Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

วิธีแก้อกุศล ทำอย่างไร

User Rating:  / 14
PoorBest 

 

วิดีโอ

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4, mp3

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

วิตักกสัณฐานสูตร

ว่าด้วยอาการแห่งวิตก

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หมั่นประกอบอธิจิต ควรมนสิการถึงนิมิต ๕ ประการ ตามเวลาอันสมควร นิมิต ๕ ประการเป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล เหมือนช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้ผู้ฉลาด ใช้ลิ่มอันเล็ก ตอก โยก ถอน ลิ่มอันใหญ่ออก แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่ออาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศลประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล เมื่อเธอมนสิการนิมิตนั้นอันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล อันประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นว่า วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศล แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษ แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก แม้อย่างนี้ ดังนี้ เมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่มที่ชอบแต่งตัว รู้สึกอึดอัด ระอา เกลียดชังต่อซากงู ซากสุนัข หรือซากมนุษย์ ซึ่งผูกติดอยู่ที่คอ [ของตน] แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศลอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นว่าวิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศล แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโทษ แม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบาก แม้อย่างนี้ ดังนี้ เมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะ อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ ไม่ต้องการจะเห็นรูปที่ผ่านมา เขาพึงหลับตาเสีย หรือเหลียวไปทางอื่นเสีย แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ฯลฯ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนบุรุษพึงเดินเร็ว เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะเดินเร็วทำไมหนอ ถ้ากระไร เราพึงค่อยๆ เดิน เขาก็พึงค่อยๆ เดิน เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราค่อยๆ เดินไปทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรยืน เขาพึงยืน เขาพึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า เราจะยืนทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนั่ง เขาพึงนั่ง เขาพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะนั่งทำไมหนอ ถ้ากระไร เราควรนอน เขาพึงลงนอน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษคนนั้น มาผ่อนทิ้งอิริยาบถหยาบๆ เสีย พึงสำเร็จอิริยาบถละเอียดๆ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้น หากว่าเมื่อเธอมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ฯลฯ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับ จิตด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตด้วยจิตอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนบุรุษผู้มีกำลังมากจับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่าไว้ได้แล้ว บีบ กด เค้นที่ศีรษะ คอ หรือก้านคอไว้ให้แน่น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น หากเมื่อเธอมนสิการถึงสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกแม้เหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตไว้ด้วยจิต เมื่อเธอกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับจิตอยู่ได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นในภายในนั้นแล.

(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๑๖๖-๑๖๙/๒๕๖-๒๖๑. : คลิกดูพระสูตร

 

ปฏิปทาเพื่อบรรลุมรรคผลของคนเจ็บไข้

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้า ธรรม ๕ ประการ ไม่เว้นห่างไปเสียจากคนเจ็บไข้ทุพพลภาพคนใด

ข้อนี้เป็นสิ่งที่เข้าผู้นั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักกระทำให้แจ้งได้ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ ต่อกาลไม่นานเทียว.

ธรรม ๕ ประการนั้นเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุ : -

เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่งามในกาย อยู่

(อสุภานุปสฺสี กาเย วิหรติ)

เป็นผู้มีความสำคัญว่าปฏิกูลในอาหาร อยู่

(อาหาเร ปฏิกฺกูลสญฺญี)

เป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง อยู่

(สพฺพโลเก อนภิรตสญฺญี)

เป็นผู้มีปกติตามเห็นว่าไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวง อยู่

(สพฺพสงฺขาเรสุ อนิจฺจานุปสฺสี)

มรณสัญญาอันเขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน อยู่

(มรณสญฺญา โข ปนสฺส อชฺฌตฺตํ สูปฏฺฐิตา โหติ)

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ ไม่เว้นห่างไปเสียจากคนเจ็บไข้ทุพพลภาพคนใด ข้อนี้เป็นสิ่งที่เขาผู้นั้นพึงหวังได้ คือเขาจักกระทำให้แจ้งได้ ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ ต่อกาลไม่นานเทียว

มรรควิธีที่ง่าย หน้า ๙๒

(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๒๘/๑๒๑ : คลิกดูพระสูตร

 

 

มหาสติปัฏฐานสูตร

ปฏิกูลมนสิการบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้ มีปากสองข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างชนิดคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดีแก้ไถ้นั้นแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดังพรรณนามา   ฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น   เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

ธาตุมนสิการบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้   ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโค แล้ว แบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปรกติ โดย ความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนา มาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

นวสีวถิกาบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มี สีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ   อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ...ฯลฯ ... อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็น   ผูกรัดอยู่ ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็น ผูกรัดอยู่ ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ...ฯลฯ ... อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกมีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์ ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกกองเรียงรายอยู่แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไป ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่าพึงเห็นสรีระ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกผุ เป็นจุณแล้ว เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้ แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ...ฯลฯ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ฯ

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๑๐/๒๑๘-๒๒๑/๒๗๗-๒๘๗ : คลิกดูพระสูตร

 

 

สัญญาสูตรที่ ๒

...ฯลฯ...

ก็ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาหาเรปฏิกูลสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะมีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้ว เพราะอาศัยอะไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวลกลับ งอกลับ ถอยกลับ จากตัณหาในรส ไม่ยื่นไปรับตัณหาในรส อุเบกขา หรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ เปรียบเหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหด งอเข้าหากันไม่คลี่ออก ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมไหลไปในตัณหาในรส หรือความเป็นของไม่ปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาอันเราไม่ได้เจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายของเราไม่มี ผลแห่งภาวนาของเรายังไม่ถึงที่ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงต้องเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าเมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวลกลับ งอกลับ ถอยกลับจากตัณหาในรส ไม่ยื่นไปรับตัณหาในรส อุเบกขาหรือความเป็นของปฏิกูลย่อมตั้งอยู่ไซร้ ภิกษุพึงทราบข้อนั้นดังนี้ว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญาอันเราเจริญแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายของเรามีอยู่ ผลแห่งภาวนาของเราถึงที่แล้ว เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้ทั่วถึงในอาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายอาหาเรปฏิกูลสัญญาอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ

(ภาษาไทย) สตฺตก. อํ. ๒๓/๔๖/๔๖. : คลิกดูพระสูตร

 

 

กฏอิทัปปัจจยตา : หัวใจปฏิจจสมุปบาท.

                                    อิมสฺมึ สติ       อิทํ โหติ

                                   เมื่อสิ่งนี้ มี       สิ่งนี้ ย่อมมี

                                อิมสฺสุปฺปาทา       อิทํ อุปฺปชฺชติ

               เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้       สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.

                                  อิมสฺมึ อสติ       อิทํ น โหติ

                                เมื่อสิ่งนี้ ไม่มี       สิ่งนี้ ย่อมไม่มี

                                อิมสฺส นิโรธา       อิทํ นิรุชฺฌติ

                เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้       สิ่งนี้จึงดับไป.

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๓

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๖๘/๑๕๔. : คลิกดูพระสูตร

 

 

สิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

ครั้งหนึ่ง ที่พระเชตวัน พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ให้ตั้งใจฟังแล้ว ได้ตรัสข้อความเหล่านี้ว่า :-

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดง ปฏิจจสมุปบาท แก่พวกเธอทั้งหลาย, พวกเธอทั้งหลายจงฟัง ปฏิจจสมุปบาท นั้น, จงทำในใจให้สำเร็จประโยชน์, เราจักกล่าว บัดนี้.

ครั้นภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ทูลสนองรับพระพุทธดำรัสแล้ว, พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสถ้อยคำเหล่านี้ว่า :-

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่า ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! :

เพราะมีอวิชชา            เป็นปัจจัย จึงมี      สังขารทั้งหลาย.

เพราะมีสังขาร            เป็นปัจจัย จึงมี      วิญญาณ;

เพราะมีวิญญาณ         เป็นปัจจัย จึงมี      นามรูป;

เพราะมีนามรูป           เป็นปัจจัย จึงมี      สฬายตนะ;

เพราะมีสฬายตนะ       เป็นปัจจัย จึงมี      ผัสสะ;

เพราะมีผัสสะ            เป็นปัจจัย จึงมี      เวทนา;

เพราะมีเวทนา            เป็นปัจจัย จึงมี      ตัณหา;

เพราะมีตัณหา            เป็นปัจจัย จึงมี      อุปาทาน;

เพราะมีอุปาทาน         เป็นปัจจัย จึงมี      ภพ;

เพราะมีภพ               เป็นปัจจัย จึงมี      ชาติ;

เพราะมีชาติ เป็นปัจจัย, ชรามรณ ะ โสกะปริเวทะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท.

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือ แห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว, จึงมีความดับแห่งสังขาร;

เพราะมีความดับ แห่งสังขาร           จึงมีความดับ แห่งวิญญาณ;

เพราะมีความดับ แห่งวิญญาณ        จึงมีความดับ แห่งนามรูป;

เพราะมีความดับ แห่งนามรูป          จึงมีความดับ แห่งสฬายตนะ;

เพราะมีความดับ แห่งสฬายตนะ      จึงมีความดับ แห่งผัสสะ;

เพราะมีความดับ แห่งผัสสะ           จึงมีความดับ แห่งเวทนา;

เพราะมีความดับ แห่งเวทนา           จึงมีความดับ แห่งตัณหา;

เพราะมีความดับ แห่งตัณหา           จึงมีความดับ แห่งอุปาทาน;

เพราะมีความดับ แห่งอุปาทาน        จึงมีความดับ แห่งภพ;

เพราะมีความดับ แห่งภพ               จึงมีความดับ แห่งชาติ;

เพราะมีความดับ แห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้”, ดังนี้.

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๑๑

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖// : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

Today1362
Yesterday1254
This week6167
This month16185
Total2523490

Who Is Online

98
Online