คำว่า เปิดธรรมที่ถูกปิด คืออย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ดูกรมาณพ
บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตามย่อมเป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็น อกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก
ดูกรมาณพ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษอะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ฯ
(ไทย) ม. อุ. ๑๔/๒๙๑/๕๙๕:คลิกดูพระสูตร
(บาลี) ม. อุ. ๑๔/๓๘๔/๕๙๕:คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคตเป็นข้อความลึกมีความหมายซึ้งเป็นชั้นโลกุตตระว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดีย่อมเงี่ยหูฟังย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงและย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียนจึงพากันเล่าเรียนไต่ถามทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร? มีความหมายกี่นัย?” ดังนี้.
ด้วยการทำดังนี้เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้, ธรรมที่ยังไม่ปรากฏเธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้. ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้เราเรียกว่าบริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่; จัดเป็นบริษัทที่เลิศแล.
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์หน้า๓๕๒
(ไทย)ทุก. อํ. ๒๐ / ๖๘ /๒๙๒.คลิกดูพระสูตร
(บาลี)ทุก. อํ. ๒๐ / ๙๑ /๒๙๒.คลิกดูพระสูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ เหตุ แห่งวิมุตติ ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่พระศาสดาหรือเพื่อน สพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูแสดงแก่เธอ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ก็แต่ว่าภิกษุย่อมแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรมในธรรมนั้น ที่ภิกษุแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ...เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๒ ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียน มาโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๓ ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมา โดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุตรึกตรองใคร่ครวญธรรมตามที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อม ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๔ ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ภิกษุก็ไม่ได้สาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ ก็แต่ว่า สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เธอเล่าเรียนมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่เธอเล่าเรียนสมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้นอาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ ฯ
(ไทย) ปญจก. อํ. ๒๒ /๒๐/๒๖ : คลิกพระสูตร
(บาลี) ปญจก. อํ. ๒๒/๒๒ /๒๖ : คลิกพระสูตร