เราจะปิดอายตนไม่รับผัสสะเหมือนเต่าหดอวัยวะไว้ในกระดองตามอุปมาของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องเคยมีมาแต่ก่อน เต่าตัวหนึ่ง เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็น
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็นเช่นเดียวกัน.
เต่าตัวนี้ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากินแต่ไกล, ครั้นแล้ว จึงหดอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้าเข้าในกระดองของตนเสีย เป็นผู้ขวนขวายน้อยนิ่งอยู่.
แม้สุนัขจิ้งจอกก็ได้เห็นเต่าตัวที่เที่ยวหากินนั้นแต่ไกลเหมือนกัน, ครั้นแล้ว จึงเดินตรงเข้าไปที่เต่า คอยช่องอยู่ว่า “เมื่อไรหนอ เต่าจักโผล่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออก ในบรรดาอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้า แล้วจักกัดอวัยวะส่วนนั้นคร่าเอาออกมากินเสีย” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ตลอดเวลาที่เต่าไม่โผล่อวัยวะออกมา สุนัขจิ้งจอกก็ไม่ได้โอกาส ต้องหลีกไปเอง;
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น; มารผู้ใจบาปก็คอยช่อง ต่อพวกเธอทั้งหลายติดต่อไม่ขาดระยะอยู่เหมือนกันว่า “ถ้าอย่างไร เราคงได้ช่อง ไม่ทางตา ก็ทางหู หรือทางจมูกหรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ”, ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด; ได้เห็นรูปด้วยตา, ได้ฟังเสียงด้วยหู, ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก, ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น, ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย, หรือได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว จงอย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด, อย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการแยกถือเป็นส่วนๆ เลย, สิ่งที่เป็นบาปอกุศลคือ อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามบุคคล ผู้ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์เหล่าใดเป็นเหตุ. พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติเพื่อการปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้, พวกเธอทั้งหลายจงรักษา และถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใด พวกเธอทั้งหลาย จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่; ในกาลนั้น มารผู้ใจบาป จักไม่ได้ช่องแม้จากพวกเธอทั้งหลาย และจักต้องหลีกไปเอง, เหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่องจากเต่าก็หลีกไปเอง ฉะนั้น.
“เต่า หดอวัยวะไว้ในกระดอง ฉันใด,
ภิกษุ พึงตั้งมโนวิตก (ความตริตรึกทางใจ) ไว้ในกระดอง ฉันนั้น.
เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัยได้, ไม่เบียดเบียนผู้อื่น,
ไม่กล่าวร้ายต่อใครทั้งหมด, เป็นผู้ดับสนิทแล้ว” ดังนี้แล.
อินทรีย์สังวร หน้า ๗๐-๗๒
(ภาษาไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๑๙๗/๓๒๐. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงู มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระเข้...จับนก...จับสุนัขบ้าน...จับสุนัขจิ้งจอก...จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ แล้วผูกรวมเข้าด้วยกัน เป็นปมเดียวในท่ามกลาง ปล่อยแล้ว.
ภิกษุทั้งหลาย ! ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นทั้งหกชนิด มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ : งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ, สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, ลิงก็จะไปป่า. ครั้นเหนื่อยล้ากันทั้งหกสัตว์แล้ว สัตว์ใดมีกำลังกว่า สัตว์นอกนั้นก็ต้องถูกลากติดตามไป ตามอำนาจของสัตว์นั้น ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุใดไม่อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ
รูป ที่ไม่น่าพอใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
หู ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง
เสียง ที่ไม่น่าฟังก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
จมูก ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม
กลิ่น ที่ไม่น่าสูดดมก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
ลิ้น ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ
รส ที่ไม่ชอบใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
กาย ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ
สัมผัส ที่ไม่ยั่วยวนใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
และใจ ก็จะฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ
ธรรมารมณ์ ที่ไม่ถูกใจก็กลายเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ลักษณะของผู้ตั้งจิตในกายคตาสติ (จิตที่มีเสาหลักมั่นคง)
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง จับจระเข้...จับนก...จับสุนัขบ้าน...จับสุนัขจิ้งจอก...และจับลิงมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน หรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย ! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ : งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงน้ำ นกจะบินขึ้นไปในอากาศ สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า ลิงก็จะไปป่า
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไป ยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลัก นั้นเอง ข้อนี้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุใดได้อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ
รูป ที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง
เสียง ที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม
กลิ่น ที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ
รส ที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ
สัมผัส ที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ
ธรรมารมณ์ ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! คำว่า “เสาเขื่อน หรือเสาหลัก” นี้ เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่ง กายคตาสติ
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
“กายคตาสติของเราทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก
กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้ เพียรตั้งไว้เนืองๆ
เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ด้วยอาการอย่างนี้แล.
อินทรีย์สังวร หน้า ๖๕-๖๙
(ภาษาไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๒๑๓,๒๑๔/๓๔๘,๓๕๐. : คลิกดูพระสูตร