คนเราทำกรรมในรูปแบบใด จะได้รับผลของกรรมในรูปแบบเดียวกันใช่หรือไม่
วิดีโอ
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี
ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุทั้งหลาย ! ใครพึงกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ก็มีไม่ได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ไม่ปรากฏ ส่วนใครกล่าวว่า คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ ช่องทางที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ. ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย ที่บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้ บาปกรรมประมาณน้อย อย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (ให้ผลในภพปัจจุบัน) ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย ธรรมนั้น จึงนำเขาไปนรกได้ ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกายมิได้อบรม มีศีลมิได้อบรม มีจิตมิได้อบรม มีปัญญามิได้อบรม มีคุณความดีน้อย เป็นอัปปาตุมะ (ผู้มีใจคับแคบ ใจหยาบ ใจต่ำทราม) เป็นอัปปทุกขวิหารี (มีปกติอยู่เป็นทุกข์ด้วยเหตุเล็กน้อย คือเป็นคนเจ้าทุกข์) บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลชนิดนี้ทำแล้วบาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้. บาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกัน บุคคลชนิดไรทำแล้ว กรรมนั้นจึงเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีกายได้อบรมแล้ว มีศีลได้อบรมแล้ว มีจิตได้อบรมแล้ว มีปัญญาได้อบรมแล้ว มีคุณความดีมาก เป็นมหาตมะ (ผู้มีใจกว้างขวาง ใจบุญใจสูง) เป็นอัปปมาณวิหารี (มีปกติอยู่ด้วยธรรม อันหาประมาณมิได้คือเป็นคนไม่มีหรือไม่แสดงกิเลส ซึ่งจะเป็นเหตุให้เขาประมาณได้ว่าเป็นคนดีแค่ไหน) บาปกรรมประมาณน้อย อย่างเดียวกันนั้น บุคคลชนิดนี้ทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมาก ต่อไปเลย. ภิกษุทั้งหลาย ! ต่างว่าคนใส่เกลือลงไปในถ้วยน้ำเล็กๆ หนึ่งก้อน ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำอันน้อยในถ้วยน้ำนั้น จะกลายเป็นน้ำเค็มไม่น่าดื่มไป เพราะเกลือก้อนนั้นใช่ไหม ? “เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า !”. เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า น้ำในถ้วยน้ำนั้นมีน้อย มันจึงเค็มได้...เพราะเกลือก้อนนั้น. ต่างว่า คนใส่เกลือก้อนขนาดเดียวกันนั้น ลงไปในแม่น้ำคงคา ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำในแม่น้ำคงคานั้นจะกลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้เพราะเกลือก้อนนั้นหรือ ? “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า !”. เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า น้ำในแม่น้ำคงคามีมาก น้ำนั้นจึงไม่เค็ม...เพราะเกลือก้อนนั้น. ฉันนั้นนั่นแหละ. ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อยบุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย... ภิกษุทั้งหลาย ! คนบางคนย่อมผูกพันเพราะทรัพย์ แม้กึ่งกหาปณะ... แม้ ๑ กหาปณะ... แม้ ๑๐๐ กหาปณะ ส่วนบางคนไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้นคนอย่างไร จึงผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ ฯลฯ คนบางคนในโลกนี้เป็นคนจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย คนอย่างนี้ย่อมผูกพันเพราะทรัพย์แม้กึ่งกหาปณะ. ฯลฯ คนอย่างไรไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้น ? คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมีโภคะมาก คนอย่างนี้ย่อมไม่ผูกพันเพราะทรัพย์เพียงเท่านั้นฉันนั้นนั่นแหละ. ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลบางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำเขาไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บุคคลบางคน ทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมาก ต่อไปเลย... ภิกษุทั้งหลาย ! พรานแกะหรือคนฆ่าแกะ บางคนอาจฆ่า มัด ย่างหรือทำตามประสงค์ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้ บางคนไม่อาจทำอย่างนั้น พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร จึงอาจฆ่า มัด ย่าง หรือทำตามประสงค์งแกะที่ขโมยเขามาได้ ? บางคนเป็นคนยากจน มีสมบัติน้อย มีโภคะน้อย พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ อาจฆ่า ฯลฯ ซึ่งแกะที่ขโมยเขามาได้.พรานแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไร ไม่อาจทำอย่างนั้น ? บางคนเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ พรานแกะหรือ คนฆ่าแกะเช่นนี้ไม่อาจทำอย่างนั้น มีแต่ว่าคนอื่นจะ ประณมมือขอกะเขาว่าท่านผู้นิรทุกข์ ท่านโปรดให้แกะ หรือทรัพย์ค่าซื้อแกะแก่ข้าพเจ้าบ้าง ดังนี้ฉันใด ฉันนั้น เหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย ! บาปกรรมแม้ประมาณน้อยบุคคล บางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นนำเขาไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อยอย่างเดียวกันนั้น บางคนทำแล้วกรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย... ภิกษุทั้งหลาย ! ใครกล่าวว่า คนทำกรรมอย่างใดๆ ย่อมเสวยกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้นๆ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีไม่ได้ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบ ก็ไม่ปรากฏส่วนใครกล่าวว่า คนทำกรรมอันจะพึงให้ผลอย่างใดๆ ย่อมเสวยผลของกรรมนั้นอย่างนั้นๆ ดังนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้ช่องทางที่จะทำที่สุดทุกข์โดยชอบก็ย่อมปรากฏ. (ภาษาไทย) ติก. อํ. ๒๐/๒๓๗-๒๓๙/๕๔๐: คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรกเป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบาก แห่งปาณาติบาตของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อมีอายุสั้น. ภิกษุทั้งหลาย ! อทินนาทาน (ลักทรัพย์) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งอทินนาทานของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่งโภคะ. ภิกษุทั้งหลาย ! กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจาร ของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อก่อเวรด้วยศัตรู. ภิกษุทั้งหลาย ! มุสาวาท (คำเท็จ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งมุสาวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวงคือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง. ภิกษุทั้งหลาย ! ปิสุณวาท (คำยุยงให้แตกกัน)ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งปิสุณวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวงคือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการแตกจากมิตร. ภิกษุทั้งหลาย ! ผรุสวาท (คำหยาบ) ที่เสพทั่วแล้วเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวงคือ วิบากที่เป็นไปเพื่อการได้ฟังเสียงที่ไม่น่าพอใจ. ภิกษุทั้งหลาย ! สัมผัปปลาปะ (คำเพ้อเจ้อ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวงคือ วิบากที่เป็นไปเพื่อวาจาที่ไม่มีใครเชื่อถือ. ภิกษุทั้งหลาย ! การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดดิรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย. วิบากแห่งการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อความเป็นบ้า (ภาษาไทย) อฏฺฐก. อํ ๒๓/ ๑๙๒-๑๙๓/๑๓๐ : คลิกดูพระสูตร