Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

วิธีตรวจสอบความพอใจในกามคุณ ๕ ว่ายังมีอยู่กับเราหรือไม่ คืออย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

เสียง


แสดงธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

 วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่


พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

อานนท์ ! กามคุณ  ๕ อย่างเหล่านี้   มีอยู่. ห้าอย่างอย่างไรเล่า ? ห้าอย่างคือ 

.... รูป ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ

.... เสียง ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ

.... กลิ่น ท. อันพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ

.... รส ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา

.... โผฏฐัพพะ ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยกายะ

อันเป็นสิ่งที่ปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล คือ กามคุณ ๕ อย่าง; ซึ่งในกามคุณเหล่านั้นภิกษุพึง พิจารณาจิตของตนอยู่เนืองๆว่า มีอยู่แก่เราหรือไม่หนอ ที่ความกำเริบแห่งจิต เกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้. 

อานนท์ ! ถ้าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่  ย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า  มีอยู่แก่เราแล ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง”   ดังนี้

อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้  ภิกษุนั้น ย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า ฉันทราคะในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ เรายังละไม่ได้ดังนี้ :  ในกรณีอย่างนี้  นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งฉันทะราคะในกามคุณที่ตนยังละมันไม่ได้นั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบเจ็ด)

อานนท์ !      แต่ถ้าว่าภิกษุ    เมื่อพิจารณาอยู่    ย่อม  รู้ชัดอย่างนี้ว่า ไม่มีอยู่แก่เราเลย ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้า หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้;

อานนท์ !    เมื่อเป็นอย่างนี้    ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า ฉันทราคะในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้  เราละได้แล้วดังนี้;   ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งฉันทราคะในกามคุณห้าที่ตนละได้แล้วนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบแปด).

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๑๙๖-๑๑๙๗

 (ภาษาไทย)  อุปริ. ม. ๑๔/๑๘๙/๓๔๗.  : คลิกดูพระสูตร

 

 

วัปปะ ! เมื่อภิกษุมีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว สตตวิหารธรรมทั้งหลาย  ๖ ประการ(ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นนิตย์ ๖ ประการ) ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นถึงทับแล้ว : ภิกษุนั้นเห็น รูปด้วยจักษุแล้ว ไม่เป็นผู้ดีใจ ไม่เป็นผู้เสียใจ  เป็นผู้อยู่อุเบกขา  มีสติสัมปชัญญะอยู่ ; ฟังเสียงด้วยโสตะแล้ว....; รู้สึกกลิ่นด้วยฆานะแล้ว....; ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว....; ถูกต้องสัมผัสผิวหนังด้วยผิวกายแล้ว....; รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ไม่เป็นผู้ดีใจ ไม่เป็นผู้เสียใจ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่.   

ภิกษุนั้น  เมื่อเสวยซึ่งเวทนามีกายเป็นที่สุดรอบอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยซึ่งเวทนามีกายเป็นที่สุดรอบอยู่ เมื่อเสวยซึ่งเวทนามีชีวิตเป็นที่สุดรอบอยู่ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยซึ่งเวทนามีชีวิตเป็นที่สุดรอบอยู่ เธอย่อมรู้ชัดว่าเวทนาทั้งปวง อันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกายดังนี้.

วัปปะ ! เปรียบเหมือนเงาย่อมปรากฏเพราะอาศัยเสาสดมภ์ (ถูณะ). ลำดับนั้นบุรุษถือเอามาซึ่งจอบและตะกร้า เขาตัดซึ่งเสานั้นที่โคน, ครั้นตัดที่โคนแล้ว  พึงขุด, ครั้นขุดแล้ว พึงรื้อซึ่งรากทั้งหลาย ไม่ให้เหลือแม้ที่สุดสักแต่ว่าเท่าต้นแฝก. บุรุษนั้น พึงตัดซึ่งเสานั้นให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ; ครั้นตัดซึ่งเสานั้นให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่แล้ว พึงผ่า ;   ครั้นผ่าแล้ว พึงจักให้เป็นซีกเล็ก ๆ ;   ครั้นจักให้เป็นซีกเล็ก ๆ แล้ว พึงผึ่งให้แห้งในลมและแดด ; ครั้นผึ่งให้แห้งในลมและแดดแล้ว  พึงเผาด้วยไฟ ครั้นเผาด้วยไฟแล้ว  พึงทำให้เป็นผงเถ้าถ่าน ; ครั้นทำให้เป็นผงเถ้าถ่านแล้ว  พึงโปรยไปในกระแสลมอันพัดจัด หรือว่าพึงให้ลอยไปในกระแสอันเชี่ยวแห่งแม่น้ำ.

วัปปะ !     เงาอันใดที่อาศัยเสาสดมภ์, เงาอันนั้นย่อมถึงซึ่งความมีมูลเหตุอันขาดแล้ว ถูกกระทำให้เหมือนตาลมีขั้วยอดอันด้วน กระทำให้ถึงความไม่มีอยู่  มีอันไม่บังเกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา, นี้ฉันใด ;

วัปปะ ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น กล่าวคือ เมื่อภิกษุจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว สตตวิหารธรรม ท.  ๖  ประการ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นถึงทับแล้ว : ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่เป็นผู้ดีใจ ไม่เป็นผู้เสียใจ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ; ฟังเสียงด้วยโสตะแล้ว....;   รู้สึกกลิ่นด้วยฆานะแล้ว....;  ลิ้มรส  ด้วยชิวหาแล้ว....ถูกต้องสัมผัสผิวหนังด้วยกายะแล้ว....; รู้สึกธัมมารมณ์ด้วยมโนแล้ว    ไม่เป็นผู้ดีใจ ไม่เป็นผู้เสียใจ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่.

 ภิกษุนั้น  เมื่อเสวยซึ่งเวทนามีกายเป็นที่สุดรอบอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยซึ่งเวทนามีกายเป็นที่สุดรอบอยู่ เมื่อเสวยซึ่งเวทนามีชีวิตเป็นที่สุดรอบอยู่  ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยซึ่งเวทนามีชีวิตเป็นที่สุดรอบอยู่ ; เธอย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหลายทั้งปวง อันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกายดังนี้.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑หน้า ๔๔๘-๔๕๐

(ภาษาไทย)  จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๘๙/๑๙๕..  : คลิกดูพระสูตร

 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวอยู่ว่า ภพภพดังนี้
ภพ ย่อมมีด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า!

อานนท์ ! ถ้ากรรมมีกามธาตุเป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้
กามภพจะพึงปรากฏได้แลหรือ ?

หามิได้ พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นเมล็ดพืช ตัณหาเป็นยาง (สำหรับหล่อเลี้ยงเชื้องอก) ของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นทราม (กามธาตุ) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! ถ้ากรรมมีรูปธาตุเป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ รูปภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?

หามิได้ พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นเมล็ดพืช ตัณหาเป็นยางของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นกลาง (รูปธาตุ) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! ถ้ากรรมมีอรูปธาตุเป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ อรูปภพ
จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?

หามิได้ พระเจ้าข้า !

อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นเมล็ดพืช ตัณหาเป็นยางของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นประณีต (อรูปธาตุ) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.

อานนท์ ! ภพ ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.

ภพภูมิ หน้า  ๔

 (ภาษาไทย)  ติก. อํ. ๒๐/๒๑๑/๕๑๖. : คลิกดูพระสูตร

 

(ทรงแสดงด้วยอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งนติ)

ภิกษุ ท. ! ถ้าบุคคลย่อมคิด (เจเตติ) ถึงสิ่งใดอยู่, ย่อมดำริ (ปกปฺเปติ) ถึงสิ่งใดอยู่, และย่อมมีใจฝังลงไป (อนุเสติ) ในสิ่งใดอยู่ สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. 

เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณย่อมมี;

เมื่อวิญญาณนั้น ตั้งขึ้นเฉพาะ เจริญงอกงามแล้ว, เครื่องนำไปสู่ภพใหม่(นติ - ตัณหา)ย่อมมี;

เมื่อเครื่องนำไปสู่ภพใหม่ มี, การมาการไป (อาคติคติ) ย่อมมี

เมื่อการมาการไป มี, การเคลื่อนและการบังเกิด (จุติ + อุปะปาตะ) ย่อมมี;

เมื่อมีการเคลื่อนและการบังเกิด มี, ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.

ภิกษุ ท. ! ถ้าบุคคลย่อมไม่คิดถึงสิ่งใด, ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใด, แต่เขายังมีใจปักลงไปในสิ่งใดอยู่ ; สิ่งนั้น ย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณ. 

เมื่ออารมณ์ มีอยู่, ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ ย่อมมี;

เมื่อวิญญาณนั้นตั้งขึ้นเฉพาะเจริญงอกงามแล้ว, เครื่องนำไปสู่ภพใหม่ (นติ - ตัณหา) ย่อมมี;

เมื่อเครื่องนำไปสู่ภพใหม่ มี, การมาการไป (อาคติคติ) ย่อมมี

เมื่อการมาการไปมี, การเคลื่อนและการบังเกิด (จุติ+อุปะปาตะ) ย่อมมี;

เมื่อการเคลื่อนและการบังเกิดมี, ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงเกิดขึ้นครบถ้วนต่อไป ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้  ย่อมมี  ด้วยอาการอย่างนี้.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๓๔๔

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๖๕/๑๔๙๑๙. : คลิกดูพระสูตร

 

ภิกษุทั้งหลาย. ! เมื่อใดอวิชชาของภิกษุละขาดไป วิชชาเกิดขึ้นแล้ว;

เธอนั้น เพราะอวิชชาจางหายไป   เพราะวิชชาเกิดขึ้นแทน ย่อมไม่ปรุงเครื่องปรุงอันเป็นบุญนั่นเทียว, ย่อมไม่ปรุงเครื่องปรุงอันมิใช่บุญ, ย่อมไม่ปรุงเครื่อง ปรุงอันเป็นอเนญชา.

เธอนั้น เมื่อไม่ปรุง เมื่อไม่ก่อ ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งไรๆในโลก. เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่เสียวสะดุ้ง. เมื่อไม่เสียวสะดุ้ง ย่อมปรินิพพาน.

เธอนั้น ย่อมรู้ชัดว่า  ชาติสิ้นสุดแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความหลุดพ้นเช่นนี้มิได้มีอีกดังนี้ แล.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๔๓๙-๔๔๐

(ภาษาไทย)นิทาน. สํ. ๑๖/๘๑/๑๙๒. : คลิกดูพระสูตร

 

อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา

อนึ่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะเจริญบริบูรณ์ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ดังพรรณนาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง  พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือ ความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียง สักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้นเธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัย อยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

(ภาษาไทย) มหา. ที. ๑๐/๒๒๕/๒๙๓. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

Today36
Yesterday1124
This week3335
This month1864
Total2532727

Who Is Online

21
Online