Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

เจโตวิมุติ (เจโตวิมุตติ) และ ปัญญาวิมุติ (ปัญญาวิมุตติ) ต่างกันอย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

เสียง 1

สนทนาธรรม ช่วงหลังฉัน 16 ธ.ค. 55

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่

 

 

วิดีโอ

สนทนาธรรม ค่ำเสาร์ 9 เม.ย. 54

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด วิดีโอ : คลิกที่นี่

 

 

เสียง 2

ยุวพุทธิกสมาคม วันที่ 29 ม.ค. 51  (ยุวพุทธ 2 track 11)

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่

 

 

 

เสียง 3

 

ยุวพุทธิกสมาคม วันที่ 26 ม.ค. 52  (ยุวพุทธ 3 track 2)

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่

 

 

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

ธรรมเป็นส่วนแห่งวิชา

 

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ เป็นส่วนแห่งวิชชา มีอยู่สองอย่างอะไรเล่า ? สองอย่างคือ สมถะและวิปัสสนา

ภิกษุทั้งหลาย สมถะ เมื่ออบรมแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร?

อบรมแล้ว จิตจะเจริญ 

จิต เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร

เจริญแล้ว จะละราคะได้

ภิกษุทั้งหลาย วิปัสสนาเล่า เมื่อเจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร

เจริญแล้ว ปัญญาจะเจริญ   

ปัญญา เจริญแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร

เจริญแล้ว จะละอวิชชาได้แล.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๙๐๓

(ภาษาไทย)  ทุก.อํ ๒๐/๕๗/๒๗๕: คลิกดูพระสูตร

 

 

สมถะและวิปัสสนา

 

เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐนี้อยู่อย่างนี้  ชื่อว่ามี

สติปัฏฐาน ๔ 

สัมมัปปธาน  ๔ 

อิทธิบาท  ๔ 

อินทรีย์  ๕ 

พละ  ๕ 

โพชฌงค์  ๗ 

ถึงความเจริญบริบูรณ์ บุคคลนั้นย่อมมีธรรมทั้งสองดังนี้  คือสมถะและวิปัสสนาคู่เคียงกันเป็นไป  เขาชื่อว่ากำหนดรู้ธรรมที่ควรรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง  ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน  มีข้อที่เรากล่าวไว้ว่า อุปาทานขันธ์  ๕  ได้แก่อุปาทานขันธ์ 

คือรูป 

คือเวทนา 

คือสัญญา 

คือสังขาร 

คือวิญญาณ

เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน  คืออวิชชา  และภวตัณหา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน  คือสมถะและวิปัสสนา เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง

        ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน  คือวิชชาและวิมุตติ เหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง  ฯ

 

(ภาษาไทย)  อุปริ. ม. ๑๔/๓๙๖/๘๒๙. : คลิกดูพระสูตร

 

 

สัมมาสมาธิชนิดที่มีพรหมวิหารเป็นอารมณ์

 

        วาเสฎฐะ !         เมื่อภิกษุนั้นมองเห็นนิวรณ์ทั้งห้าเหล่านี้ ที่ตนละได้แล้วอยู่  ปราโมทย์ย่อมเกิด; เมื่อปราโมทย์เกิด ปีติย่อมเกิด; กายของผู้มีใจปีติย่อมสงบรำงับ; ผู้มีกายสงบรำงับย่อมเสวยสุข; จิตของผู้มีสุขย่อมเป็นสมาธิ  เธอนั้น  ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วยเมตตา ย่อมแผ่ไปสู่ทิศที่หนึ่ง และทิศที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็เหมือนอย่างนั้น, เธอแผ่ไปตลอดโลกทั้งหมดทั้งสิ้น ในที่ทั้งปวงทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำและเบื้องขวาง   ด้วยจิตอันเป็นไปกับด้วย เมตตา เป็นจิตไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท   กว้างขวาง  ประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวง ไม่มีขีดจำกัด แล้วแลอยู่

 

วาเสฎฐะ ! เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้มีกำลัง   ย่อมเป่าสังข์ให้ได้ยินได้ทั้งสี่ทิศโดยไม่ยาก ฉันใด; ในเมตตาเจโตวิมุตติที่เจริญแล้ว อย่างนี้ กรรมชนิดที่ทำอย่างมีขีดจำกัด ย่อมไม่มีเหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ใน (เมตตาเจโตวิมุตติอันเป็นกรรมที่ไม่มีขีดจำกัด) นั้น, ก็ฉันนั้น.

วาเสฎฐะ ! นี้เป็นทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมทั้งหลาย.

   

(ต่อไปนี้   ทรงแสดงข้อ กรุณา , มุทิตา, อุเบกขา, อีก  โดยเนื้อความอย่างเดียวกัน  ทุก ๆ ข้อเป็นหนทางเหมือนกัน  ในพระบาลีว่า  แม้นี้ ๆ ก็เป็นหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมทั้งหลาย)

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๒๙๘

(ภาษาไทย)  สี.ที. ๙/๓๘๑/๓๘๓-๓๘๔. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ผู้อุภโตภาควิมุตต์

 

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็น  อุภโตภาควิมุตต์ (ผู้หลุดพ้นโดยส่วนทั้งสอง)เป็นอย่างไรเล่า?

        ภิกษุทั้งหลาย     ในกรณีนี้ บุคคลบางคน ถูกต้องวิโมกข์ทั้งหลายอันไม่เกี่ยวกับรูป เพราะก้าวล่วงรูปเสียได้ อันเป็นวิโมกข์ที่สงบรำงับ, ด้วยนาม-กาย แล้วแลอยู่ (นี้อย่างหนึ่ง); และ อาสวะทั้งหลายของเขานั้น สิ้นไปรอบแล้ว เพราะเห็นแจ้งด้วยปัญญา (นี้อีกอย่างหนึ่ง)  

ภิกษุทั้งหลาย  นี้เรากล่าวว่าบุคคลผู้เป็นอุภโตภาควิมุตต์

ภิกษุทั้งหลาย  สำหรับภิกษุนี้ เราไม่กล่าวว่า ยังมีอะไร ๆ เหลืออยู่ ที่เธอต้องทำด้วยความไม่ประมาท  ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? เพราะเหตุว่า กิจที่ต้องทำด้วยความไม่ประมาท เธอทำเสร็จแล้ว, และเธอเป็นผู้ไม่อาจที่จะเป็นผู้ประมาทได้อีกต่อไป

 

ผู้อุภโตภาควิมุตต์โดยสมบูรณ์

 

อานนท์ !  วิโมกข์แปดเหล่านี้แล มีอยู่ แปดเหล่าไหนเล่าแปดคือ :-

        (๑) ผู้มีรูป (ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมาธิ) ย่อมเห็นรูปทั้งหลาย

 (อันเป็นสมาธินิมิตเหล่านั้น):  นี้คือ วิโมกข์ที่หนึ่ง

 (ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของนิวรณ์ทั้งหลาย)

        (๒) ผู้ไม่มีสัญญาในรูปซึ่งเป็นภายใน (เพื่อเป็นอารมณ์ของสมาธิ)  

ย่อมเห็นรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอก (เพื่อเป็นอารมณ์ของสมาธิ):

นี้คือ วิโมกข์ที่สอง (ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของนิวรณ์ทั้งหลาย).

        (๓) เป็นผู้น้อมใจ(ไปในรูปนิมิตแห่งสมาธิ) ด้วยความรู้สึกว่างามเท่านั้น:นี้คือ วิโมกข์ที่สาม

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของนิวรณ์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการรบกวนของความรู้สึกว่าเป็นปฏิกูลในสิ่งที่เป็นปฏิกูล)

        (๔) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งรูปสัญญาทั้งหลายโดยประการทั้งปวงเพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญาทั้งหลาย เป็นผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า อากาศไม่มีที่สุดดังนี้ แล้วแลอยู่: นี้คือ วิโมกข์ที่สี่

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของรูปสัญญา  ซึ่งทำความผูกพันอยู่ในรูปทั้งหลาย อันให้เกิดการกระทบกระทั่งกับสิ่งที่เป็นรูปนั่นเอง)

(๕) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจาตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า วิญญาณไม่มีที่สุดดังนี้ แล้วแลอยู่: นี้คือ วิโมกข์ที่ห้า

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของอากาสานัญจายตนสัญญา ซึ่งทำความผูกพันอยู่ในอรูปประเภทแรกคืออากาสานัญจายตนะนั่นเอง)

        (๖) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่า อะไร ๆ ไม่มีดังนี้แล้ว แลอยู่: นี้คือ วิโมกข์ที่หก

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของวิญญาณัญจายตนสัญญา ซึ่งทำความผูกพัน

อยู่ในอรูปประเภทที่สองคือวิญญาณัญจายตนะนั่นเอง)

        (๗) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วแลอยู่:  นี้คือ วิโมกข์ที่เจ็ด

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของอากิญจัญญายตนสัญญา ซึ่งทำความผูกพัน

อยู่ในอรูปประเภทที่สามคืออากิญจัญญายตนะนั่นเอง)

        (๘) เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่: นี้คือ วิโมกข์ที่แปด

(ย่อมมีวิโมกข์ คือพ้นจากอิทธิพลของเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ซึ่งทำความ

ผูกพันอยู่ในอรูปประเภทที่สี่คือเนวสัญญานาสัญญายตนะนั่นเอง)

อานนท์ ! เหล่านี้แล วิโมกข์แปด

        อานนท์ ! ในกาลใดแล ภิกษุ เข้าสู่วิโมกข์แปดเหล่านี้ โดยอนุโลมบ้าง โดยปฏิโลมบ้าง ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าบ้าง ออกบ้าง ได้ตามที่ที่ต้องการ ตามสิ่งที่ต้องการ ตามเวลาที่ต้องการ; กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่

อานนท์ !  ภิกษุนั้นแล ชื่อว่า อุภโตภาควิมุตต์ (ผู้หลุดพ้นแล้วโดยส่วนสอง)

อานนท์ ! อุภโตภาควิมุตติอื่นที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าอุภโตภาควิมุตตินี้ย่อมไม่มี

ผู้ปัญญาวิมุตต์

 

        ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นปัญญาวิมุตต์ (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา) เป็นอย่างไรเล่า?

        ภิกษุทั้งหลาย  ในกรณีนี้ บุคคลบางคน, วิโมกข์เหล่าใดอันไม่เกี่ยวกับรูปเพราะก้าวล่วงรูปเสียได้ อันเป็นวิโมกข์ที่สงบรำงับ มีอยู่, เขาหาได้ถูกต้องวิโมกข์เหล่านั้น ด้วยนามกายแล้วแลอยู่ไม่ แต่ว่าอาสวะทั้งหลายของเขานั้น สิ้นไปรอบแล้ว เพราะเห็นแจ้งด้วยปัญญา 

ภิกษุทั้งหลาย  นี้เรากล่าวว่า บุคคลผู้เป็นปัญญาวิมุตต์  

ภิกษุทั้งหลาย  สำหรับภิกษุแม้นี้ เราก็ไม่กล่าวว่า ยังมีอะไร ๆ เหลืออยู่ ที่เธอต้องทำด้วยความไม่ประมาท  ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่าเพราะเหตุว่า กิจที่ต้องทำด้วยความไม่ประมาท เธอทำเสร็จแล้ว, และเธอเป็นผู้ไม่อาจที่จะเป็นผู้ประมาทได้อีกต่อไป

 

ผู้ปัญญาวิมุตต์ อีกนัยหนึ่ง

 

        อานนท์ ! วิญญาณฐิติ  เจ็ดเหล่านี้  และ อายตนะสอง มีอยู่.

วิญญาณฐิติเจ็ดเหล่าไหนเล่าวิญญาณฐิติเจ็ดคือ :-

        ๑. อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน มีอยู่; ได้แก่มนุษย์ทั้งหลาย, เทวดาบางพวก และวินิบาตบางพวก: นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่หนึ่ง.

        ๒. อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่; ได้แก่พวกเทพผู้นับเนื่องอยู่ในหมู่พรหมที่บังเกิดโดยปฐมภูมิ และสัตว์ทั้งหลายในอบายทั้งสี่: นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่สอง

        ๓. อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน มีอยู่; ได้แก่พวกเทพอาภัสสระ : นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่สาม

        ๔. อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน มีอยู่; ได้แก่ พวกเทพสุภกิณหะ : นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่สี่

        ๕. อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย, เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึง อากาสานัญจายตนะ มีการทำในใจว่า อากาศไม่มีที่สุดดังนี้มีอยู่: นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่ห้า

        ๖. อานนท์ ! สัตว์ทั้งหลาย, เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึง วิญญาณัญจายตนะ มีการทำในใจว่า วิญญาณไม่มีที่สุดดังนี้มีอยู่: นี้คือ วิญญาณฐิติ ประเภทที่หก

๗. อานนท์ !      สัตว์ทั้งหลายเพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึง อากิญจัญญายตนะ มีการทำในใจว่า อะไร ๆ ไม่มีดังนี้ มีอยู่ : นี้คือ วิญญาณฐิติ  ประเภทที่เจ็ด

        ส่วน อายตนะอีกสอง นั้น คือ อสัญญีสัตตายตนะ ที่หนึ่ง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่สอง

        อานนท์ ! ในบรรดาวิญญาณฐิติเจ็ด และอายตนะสอง (รวมเป็นเก้า) นั้น: วิญญาณฐิติประเภทที่หนึ่ง อันใด มีอยู่, คือ สัตว์ทั้งหลาย มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน ได้แก่ มนุษย์ทั้งหลาย, เทวดาบางพวก และวินิบาตบางพวก

 

อานนท์ !  ผู้ใดรู้ชัดวิญญาณฐิติที่หนึ่งนั้น รู้ชัดการเกิด (สมุทัย) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดความดับ (อัตถังคมะ) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดรสอร่อย (อัสสาทะ) แห่งสิ่งนั้น รู้ชัดโทษต่ำทราม (อาทีนวะ) แห่งสิ่งนั้น และรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องออก(นิสสรณะ) แห่งสิ่งนั้น  ดังนี้แล้ว  ควรหรือหนอที่ผู้นั้น  จะเพลิดเพลินยิ่งซึ่ง

วิญญาณฐิติที่หนึ่ง นั้นข้อนั้น เป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า!

        (ในกรณีแห่ง วิญญาณฐิติที่สอง วิญญาณฐิติที่สาม วิญญานฐิติที่สี่ วิญญาณฐิติที่ห้า วิญญาณฐิติที่หก วิญญาณฐิติที่เจ็ด และ อสัญญีสัตตายตนะที่หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะอย่างดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ได้มีการอธิบาย ตรัสถาม และทูลตอบ โดยข้อความทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งวิญญาณฐิติที่หนึ่งนั้น ทุกประการ ต่างกันแต่ชื่อแห่งสภาพธรรมนั้นๆเท่านั้น. ส่วนเนวสัญญานาสัญญายตนะที่สองนั้น จะได้บรรยายด้วยข้อความเต็มอีกครั้งหนึ่ง ดังต่อไปนี้ :-)

        อานนท์ ! ในบรรดาวิญญาณฐิติเจ็ด และอายตนะสอง (รวมเป็นเก้า) นั้น: เนวสัญญานาสัญญายตนะ อันใด มีอยู่,

อานนท์ ! ผู้ใดรู้ชัดเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น รู้ชัดการเกิดแห่งสิ่งนั้น รู้ชัดการดับแห่งสิ่งนั้น รู้ชัดรสอร่อยแห่งสิ่งนั้น รู้ชัดโทษอันต่ำทรามแห่งสิ่งนั้น และรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องออกแห่งสิ่งนั้น ดังนี้แล้ว ควรหรือหนอ ที่ผู้นั้นจะเพลิดเพลินยิ่งซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นข้อนั้น เป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า!

อานนท์ ! เมื่อใดแล ภิกษุรู้แจ้งชัดตามเป็นจริง ซึ่งการเกิด การดับ รสอร่อย โทษอันต่ำทราม และอุบายเป็นเครื่องออก แห่งวิญญาณฐิติเจ็ดเหล่านี้ และแห่งอายตนะสองเหล่านี้ด้วย แล้วเป็นผู้หลุดพ้นเพราะความไม่ยึดมั่น;

อานนท์ ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่า  เป็นปัญญาวิมุตต์

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๖๕๘-๖๖๕

(ภาษาไทย)  มหา.ที. ๑๐/๖๑/๖๕: คลิกดูพระสูตร

 

 

สัทธาวิมุตบุคคล

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัทธาวิมุตบุคคลเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คืออรูปสมบัติล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่ แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา อนึ่ง ความเชื่อในพระตถาคตของผู้นั้นตั้งมั่นแล้ว มีรากหยั่งลงมั่นแล้ว บุคคลนี้เรากล่าวว่าสัทธาวิมุตบุคคล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่ากิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุแม้นี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ไฉนท่านผู้นี้เสพเสนาสนะอันสมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้จึงกล่าวว่า กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท ย่อมมีแก่ภิกษุนี้

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑หน้า ๖๖๙-๖๗๐

(ภาษาไทย)  ม.ม. ๑๓/๑๘๐/๒๓๕. : คลิกดูพระสูตร

 

 

คำถามที่ใกล้เคียงกัน

Today273
Yesterday1124
This week3572
This month2101
Total2532964

Who Is Online

11
Online