พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน การเดินจงกรมอย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
จงเป็นผู้มีสติคู่กันไปกับสัมปชัญญะ
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติอยู่ อย่างมีสัมปชัญญะ: นี้เป็น อนุสาสนี ของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีสติ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก;
เป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่ง อภิชฌาและโทมนัสในโลก;
เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก;
เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำออกเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก.
ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม, การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ, การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติอยู่ อย่างมีสัมปชัญญะ :
นี้เป็น อนุสาสนีของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย.
ปฐมธรรม หน้า ๒๓๘
(ภาษาไทย) มหา. ที. ๑๐/๘๒/๙๐. : คลิกดูพระสูตร
จิตอธิษฐานการงาน
อานนท์ ! ฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ มีเท่าไร ?
“มี ๕ อย่าง พระเจ้าข้า !”
ดีละ ดีละ อานนท์ ! ถ้าอย่างนั้น
เธอจงทรงจำ ฐานะที่ตั้ง แห่งอนุสสติที่ ๖ นี้ไว้
คือ ภิกษุในกรณีนี้
มีสติ ก้าวไป
มีสติ ถอยกลับ
มีสติ ยืนอยู่
มีสติ นั่งอยู่
มีสติ สำเร็จการนอนอยู่
มีสติ อธิษฐานการงาน
อานนท์ ! นี้เป็นฐานะที่ตั้งแห่งอนุสสติ
ซึ่งเมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ.
ปฐมธรรม หน้า ๖๘
(ภาษาไทย) ฉกฺก. อํ. ๒๒/๒๙๔/๓๐๐. : คลิกดูพระสูตร