Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

การฟังธรรมทำให้ไปสวรรค์ได้หรือไม่ และขณะฟังธรรมจะเห็นเกิด-ดับได้อย่างไร

 

วิดีโอ

 

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : วิดีโอ

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ เหตุ แห่งวิมุตติ ๕ ประการเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่พระศาสดาหรือเพื่อน  สพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูแสดงแก่เธอ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ก็แต่ว่าภิกษุย่อมแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรมในธรรมนั้น ที่ภิกษุแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ...เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๒ ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียน มาโดยพิสดาร เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๓ ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมา โดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่ภิกษุตรึกตรองใคร่ครวญธรรมตามที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมย่อมเกิดปราโมทย์ ... เมื่อมีสุข จิตย่อม ตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๔ ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ภิกษุก็ไม่ได้สาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ ก็แต่ว่า สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง เธอเล่าเรียนมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น ตามที่เธอเล่าเรียนสมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๕ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้นอาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ ฯ

                                                                              (ไทย) ปญจก. อํ.  ๒๒ / ๒๐ / ๒๖ คลิกพระสูตร   

(บาลี) ปญจก. อํ.  ๒๒ / ๒ / ๒๖ คลิกพระสูตร  

 

 

ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่บางครั้งพระธรรมเทศนาแจ่มแจ้งกะพระตถาคต บางครั้งไม่แจ่มแจ้ง ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่เข้าไปหาเพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและเข้าไปหา เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

ดูกรปุณณิยะ ภิกษุผู้มีศรัทธาและเข้าไปหา แต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ...และเข้าไปนั่งใกล้ เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

ดูกรปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และเข้าไปนั่งใกล้ แต่ไม่สอบถามเพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และสอบถาม เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

ดูกรปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และสอบถาม แต่ไม่เงี่ยโสตลงสดับธรรมเพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และเงี่ยโสตลงสดับธรรม เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

ดูกรปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และเงี่ยโสตลงสดับธรรม แต่ฟังธรรมแล้วไม่ทรงจำไว้เพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และฟังแล้วทรงจำไว้ เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

ดูกรปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และฟังแล้วทรงจำไว้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่ง ธรรมที่ทรงจำไว้เพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็น ผู้มีศรัทธา ... และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

ดูกรปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แต่ไม่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเพียงใด ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมไม่แจ่มแจ้งเพียงนั้น แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ... และรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้น ธรรมเทศนาของตถาคตย่อมแจ่มแจ้ง

ดูกรปุณณิยะ ธรรมเทศนาของตถาคตผู้มีปฏิญาณ โดยส่วนเดียวอันประกอบด้วยธรรมเหล่านี้แล ย่อมแจ่มแจ้ง ฯ

                                                                       

(ไทย) อฏฺฐก. อํ.  ๒๓ / ๒๗๒ / ๑๘๘ คลิกพระสูตร  

(บาลี) อฏฺฐก. อํ.  ๒๓ / ๓๔๙ / ๑๘๘ คลิกพระสูตร  

   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Today1353
Yesterday1254
This week6158
This month16176
Total2523481

Who Is Online

59
Online