Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ ที่มาจากปกหนังสือภพภูมิ หมายความว่าอย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ

บริษัทปตท.จำกัด มหาชน วันที่ 12 ธ.ค. 2555

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

อุปมาการเห็นคต

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่หลุมถ่านเพลิงนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก โดยสมัยต่อมา เราได้เห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนหลุมคูถ ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยคูถ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่หลุมคูถนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมคูถนี้ทีเดียวโดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมคูถนั้นเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด.

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงกำเนิดเดรัจฉาน โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้ว ซึ่งกำเนิดเดรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันไม่เสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันเบาบาง มีเงาอันโปร่ง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงต้นไม้นี้ทีเดียวโดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่งหรือนอนในเงาต้นไม้นั้น เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด.

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงเปรตวิสัย โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งเปรตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันเสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันหนา มีเงาหนาทึบ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุ เห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนี้ จักมาถึงต้นไม้นี้ทีเดียวโดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่งหรือนอนในเงาต้นไม้นั้น เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด.

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักบังเกิดในหมู่มนุษย์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก บังเกิดแล้วในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนปราสาท ในปราสาทนั้น มีเรือนยอด ซึ่งฉาบทาแล้ว ทั้งภายในและภายนอก หาช่องลมมิได้ มีวงกรอบอันสนิท มีบานประตู และหน้าต่างอันปิดสนิทดี ในเรือนยอดนั้น มีบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าโกเชาว์ขนยาว ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยขนเจียมเป็นแผ่นทึบ มีเครื่องลาดอย่างดี ทำด้วยหนังชะมด มีเพดานกั้นในเบื้องบน มีหมอนแดงวาง ณ ข้างทั้งสอง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่ปราสาทนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงปราสาทนี้ทีเดียวโดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่งหรือนอนบนบัลลังก์ ในเรือนยอด ณ ปราสาทนั้น เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้ว ซึ่งสุคติโลกสวรรค์ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

สารีบุตร ! เปรียบเหมือนสระโบกขรณี มีนํ้าอันเย็น ใสสะอาด มีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ และในที่ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้น มีแนวป่าอันทึบ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย มุ่งมาสู่สระโบกขรณีนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงสระโบกขรณีนี้ทีเดียวโดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาลงสู่สระโบกขรณีนั้น อาบและดื่ม ระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความร้อนหมดแล้ว ขึ้นไปนั่งหรือนอนในแนวป่านั้น เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด.

สารีบุตร ! เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจฉันนั้นเหมือนกันว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุรุษนั้น กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว.

พุทธวจน ภพภูมิ หน้า ๓๔

(ภาษาไทย) มู. . ๑๒/๑๐๒-๑๐๖/๑๗๐-๑๗๖. : คลิกดูพระสูตร 

 

กฏอิทัปปัจจยตา : หัวใจปฏิจจสมุปบาท.

                              อิมสฺมึ สติ      อิทํ โหติ

                             เมื่อสิ่งนี้ มี      สิ่งนี้ ย่อมมี

                          อิมสฺสุปฺปาทา      อิทํ อุปฺปชฺชติ

          เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้      สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.

                            อิมสฺมึ อสติ      อิทํ น โหติ

                          เมื่อสิ่งนี้ ไม่มี      สิ่งนี้ ย่อมไม่มี

                          อิมสฺส นิโรธา      อิทํ นิรุชฺฌติ

           เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้      สิ่งนี้จึงดับไป.

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๓

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๖๘/๑๕๔. : คลิกดูพระสูตร 

Today136
Yesterday867
This week3936
This month15316
Total2495815

Who Is Online

7
Online