที่ส่วนไหนแห่งเรือนนั้นเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ จักปรากฏที่ฝาเรือนข้างในทางทิศตะวันตก พระเจ้าข้า”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าฝาเรือนทางทิศตะวันตกไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้น จักปรากฏอยู่ ณ ที่ไหน ? “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ จักปรากฏที่พื้นดิน พระเจ้าข้า”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพื้นดินไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหน ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ จักปรากฏในน้ำ พระเจ้าข้า”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหนอีก ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏแล้ว พระเจ้าข้า”
ภิกษุทั้งหลาย ฉันใดก็ฉันนั้นแล ถ้าไม่มีราคะ (ความกำหนัด) ไม่มีนันทิ (ความเพลิน) ไม่มีตัณหา (ความอยาก) ในกพฬีการาหารแล้วไซร้, วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในกพฬีการาหารนั้น วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด, การหยั่งลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น การหยั่งลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด, ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด, การบังเกิดในภพใหม่ต่อไปย่อมไม่มีในที่นั้น การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีในที่ใด, ชาติ ชรามรณะต่อไป ย่อมไม่มี ในที่นั้น ชาติชรามรณะต่อไป ไม่มีในที่ใด, ภิกษุทั้งหลาย เราเรียก “ที่” นั้นว่าเป็น “ที่ไม่มีโศก ไม่มีธุลี ไม่มีความคับแค้น” ดังนี้....
ปฐมธรรม หน้า ๓๐๘
(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๑๐๑/๒๔๘ : คลิกดูพระสูตร
หลักการพิจารณาอาหาร
ภิกษุทั้งหลาย ก็ กพฬีการาหาร (อาหารคือคำข้าว) จะพึงเห็นได้อย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนภรรยาสามีสองคน ถือเอาเสบียงสำหรับเดินทางเล็กน้อย เดินไปสู่หนทางอันกันดาร สองสามีภรรยานั้น มีบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารัก น่าเอ็นดูอยู่คนหนึ่ง เมื่อขณะเขาทั้งสองกำลังเดินไปตามทางอันกันดารอยู่นั้น เสบียงสำหรับเดินทางที่เขามีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้น ได้หมดสิ้นไป หนทางอันกันดารนั้น ยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองนั้น ยังไม่เดินข้ามหนทางอันกันดารนั้นไปได้ ครั้งนั้นแล สองภรรยาสามีนั้นได้มาคิดกันว่า “เสบียงสำหรับเดินทางของเราทั้งสองที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนี้ ได้หมดสิ้นลงแล้ว หนทางอันกันดารนี้ยังเหลืออยู่ ทั้งเราก็ยังไม่เดินข้ามหนทางอันกันดารนี้ไปได้ อย่ากระนั้นเลย เราทั้งสองคน พึงฆ่าบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูนี้เสีย แล้วทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง บริโภคเนื้อบุตรนี้แหละ เดินข้ามหนทางอันกันดารที่ยังเหลืออยู่นี้กันเถิด เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้ พวกเราทั้งสามคนจะต้องพากันพินาศหมดแน่” ดังนี้ ครั้งนั้นแล ภรรยาสามีทั้งสองนั้น จึงฆ่าบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูนั้น แล้วทำให้เป็นเนื้อเค็ม และเนื้อย่าง บริโภคเนื้อบุตรนั้นเทียว เดินข้ามหนทางอันกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น สองภรรยาสามีนั้น บริโภคเนื้อบุตรไป พลางพร้อมกับค่อนอกไปพลาง รำพันว่า “บุตรน้อยคนเดียวของเราไปไหนเสีย บุตรน้อยคนเดียวของเราไปไหนเสีย” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ ว่าอย่างไร ? สองภรรยาสามีนั้นจะพึงบริโภคเนื้อบุตรเป็นอาหาร เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานบ้าง เพื่อความมัวเมาบ้าง เพื่อความประดับประดาบ้าง หรือเพื่อตบแต่ง (ร่างกาย) บ้างหรือหนอ ? ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้อนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า” แล้วตรัส ต่อไปว่า “ถ้าอย่างนั้นสองภรรยาสามีนั้น จะพึงบริโภคเนื้อบุตรเป็นอาหารเพียงเพื่อ(อาศัย) เดินข้ามหนทางอันกันดารเท่านั้นใช่ไหม ?” “ใช่ พระเจ้าข้า” ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้มีอุปมาฉันใด, เราย่อมกล่าวว่า กพฬีการาหารอันอริยสาวกพึงเห็น (ว่ามีอุปมาเหมือนเนื้อบุตร) ฉันนั้น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกพฬีการาหาร อันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, ราคะ (ความกำหนัด) ที่มีกามคุณทั้ง ๕ เป็นแดนเกิด ย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย; เมื่อราคะที่มีกามคุณทั้ง ๕ เป็นแดนเกิด เป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้ว, สังโยชน์ชนิดที่อริยสาวกประกอบเข้าแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้มาสู่โลกนี้ได้อีก ย่อมไม่มี.
ปฐมธรรม หน้า ๓๑๑
นิทาน. สํ. ๑๖/๙๗/๒๔๑ : คลิกดูพระสูตร