Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

ธรรมะสำหรับคู่ครอง มีอะไรบ้าง

 

วิดีโอ 1

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4, mp3

 

 

วิดีโอ 2

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4, mp3


 

 พระสูตรที่เกี่ยวข้อง  

 

หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

ด้วยการยกย่อง ๑ ด้วยการไม่ดูหมิ่น ๑ ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้ ๑ ด้วยการให้เครื่องประดับ ๑

 

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามีปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-

จัดแจงการงานดี ๑ สงเคราะห์คนข้างเคียงดี ๑ ไม่ประพฤตินอกใจ ๑ ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่ ๑ ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง ๑

 

เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๗-๑๕

(ภาษาไทย) ปา. ที. ๑๑/๑๓๙-๑๔๗/๑๗๔๒๐๕. : คลิกดูพระสูตร

 คู่บุพเพสันนิวาส

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองพึงหวังพบกันและกันทั้งในปัจจุบัน และในสัมปรายภพ ทั้งสองเทียว พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ.

ภรรยาและสามีทั้งสอง เป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุกทั้งสองฝ่าย มีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก.

  ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๗๙

(ภาษาไทย) จตุกฺก. อํ. ๒๑/๖๑/๕๖. : คลิกดูพระสูตร 

 

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวก เจริญอยู่ด้วยความเจริญ ๑๐ อย่าง ชื่อว่า ย่อมเจริญด้วย ความเจริญของพระอริยเจ้า ด้วย และเป็นผู้ ถือเอาแก่นสารและความประเสริฐทางฝ่ายกาย (วัตถุ) ได้ด้วย. สิบอย่าง อย่างไรเล่า? สิบอย่างคือ : -

ย่อมเจริญด้วยนาและสวน,

ย่อมเจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก,

ย่อมเจริญด้วยบุตรและภรรยา,

ย่อมเจริญด้วยทาสและกรรมกรที่เต็มขนาดแห่งบุรุษ,

ย่อมเจริญด้วยสัตว์สี่เท้า,

ย่อมเจริญด้วยสัทธา,

ย่อมเจริญด้วยศีล,

ย่อมเจริญด้วยสุตะ,

ย่อมเจริญด้วยจาคะ,

ย่อมเจริญด้วยปัญญา.

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวก เจริญอยู่ด้วยความเจริญ ๑๐ อย่างเหล่านี้แล ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยความเจริญของพระอริยเจ้าด้วย และเป็นผู้ถือเอาแก่นสารและความประเสริฐทางฝ่ายกายได้ด้วย.

 

บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก บุตร ภรรยา และสัตว์สี่เท้า, บุคคลนั้น ย่อมเป็นผู้มีโชค มียศ เป็นที่บูชาของญาติมิตรและแม้ของพระราชา.

 

บุคคลใดในโลกนี้ ย่อมเจริญด้วยสัทธา ศีล ปัญญา จาคะ สุตะ อันเป็นความเจริญทั้งสองฝ่าย, บุคคลเช่นนั้น เป็นสัตบุรุษ มีปัญญาเห็นโดยประจักษ์ ย่อมเจริญด้วยความเจริญทั้งสองฝ่าย ในทิฏฐธรรมนี้, ดังนี้แล.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า ๑๐๑๒

(ภาษาไทย) ทสก.อํ. ๒๔/๑๒๑/๗๔. : คลิกดูพระสูตร


 หลักการดำรงชีพ

เพื่อประโยชน์สุขในวันนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม แออัดอยู่ด้วยบุตร ครองเรือน ใช้สอยกระแจะจันทน์จากแคว้นกาสี ทัดทรงพวงดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ทั้งในทิฏฐธรรม (ในปัจจุบัน) และในสัมปรายะ (ในเวลาถัดต่อมา) แก่พวกข้าพระองค์ผู้อยู่ในสถานะเช่นนี้เถิด พระเจ้าข้า !”.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ธรรม ๔ ประการเหล่านี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กุลบุตรในทิฏฐธรรม (ในปัจจุบัน). ๔ ประการ อย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ :-

อุฏฐานสัมปทา (ความขยันในอาชีพ)

อารักขสัมปทา (การรักษาทรัพย์)

กัลยาณมิตตตา (ความมีมิตรดี)

สมชีวิตา (การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ).

ความขยันในอาชีพ

พ๎ยัคฆปัชชะ ! อุฏฐานสัมปทาเป็นอย่างไรเล่า ?

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ สำเร็จการเป็นอยู่ด้วยการลุกขึ้นกระทำการงาน คือ ด้วยกสิกรรม หรือ วานิชกรรม โครักขกรรม อาชีพผู้ถืออาวุธ อาชีพราชบุรุษ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง. ในอาชีพนั้นๆ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยการสอดส่องในอุบายนั้นๆ สามารถกระทำ สามารถจัดให้กระทำ.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่าอุฏฐานสัมปทา (ความขยันในอาชีพ).

การรักษาทรัพย์

พ๎ยัคฆปัชชะ ! อารักขสัมปทาเป็นอย่างไรเล่า ?

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้, โภคะอันกุลบุตรหาได้มาด้วยความเพียรเป็นเครื่องลุกขึ้น รวบรวมมาด้วยกำลังแขน มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ เป็นโภคทรัพย์ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม, เขารักษาคุ้มครองอย่างเต็มที่ ด้วยหวังว่า อย่างไรเสียพระราชาจะไม่ริบทรัพย์ของเราไป โจรจะไม่ปล้นเอาไป ไฟจะไม่ไหม้ น้ำจะไม่พัดพาไป ทายาทอันไม่รักใคร่เรา จะไม่ยื้อแย่งเอาไปดังนี้.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่าอารักขสัมปทา (การรักษาทรัพย์).

ความมีมิตรดี

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กัลยาณมิตตตา เป็นอย่างไรเล่า ?

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด, ถ้ามีบุคคลใดๆ ในบ้านหรือนิคมนั้น เป็นคหบดีหรือบุตรคหบดีก็ดี เป็นคนหนุ่มที่เจริญด้วยศีล หรือเป็นคนแก่ที่เจริญด้วยศีลก็ดี ล้วนแต่ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยจาคะ ถึงพร้อมด้วยปัญญาอยู่แล้วไซร้, กุลบุตรนั้นก็ดำรงตนร่วม พูดจาร่วม สากัจฉา (สนทนา) ร่วมกับชนเหล่านั้น.

เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยสัทธา โดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธา

เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยศีล โดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยจาคะ โดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ

เขาติดตามศึกษาความถึงพร้อมด้วยปัญญา โดยอนุรูปแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอยู่ในที่นั้นๆ.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา (ความมีมิตรดี).

การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ

พ๎ยัคฆปัชชะ ! สมชีวิตา เป็นอย่างไรเล่า ?

พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์แล้ว ดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้ดังนี้.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! เปรียบเหมือนคนถือตาชั่งหรือลูกมือของเขา ยกตาชั่งขึ้นแล้ว ก็รู้ว่า ยังขาดอยู่เท่านี้ หรือเกินไปแล้วเท่านี้ดังนี้ฉันใด; กุลบุตรนี้ ก็ฉันนั้น : เขารู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้ดังนี้.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! ถ้ากุลบุตรนี้ เป็นผู้มีรายได้น้อย แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างฟุ่มเฟือยแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ (อย่างสุรุ่ยสุร่าย) เหมือนคนกินผลมะเดื่อ ฉันใดก็ฉันนั้น.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! แต่ถ้ากุลบุตร เป็นผู้มีรายได้มหาศาล แต่สำเร็จการเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแล้วไซร้ ก็จะมีผู้กล่าวว่า กุลบุตรนี้จักตายอดตายอยากอย่างคนอนาถา.

พ๎ยัคฆปัชชะ ! เมื่อใด กุลบุตรนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และรายจ่ายของเรา จักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้ดังนี้;

พ๎ยัคฆปัชชะ ! นี้เราเรียกว่า สมชีวิตา (การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุลย์พอเพียงแก่ฐานะ).

 

ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๓๗-๔๒

(ภาษาไทย) อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๒๒/๑๔๔. : คลิกดูพระสูตร

 

ลักษณะของ ฆราวาสชั้นเลิศ

คหบดี ! ในบรรดากามโภคี (ฆราวาส) เหล่านั้น กามโภคีผู้ใด แสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรม โดยไม่เครียดครัด (เกินไปจนทรมานตน) ด้วย, ครั้นแสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรม โดยไม่เครียดครัดแล้ว ทำตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำด้วย, แบ่งปันโภคทรัพย์บำเพ็ญบุญด้วย, ไม่กำหนัด ไม่มัวเมา ไม่ลุ่มหลง มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์เหล่านั้นอยู่ด้วย;

คหบดี ! กามโภคีผู้นี้ ควรสรรเสริญโดยฐานะทั้งสี่ คือ :-

ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่หนึ่ง ในข้อที่เขา แสวงหาโภคทรัพย์โดยธรรม โดยไม่เครียดครัด,

ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่สอง ในข้อที่เขา ทำตนให้เป็นสุขให้อิ่มหนำ,

ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่สาม ในข้อที่เขา แบ่งปันโภคทรัพย์บำเพ็ญบุญ,

ควรสรรเสริญโดย ฐานะที่สี่ ในข้อที่เขา ไม่กำหนัด ไม่มัวเมา ไม่ลุ่มหลง มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก บริโภคโภคทรัพย์เหล่านั้น.

คหบดี ! กามโภคีผู้นี้ควรสรรเสริญโดยฐานะทั้งสี่เหล่านี้.

คหบดี ! กามโภคีจำพวกนี้ เป็นกามโภคีชั้นเลิศ ชั้นประเสริฐ ชั้นหัวหน้า ชั้นสูงสุด ชั้นบวร กว่ากามโภคีทั้งหลาย,

เปรียบเสมือนนมสดเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส; หัวเนยใสปรากฏว่าเลิศกว่าบรรดารสอันเกิดจากโคทั้งหลายเหล่านั้น,

ข้อนี้ฉันใด; กามโภคีจำพวกนี้ ก็ปรากฏว่าเลิศกว่าบรรดากามโภคีทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้น แล.

 ปฐมธรรม หน้า ๒๗

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑๕๓/๙๑. : คลิกดูพระสูตร

 ภรรยา ๗ จำพวก

ครั้งนั้น เมื่อเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว ก็สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีส่งเสียงอื้ออึง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า คหบดี เหตุไรหนอ มนุษย์ทั้งหลายในนิเวศน์ของท่าน จึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน.

อนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! นางสุชาดาคนนี้ ข้าพระองค์นำมาจากตระกูลมั่งคั่งมาเป็นสะใภ้ในเรือน นางไม่เชื่อถือ แม่ผัว พ่อผัว สามี แม้แต่พระผู้มีพระภาค นางก็ไม่สักการะเคารพนับถือบูชา”.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกนางสุชาดา หญิงสะใภ้ในเรือนว่า มานี่แน่ะ ! สุชาดานางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

สุชาดา ! ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้ ๗ จำพวกเป็นไฉน คือ :-

ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต ๑

เสมอด้วยโจร ๑

เสมอด้วยนาย ๑

เสมอด้วยแม่ ๑

เสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ๑

เสมอด้วยเพื่อน ๑

เสมอด้วยทาสี ๑

สุชาดา ! ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นจำพวกไหนใน ๗ จำพวกนั้น.

นางสุชาดากราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! หม่อมฉันยังไม่รู้ทั่วถึงความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อนี้ได้โดยพิสดาร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน โดยที่หม่อมฉันจะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด

สุชาดา ! ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือน ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า :-

() ภริยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า วธกาภริยา ภริยาเสมอด้วยเพชฌฆาต.

() สามีของหญิงประกอบด้วยศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภริยาปรารถนาจะยักยอกทรัพย์ แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า โจรภริยา ภริยาเสมอด้วยโจร.

() ภริยาที่ไม่สนใจการงาน เกียจคร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบ ข่มขี่ผัวผู้ขยันขันแข็ง ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า อัยยาภริยา ภริยาเสมอด้วยนาย.

() ภริยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า มาตาภริยา ภริยาเสมอด้วยมารดา.

() ภริยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพในสามีของตน เป็นคนละอายบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ภคินีภริยา ภริยาเสมอด้วยพี่สาว น้องสาว.

() ภริยาใดในโลกนี้เห็นสามีแล้วชื่นชมยินดี เหมือนเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีศีล มีวัตร ปฏิบัติสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า สขีภริยา ภริยาเสมอด้วยเพื่อน.

() ภริยาใดสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอก ก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไปตามอำนาจสามี ภริยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่า ทาสีภริยา ภริยาเสมอด้วยทาสี.

ภริยาที่เรียกว่า

วธกาภริยา ๑, โจรีภริยา ๑, อัยยาภริยา ๑

ภริยาทั้ง ๓ จำพวกนั้น ล้วนแต่เป็นคนทุศีล หยาบช้า ไม่เอื้อเฟื้อ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก.

ส่วนภริยาที่เรียกว่า

มาตาภริยา ๑, ภคินีภริยา ๑

สขีภริยา ๑, ทาสีภริยา ๑

ภริยาทั้ง ๔ จำพวกนั้น เพราะตั้งอยู่ในศีล ถนอมรักไว้ยั่งยืน เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ.

สุชาดา ! ภริยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นภริยาจำพวกไหน ใน ๗ จำพวกนั้น.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำ หม่อมฉันว่า เป็นภริยาของสามีผู้เสมอด้วยทาสี.

 ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๘๑

(ภาษาไทย) สตฺตก. อํ. ๒๓/๗๖/๖๐. : คลิกดูพระสูตร 

มนุษย์ผี

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย การอยู่ร่วม ๔ ประการนี้

๔ ประการเป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-

() ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผี

() ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา

() ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผี

() ชายเทวดา อยู่ร่วมกับหญิงเทวดา

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ! ก็ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผีอย่างไร ?

สามีในโลกนี้เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีใจอันมลทินคือความตระหนี่ครอบงำด่าและบริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน แม้ภรรยาของเขาก็เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม มีใจอันมลทินคือความตระหนี่ครอบงำ ด่าและบริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน.

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ! ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงผี อย่างนี้แล.

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ! ก็ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาอย่างไร ?

สามีในโลกนี้เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ฯลฯ ด่าและบริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน ส่วนภรรยาของเขาเป็นผู้งดเว้น จากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีศีล มีกัลยาณธรรม มีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ ไม่ด่าไม่บริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน.

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ! ชายผีอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา อย่างนี้แล.

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ! ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผีอย่างไร ?

สามีในโลกนี้เป็นผู้งดเว้น จากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ อยู่ครองเรือน ส่วนภรรยาของเขาเป็นผู้มักฆ่าสัตว์ ฯลฯ ด่าและบริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน.

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ! ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงผี อย่างนี้แล.

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ! ก็ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดาอย่างไร ?

สามีในโลกนี้เป็นผู้งดเว้น จากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ไม่ด่าไม่บริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน แม้ภรรยาของเขาก็เป็นผู้งดเว้น จากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ไม่ด่าไม่บริภาษสมณพราหมณ์ อยู่ครองเรือน

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ! ชายเทวดาอยู่ร่วมกับหญิงเทวดา อย่างนี้แล.

คหบดีและคหปตานีทั้งหลาย ! การอยู่ร่วม ๔ ประการอย่างนี้แล.

ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้ทุศีล เป็นคนตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ ชื่อว่าเป็นผีมาอยู่ร่วมกัน.

สามีเป็นผู้ทุศีล มีความตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ ส่วนภรรยาเป็นผู้มีศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ภรรยานั้นชื่อว่าเทวดาอยู่ร่วมกับสามีผี.

สามีเป็นผู้มีศีล รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ส่วนภรรยาเป็นผู้ทุศีล มีความตระหนี่ มักด่าว่าสมณพราหมณ์ ชื่อว่าหญิงผีอยู่ร่วมกับสามีเทวดา.

ทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธารู้ความประสงค์ ของผู้ขอมีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น เจรจาถ้อยคำที่น่ารักแก่กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก ทั้งสองฝ่าย มีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน ครั้นประพฤติธรรม ในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตรเสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก.

 

ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๘๖

(ภาษาไทย) จตุกฺก. อํ. ๒๑/๕๖/๕๓. : คลิกดูพระสูตร 

วิสาขสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของมิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรวิสาขา มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน

ดูกรวิสาขา มาตุคามในโลกนี้ ที่มารดาบิดาผู้มุ่งประโยชน์ แสวงหาความเกื้อกูล อนุเคราะห์ เอื้อเอ็นดู ยอมยกให้แก่ชายใดผู้เป็นสามี สำหรับชายนั้น เธอต้องตื่นก่อน นอนภายหลัง คอยฟังรับใช้ ประพฤติให้ถูกใจ กล่าวถ้อยคำเป็นที่รัก ฯลฯ เป็นผู้มีการบริจาค มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน

ดูกรวิสาขา มาตุคามประกอบ ด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ฯ

(ภาษาไทย) อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๒๐๙/๑๓๗. : คลิกดูพระสูตร

อนึ่ง คนเราเมื่อมีการอยู่ร่วมกัน กับคนที่สะอาดหรือคนที่ไม่สะอาดก็ตาม ต้องมีสติกำกับอยู่ด้วยเสมอ, แต่นั้นพึงสามัคคีต่อกัน มีปัญญาทำที่สุดทุกข์แห่งตน เถิด.

 ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๗๘

(ภาษาไทย) อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๑๓๐/๑๐๐. : คลิกดูพระสูตร

 

คำถามที่ใกล้เคียงกัน

Today1386
Yesterday1254
This week6191
This month16209
Total2523514

Who Is Online

104
Online