Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

ปิดวาจา ในช่วงทำความเพียร หรือขณะอยู่ในคอร์สปฏิบัติธรรม จำเป็นหรือไม่

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

เสียง

ยุวพุทธิกสมาคม ครั้งที่ 3 (track1)  วันที่ 24 มกราคม 2552

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp3

  

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

ภิกษุเก่าคอยช่วยภิกษุใหม่

อานนท์ ! ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้, ภิกษุเหล่านั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่ เฉพาะในธรรมห้าอย่าง. ธรรมห้าอย่างอะไรบ้างเล่า ? ห้าอย่างคือ :-

() ภิกษุใหม่นั้น อันเธอทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น ให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในปาติโมกขสังวร ด้วยอาการอย่างนี้ว่า

มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด, จงเป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้เป็นโทษเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิดดังนี้.

() ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลายพึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในอินทรียสังวร ด้วยอาการอย่างนี้ว่า

มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ! ในประเทศมคธ. พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย มีสติคอยอารักขา มีสติคอยปกป้อง มีใจถูกคุ้มครองแล้ว ประกอบด้วยใจอันสติคอยอารักขาแล้วอยู่เถิดดังนี้.

() ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในการหยุดพูดพล่าม ด้วยอาการอย่างนี้ว่า

มาเถิด ผู้มีอายุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้พูดแต่น้อยคำ จงทำการหยุดการพูดพล่ามเสียเถิดดังนี้.

() ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในการหลีกออกจากหมู่ด้วยกาย ด้วยอาการอย่างนี้ว่า

มาเถิด ผู้มีอายุ ทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้สมาทานการอยู่ป่า จงเสพเฉพาะเสนาสนะอันเงียบสงัดที่เป็นป่าและป่าชัฏเถิดดังนี้.

() ภิกษุใหม่นั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรงอยู่เฉพาะ ในความเห็นชอบ ด้วยอาการอย่างนี้ว่า

มาเถิด ผู้มีอายุ ทั้งหลาย !

พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยความเห็นชอบเถิดดังนี้.

อานนท์ ! ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้,

ภิกษุเหล่านั้น อันพวกเธอทั้งหลาย พึงชักชวน พึงให้ตั้งมั่น พึงให้ดำรง

อยู่เฉพาะ ในธรรมห้าอย่างเหล่านี้แล.

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๓๐๔

(ไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๒๒/๑๑๔. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๕๕/๑๑๔. : คลิกดูพระสูตร 

 

วัตถุกถาสูตรที่ ๑

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องกรรม เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอนเรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้น ฯ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนอาสนะอันเขาตบแต่งไว้ ครั้นแล้ว จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ก็แหละกถาอะไรที่เธอทั้งหลายสนทนาค้างไว้

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาซึ่งดิรัจฉานกถาเป็นอันมากคือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อมพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายสนทนากันถึงดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อมนี้ ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลาย ผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

อัปปิจฉกถา

สันตุฏฐิกถา

ปวิเวกกถา

อสังสัคคกถา

วิริยารัมภกถา

สีลกถา

สมาธิกถา

ปัญญากถา

วิมุตติกถา

วิมุตติญาณทัสสนกถา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่าเธอทั้งหลายยึดถือเอากถาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว กล่าวเป็นกถาไซร้ เธอทั้งหลายพึงครอบงำเดชแม้ของ พระจันทร์และพระอาทิตย์ ผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมาก อย่างนี้ ด้วยเดชได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลายเล่า ฯ

วัตถุกถาสูตรที่ ๒

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น ในเวลาเย็นเสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาตบแต่งไว้ ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ก็แหละกถาอะไรที่เธอทั้งหลายสนทนาค้างไว้

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายสนทนาดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อมนี้ ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ควรสรรเสริญ ๑๐ อย่างนี้ ๑๐ อย่างเป็นไฉน คือ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ตนเองเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะควรสรรเสริญ ๑

ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สันโดษแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สันโดษ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สันโดษแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะควรสรรเสริญ ๑

ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สงัดแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สงัด และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สงัดแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะควรสรรเสริญ ๑

ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ และกล่าวกถาปรารภความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ และกล่าวกถาปรารภความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะควรสรรเสริญ ๑

ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวกถาปรารภความเพียรแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ปรารภความเพียร และกล่าวกถาปรารภความเพียรแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ควรสรรเสริญ ๑

ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะควรสรรเสริญ ๑

ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะควรสรรเสริญ ๑

ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะควรสรรเสริญ ๑

ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะควรสรรเสริญ ๑

ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ แก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวกถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะควรสรรเสริญ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลายฐานะที่ควรสรรเสริญ ๑๐ อย่างนี้แล ฯ  

(ไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑๑๔/๖๙-๗๐. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ทสก. อํ. ๒๔/๑๓๗/๖๙-๗๐. : คลิกดูพระสูตร 

 

วิคคาหิกกถาสูตร

ว่าด้วยการพูดที่ไม่เป็นประโยชน์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าพูดถ้อยคำแก่งแย่งกันว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูก สิ่งที่ควรพูดก่อน ท่านพูดเสียทีหลัง สิ่งที่ควรพูดทีหลัง ท่านพูดเสียก่อน เป็นประโยชน์แก่เรา ไม่เป็นประโยชน์แก่ท่าน ความเป็นไปอย่างอื่นที่คลาดเคลื่อน ท่านประพฤติแล้ว ท่านยกวาทะขึ้นแล้วเพื่อเปลื้องวาทะของผู้อื่น ท่านถูกข่มขี่แล้ว ท่านจงชำแรกออก ถ้าท่านอาจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะถ้อยคำนี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ... นิพพาน ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะพูด พึงพูดว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะถ้อยคำนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ... นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

ติรัจฉานกถาสูตร

ว่าด้วยการพูดติรัจฉานกถา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าพูดดิรัจฉานกถา ซึ่งมีหลายอย่าง คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะถ้อยคำนี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ... นิพพาน ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะพูด พึงพูดว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะถ้อยคำนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ... นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

(ไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๑๗-๔๑๘/๑๖๖๒-๑๖๖๓. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๕-๕๒๖/๑๖๖๒-๑๖๖๓. : คลิกดูพระสูตร 

   

คำถามที่ใกล้เคียงกัน

Today1444
Yesterday1254
This week6249
This month16267
Total2523572

Who Is Online

80
Online