Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาคืออย่างไร พระพุทธเจ้าทรงสอนระดับต่างๆ ของศรัทธา และการเข้าไปศรัทธา, บำรุง, ระลึกถึง สมณที่ดี หรือสมณ ที่เลว อย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

 

วิดีโอ 1

บริษัท ดอกบัวคู่ จำกัด

26 ก.ค. 2556

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วิดีโอ 2

สนทนาธรรมค่ำวันเสาร์

2 ก.พ. 2556

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่


พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

การทำกิจของอินทรีย์ ในขณะบรรลุธรรม

ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! สารีบุตร ! อริยสาวกใด มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในตถาคตถึงที่สุดโดยส่วนเดียว, เขาย่อมไม่สงสัยหรือลังเลในตถาคตหรือคำสอนในตถาคต. สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธาแล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย. สารีบุตร ! ความเพียรเช่นนั้นของอริยสาวกนั้นย่อมเป็น วิริยินทรีย์ ของเธอนั้น.

(      สาธุ สาธุ สารีปุตฺต โย โส สารีปุตฺต อริยสาวโก ตถาคเต เอกนฺตคโตอภิปฺปสนฺโน น โส ตถาคเต วา ตถาคตสาสเน วา กงฺเขยฺย วา วิจิกิจฺเฉยฺย วา ฯสทฺธสฺส หิ สารีปุตฺต อริยสาวกสฺส เอตํ ปาฏิกงฺขํ ยํ อารทฺธวิริโย วิหริสฺสติอกุสลานํ ธมฺมานํ ปหานาย กุสลานํ ธมฺมานํ อุปสมฺปทาย ถามวา ทฬฺหปรกฺกโมอนิกฺขิตฺตธุโร กุสเลสุ ธมฺเมสุ ฯ                                              (บาลี) มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๙๙/๑๐๑๗ )

สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่แล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้มีสติ ประกอบพร้อมด้วยสติเป็นเครื่องระวังรักษาตนเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้ระลึกได้ ตามระลึกได้ ซึ่งสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้. สารีบุตร ! ความระลึกเช่นนั้นของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น สตินทรีย์ ของเธอนั้น.

สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา ปรารภความเพียร มีสติเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ แล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้กระทำแล้วได้ซึ่ง โวสสัคคารมณ์ จักได้ซึ่งความตั้งมั่นแห่งจิต กล่าวคือ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว. สารีบุตร ! ความตั้งมั่นแห่งจิตเช่นนั้นของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น สมาธินทรีย์ ของเธอนั้น.

สารีบุตร ! เมื่ออริยสาวกเป็นผู้มีสัทธา ปรารภความเพียร มีสติเข้าไปตั้งไว้มีจิตตั้งมั่นโดยชอบ แล้ว พึงหวังข้อนี้สืบไปว่า เขาจักเป็นผู้รู้ชัดอย่างนี้ว่าสังสารวัฏฏ์ เป็นสิ่งที่มีที่สุดอันบุคคลรู้ไม่ได้, ที่สุดฝ่ายข้างต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก กำลังแล่นไป ท่องเที่ยวไป. ความจางคลายดับไปโดยไม่มีเหลือแห่งอวิชชาอันเป็นกองแห่งความมืดนั้นเสียได้ มีอยู่ : นั่นเป็นบทที่สงบ นั่นเป็นบทที่ประณีต กล่าวคือธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน”. สารีบุตร ! ความรู้ชัดเช่นนั้นของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น ปัญญินทรีย์ ของเธอนั้น.

สารีบุตร ! อริยสาวกนั้นนั่นแหละ ตั้งไว้แล้ว ตั้งไว้แล้ว (ซึ่งวิริยะ) ด้วยอาการอย่างนี้, ระลึกแล้ว ระลึกแล้ว (ด้วยสติ) ด้วยอาการอย่างนี้, ตั้งมั่นแล้ว ตั้งมั่นแล้ว (ด้วยสมาธิ) ด้วยอาการอย่างนี้, รู้ชัดแล้ว รู้ชัดแล้ว (ด้วยปัญญา) ด้วยอาการอย่างนี้, เขาย่อมเชื่ออย่างยิ่ง อย่างนี้ว่าธรรมเหล่าใด เป็นธรรมที่เราเคยฟังแล้วในกาลก่อน, ในบัดนี้ เราถูกต้องธรรมเหล่านั้นด้วยนามกายแล้วแลอยู่ ด้วย และแทงตลอดธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาแล้วเห็นอยู่ด้วยดังนี้. สารีบุตร ! ความเชื่อเช่นนั้นของอริยสาวกนั้น ย่อมเป็น สัทธินทรีย์ ของเธอนั้น, ดังนี้แล.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า ๑๔๒๑

(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๒๔๖๒๔๗/๑๐๑๗๑๐๒๒. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 โคธาสูตร

ปัญหาเกี่ยวกับการเป็นพระโสดาบัน

กบิลพัสดุ์นิทาน. ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปหาเจ้าศากยะ พระนามว่าโคธา ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า

ดูกรโคธา พระองค์ย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกตํ่าเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า ? เจ้าศากยะพระนามว่า โคธาตรัสตอบว่า ดูกรมหานาม หม่อมฉันย่อมทราบ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน... ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน ? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม... ในพระสงฆ. .. หม่อมฉันย่อมทราบ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกตํ่าเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ ในเบื้องหน้า.

ดูกรมหานาม ก็พระองค์เล่า ย่อมทรงทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็น พระโสดาบัน... ?

. ดูกรโคธา หม่อมฉันย่อมทราบ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน... ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ? อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ

ดูกรโคธา หม่อมฉันย่อมทราบ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน... .

โค. จงรอก่อน มหานาม จงรอก่อน มหานาม พระผู้มีพระภาคเท่านั้นจะพึงทรงทราบเรื่องนี้ ว่าบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้หรือมิใช่ ที่เป็นพระโสดาบัน ?

. ดูกรโคธา เรามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคกันเถิด แล้วจักกราบทูลเนื้อความนี้แก่พระองค์.

ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานาม และเจ้าศากยะพระนามว่าโคธา เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เจ้าศากยะพระนามว่า มหานามได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเข้าไปหาเจ้าศากยะพระนามว่าโคธา ได้กล่าวถามว่า ดูกรโคธา พระองค์ย่อมทรงทราบ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็น พระโสดาบัน... ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันกล่าวถามอย่างนี้แล้ว เจ้าโคธาศากยะได้ตรัสตอบหม่อมฉันว่า ดูกรมหานาม หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ว่าเป็น พระโสดาบัน... ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน ? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... หม่อมฉันย่อมทราบบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน... ก็พระองค์เล่า ย่อมทรงทราบ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมกี่ประการ ว่าเป็น พระโสดาบัน... ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเจ้า โคธาศากยะตรัสถามอย่างนี้แล้ว หม่อมฉันตอบว่า ดูกรโคธา หม่อมฉันย่อมทราบ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ว่าเป็นพระโสดาบัน... ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน ? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์... ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด... เป็นไปเพื่อสมาธิ หม่อมฉันย่อมทราบ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล ว่าเป็นพระโสดาบัน... .

เมื่อหม่อมฉันกล่าวตอบอย่างนี้แล้ว เจ้าโคธาศากยะได้ตรัสกะหม่อมฉันว่า จงรอก่อน มหานาม จงรอก่อน มหานาม พระผู้มีพระภาคเท่านั้นจะพึงทรงทราบเรื่องนี้ว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้หรือมิใช่ ที่เป็นพระโสดาบัน ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความบังเกิดแห่งเหตุเฉพาะบางประการ พึงบังเกิดขึ้นได้ในธรรมวินัยนี้ คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ (กล่าว) ฝ่ายใดพระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันพึงเป็นฝ่ายนั้น ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้.

...ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ (กล่าว) ฝ่ายใดพระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันเป็นฝ่ายนั้น... .

...ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ และอุบาสกทั้งหลาย (กล่าว) ฝ่ายใดพระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันเป็นฝ่ายนั้น... .

...ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็นภิกษุสงฆภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกทั้งหลาย และอุบาสิกาทั้งหลาย (กล่าว) ฝ่ายใดพระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉันเป็นฝ่ายนั้น... .

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความบังเกิดแห่งเหตุเฉพาะบางประการ พึงบังเกิดขึ้นได้ในธรรมวินัยนี้ คือ ฝ่ายหนึ่งเป็นพระผู้มีพระภาค (ตรัส) และฝ่ายหนึ่งเป็น ภิกษุสงฆภิกษุณีสงฆอุบาสกทั้งหลาย และอุบาสิกาทั้งหลาย โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณเทวดา และมนุษย (กล่าว) ฝ่ายใด พระผู้มีพระภาคตรัส หม่อมฉัน พึงเป็นฝ่ายนั้น ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันว่า เป็นผู้เลื่อมใสอย่างนี้.

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร ผู้มีวาทะอย่างนี้ ย่อมตรัสอะไรกะพระเจ้ามหานามศากยราช

เจ้าโคธาศากยะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้มีวาทะอย่างนี้ มิได้พูดอะไรกะพระเจ้ามหานามศากยราช นอกจากกัลยาณธรรม นอกจากกุศล.

(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๘๘๙ - ๘๙๕/๑๕๑๓๑๕๒๖. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 สุภูติสูตร

     ครั้งนั้นแล ท่านพระสุภูติกับสัทธภิกษุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสุภูติว่า ดูกรสุภูติ ภิกษุนี้ชื่อไร ท่านพระสุภูติกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ชื่อว่าสัทธะ เป็นบุตรอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พระเจ้าข้า ฯ

. ดูกรสุภูติ ก็สัทธภิกษุนี้เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ย่อมเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายแลหรือ ฯ

สุ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควร ทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเถิด ข้าพระองค์จักทราบบัดนี้ว่า ภิกษุนี้จะเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือไม่ ฯ

. ดูกรสุภูติ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ท่านพระสุภูติทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสุภูติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับอนุศาสนีย์โดยเคารพ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทนเป็นผู้รับอนุศาสนีย์โดยเคารพแม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในกรณียกิจทั้งสูงและต่ำของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น อาจทำ อาจจัดได้ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ฯลฯ อาจทำ อาจจัดได้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม กล่าวคำเป็นที่รัก เป็นผู้มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้กล่าวคำอันเป็นที่รัก มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุปรารภความเพียร ฯลฯ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน(ทั้ง) ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ดูกรสุภูติข้อที่ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน(ทั้ง) ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้างยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้นมีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น เสวยสุขมีอาหารอย่างนั้น เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป จึงต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระสุภูติ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธา ที่พระผู้มีพระภาคตรัสนี้นั้น มีพร้อมอยู่แก่ภิกษุนี้ และภิกษุนี้ย่อมเห็นพร้อมในลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้เป็นเป็นผู้มีศีล ... สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นผู้มีสุตะมาก ... ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ภิกษุนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ภิกษุนี้เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับเอาอนุศาสนีย์โดยเคารพ ภิกษุนี้เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในกรณียกิจทั้งหลาย ทั้งสูงและต่ำ ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น อาจทำ อาจจัดได้ ภิกษุนี้เป็นผู้ใคร่ในธรรม กล่าวคำอันเป็นที่รัก เป็นผู้มีความปราโมทย์ยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ภิกษุนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ภิกษุนี้เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน(ทั้ง) ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ภิกษุนี้ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้างสองชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุนี้พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ เธอย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุนี้ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธา ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วนี้ มีพร้อมอยู่แก่ภิกษุนี้ อนึ่ง ภิกษุนี้จักปรากฏในลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้พระเจ้าข้า ฯ

. ดีละๆ สุภูติ ดูกรสุภูติ ถ้าเช่นนั้นเธอพึงอยู่กับสัทธภิกษุนี้เถิด ดูกรสุภูติ อนึ่ง เธอพึงหวังจะมาเยี่ยมเยือนตถาคตในกาลใด ในกาลนั้น เธอกับสัทธภิกษุนี้พึงเข้ามาเยี่ยมเยือนตถาคตเถิด ฯ

(ภาษาไทย) เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๑๒ – ๓๑๖/๒๒๑. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 อนุตตริยสูตร

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ ทัสสนานุตตริยะ ๑ สวนานุตตริยะ ๑ ลาภานุตตริยะ ๑ สิกขานุตตริยะ ๑ ปาริจริยานุตตริยะ ๑ อนุสสตานุตตริยะ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทัสสนานุตตริยะเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไปเพื่อดูช้างแก้วบ้าง ม้าแก้วบ้าง แก้วมณีบ้าง ของใหญ่ของเล็ก หรือสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทัสสนะนั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าทัสสนะนี้นั้นแลเป็นกิจเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกพระตถาคต การเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่าการเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเห็นพระตถาคต หรือสาวกของพระตถาคต นี้เราเรียกว่า ทัสสนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะเป็นดังนี้ ฯ

ก็สวนานุตตริยะเป็นอย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลงขับบ้าง หรือเสียงสูงๆต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิดดูกรภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้นั้นเป็นกิจเลว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การฟังนี้ยอดเยี่ยมกว่าการฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ไปเพื่อฟังธรรมของพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต นี้เราเรียกว่า สวนานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ลาภานุตตริยะเป็นอย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ลาภคือบุตรบ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้าง น้อยบ้าง หรือได้ศรัทธาในสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภนี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่า ลาภนี้นั้นเป็นของเลว ... ดูกรภิกษุทั้งหลายส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่งย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การได้นี้ยอดเยี่ยมกว่าการได้ทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้ศรัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต นี้เราเรียกว่า ลาภานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็สิกขานุตตริยะเป็นอย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง ดาบบ้าง หรือศึกษาศิลปชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อสมณะ หรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิดดูกรภิกษุทั้งหลาย การศึกษานี้มีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการศึกษานั้นเป็นการศึกษาที่เลว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว การศึกษานี้ยอดเยี่ยมกว่าการศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ... เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งหมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้เราเรียกว่า สิกขานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริอะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่า การบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหวมีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การบำรุงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ...เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต นี้เราเรียกว่า ปาริจริยานุตตริยะ ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ สิกขานุตตริยะ ปาริจริยานุตตริยะ เป็นดังนี้ ฯ

ก็อนุสสตานุตตริยะเป็นอย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง ภริยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือการได้มากน้อย ระลึกถึงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การระลึกนี้มีอยู่เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการระลึกนี้นั้นเป็นกิจเลว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่งย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต การระลึกถึงนี้ยอดเยี่ยมกว่าการระลึกถึงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีศรัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต นี้เราเรียกว่า อนุสสตานุตตริยะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุตตริยะ ๖ ประการนี้แล ฯ ภิกษุเหล่าใดได้ทัสสนานุตตริยะ สวนานุตตริยะ ลาภานุตตริยะ ยินดีในสิกขานุตตริยะ เข้าไปตั้งการบำรุงเจริญอนุสสติที่ประกอบด้วยวิเวกเป็นแดนเกษม ให้ถึงอมตธรรม ผู้บันเทิงในความไม่ประมาท มีปัญญารักษาตน สำรวมในศีล ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมรู้ชัดซึ่งที่เป็นที่ดับทุกข์ โดยกาลอันควร ฯ

(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๙๖ – ๒๙๙/๓๐๑. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 
Today1440
Yesterday1254
This week6245
This month16263
Total2523568

Who Is Online

72
Online