การกราบไหว้บูชาเทพขอพร แล้วทำไมจึงสำเร็จ ?
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
[๔๓] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ธรรม ๕ ประการนี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก ๕ ประการเป็นไฉน คืออายุ ๑ วรรณะ ๑ สุขะ ๑ ยศ ๑ สวรรค์ ๑ ดูกรคฤหบดี ธรรม ๕ ประการนี้แล น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก ฯ ธรรม ๕ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก เรามิได้กล่าวว่าจะพึงได้เพราะเหตุแห่งความอ้อนวอน หรือเพราะเหตุแห่งความปรารถนา ถ้าธรรม ๕ ประการนี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้โดยยากในโลก จักได้เพราะเหตุแห่งความอ้อนวอน หรือเพราะเหตุแห่งความปรารถนาแล้วไซร้ ในโลกนี้ ใครจะพึงเสื่อมจากอะไร ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ต้องการอายุ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินอายุ หรือแม้เพราะเหตุแห่งอายุ อริยสาวกผู้ต้องการอายุ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่ออายุที่พระอริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้อายุ อริยสาวกผู้นั้นย่อมได้อายุที่เป็นของทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินวรรณะ หรือแม้เพราะเหตุแห่งวรรณะ อริยสาวกผู้ต้องการวรรณะ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อวรรณะ ที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้วรรณะ อริยสาวกนั้นย่อมได้วรรณะที่เป็นของทิพย์ หรือเป็นของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้องการสุข ไม่อ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสุข หรือแม้เพราะเหตุแห่งสุข อริยสาวกผู้ต้องการสุข พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุข เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสุขที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สุข อริยสาวกนั้นย่อมได้สุขที่เป็นของทิพย์หรือของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้อง การยศ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินยศ หรือแม้เพราะเหตุแห่งยศ อริยสาวกผู้ต้องการยศ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศเพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อยศที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ยศอริยสาวกนั้น ย่อมได้ยศที่เป็นของทิพย์ หรือของมนุษย์ อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ ไม่ควรอ้อนวอนหรือเพลิดเพลินสวรรค์ หรือแม้เพราะเหตุแห่งสวรรค์อริยสาวกผู้ต้องการสวรรค์ พึงปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์ เพราะปฏิปทาอันเป็นไปเพื่อสวรรค์ ที่อริยสาวกนั้นปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้สวรรค์ อริยสาวกนั้นย่อมได้สวรรค์ ฯ (ไทย) ปญจก. อํ. ๒๒/๔๒-๔๓/๔๓.คลิกดูพระสูตร (บาลี) ปญจก. อํ. ๒๒/๕๑-๕๒/๔๓.คลิกดูพระสูตร
อานนท์ ! เธอจงจัดตั้งที่นอน ระหว่างต้นสาละคู่ มีศีรษะทางทิศเหนือ เราลำบากกายนัก, จัก นอน (ประทับ สีหไสยยาแล้ว มีอัศจรรย์ ดอกสาละผลิผิดฤดูกาลโปรยลงบน พระสรีระ, ดอกมัณฑารพ จุรณ์ไม้จันทน์, ดนตรี ล้วนแต่ของทิพย์ ได้ตกลงและบรรเลงขึ้น; เพื่อบูชาตถาคตเจ้า). อานนท์ ! การบูชาเหล่านี้ หาชื่อว่า ตถาคตเป็นผู้ที่ได้รับสักการะ เคารพนับถือ บูชาแล้วไม่. อานนท์ ! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง, ปฏิบัติตามธรรมอยู่; ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือบูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด. อานนท์ ! เพราะฉะนั้นเธอพึงกำหนดใจว่า “เราจักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่” ดังนี้. (ไทย)มหา.ที.๑๐/๑๑๑/๑๒๘-๑๒๙:คลิกดูพระสูตร (บาลี)มหา.ที ๑๐/๑๒๙/๑๒๘-๑๒๙:คลิกดูพระสูตร
ดูกรสุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดีเราจักกล่าว สุภัททปริพาชก ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ ในธรรม วินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุ เหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ (ไทย)มหา.ที.๑๐/๑๒๐/๑๓๘:คลิกดูพระสูตร (บาลี)มหา.ที ๑๐/๑๗๒/๑๓๘:คลิกดูพระสูตร