วิญญาณและจิตที่ยังไม่ตายแต่ร่างกายตายแล้วเป็นอย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุ ท. ! ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ จะพึงเบื่อหน่ายได้บ้าง พึงคลายกำหนัดได้บ้าง พึงปล่อยวางได้บ้าง ในกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า การก่อขึ้นก็ดี การสลายลงก็ดี การถูกยึดครองก็ดี การทอดทิ้งซากไว้ก็ดี แห่งกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้ ย่อมปรากฏอยู่. เพราะเหตุนั้น ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ จึงเบื่อหน่ายได้บ้าง จึงคลายกำหนัดได้บ้าง จึงปล่อยวางได้บ้างในกายนั้น. ภิกษุ ท. ! ส่วนที่เรียกกันว่า “จิต” ก็ดี ว่า “มโน” ก็ดี ว่า “วิญญาณ” ก็ดี ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ ไม่อาจจะเบื่อหน่าย ไม่อาจจะคลายกำหนัด ไม่อาจจะปล่อยวาง ซึ่งจิตนั้น. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า สิ่งที่เรียกว่าจิตเป็นต้นนี้ เป็นสิ่งที่ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับได้ถึงทับแล้วด้วยตัณหา ได้ยึดถือแล้วด้วยทิฏฐิโดยความเป็นตัวตน มาตลอดกาลช้านานว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา” ดังนี้ ; เพราะเหตุนั้น ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย ไม่อาจจะคลายกำหนัด ไม่อาจจะปล่อยวาง ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าจิตเป็นต้นนั้น. อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๐๑๔ (ไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๙๓/๒๓๐.คลิกดูพระสูตร (บาลี) นิทาน. สํ. ๑๖/๑๑๔/๒๓๐.คลิกดูพระสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ถ้าว่า บุคคลย่อม ไม่คิดถึงสิ่งใด ด้วย ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใดด้วย และทั้งย่อม ไม่มีใจฝังลงไป (คือไม่มีอนุสัย) ในสิ่งใดด้วย ในกาลใด ในกาลนั้น สิ่งนั้น ย่อมไม่เป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณได้เลย. เมื่ออารมณ์ไม่มี ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมไม่มี เมื่อวิญญาณนั้น ไม่ตั้งขึ้นเฉพาะ ไม่เจริญงอกงามแล้ว การก้าวลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มี เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้ แล. (ไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๖๔/๑๔๘.คลิกดูพระสูตร (บาลี) นิทาน. สํ. ๑๖/๗๙/๑๔๘.คลิกดูพระสูตร
อานนท์ ! อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ (อนุตฺตรา อินฺทฺริยภาวนา) ในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ในกรณีนี้ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ - ไม่เป็นที่ชอบใจ - เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ เกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะเห็นรูปด้วยตา. ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า “อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้ เป็นสิ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง (สงฺขต) เป็นของหยาบๆ (โอฬาริก) เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจสมุปฺปนฺน); แต่มีสิ่งโน้นซึ่งรำงับและประณีต, กล่าวคือ อุเบกขา” ดังนี้. (เมื่อรู้ชัดอย่างนี้) อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ – ไม่เป็นที่ชอบใจ – เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไป, อุเบกขายังคงดำรงอยู่. อานนท์ ! อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ – ไม่เป็นที่ชอบใจ – เป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ อันบังเกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุนั้น ย่อมดับไปเร็วเหมือนการกระพริบตาของคน อุเบกขายังคงเหลืออยู่. อานนท์ ! นี้แล เราเรียกว่า อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ ในอริยวินัยในกรณีแห่งรูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ.
(ไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๔๐๙/๘๕๖:คลิกดูพระสูตร (บาลี) อุปริ. ม. ๑๔/๕๔๑/๘๕๖:คลิกดูพระสูตร