Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

การทำบุญต้องทำอย่างไร จึงจะได้บุญ

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ


บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4


พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตะวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า

ดูกรคฤหบดีในตระกูลของท่าน ยังให้ทานอยู่บ้างหรือหนอ ฯ

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ แต่ทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าว มีน้ำผักดองเป็นที่สอง ฯ

ดูกรคฤหบดี คนให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ ย่อมบังเกิดผลในตระกูลใดๆในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตรภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ส่งจิตไปที่อื่นเสีย  ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพ ฯ

ดูกรคฤหบดี บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภค อาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ ฯ

ดูกรคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาดถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทองให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด จะป่วยกล่าวไปไยถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน ไหลไปเหมือนแม่น้ำ

ดูกรคฤหบดี ก็ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นไม่ใช่เวลามะพราหมณ์ผู้ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น ดูกรคฤหบดี แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราเป็นเวลามะพราหมณ์ เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้นไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคลใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด

ดูกรคฤหบดี ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามะพราหมณ์ให้แล้ว

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค

การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ

ดูกรคฤหบดีทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ... การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต .

.. และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ฯ

 

ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๑๒๔-๑๒๙

(ภาษาไทย)  นวก. อํ. ๒๓/๓๑๕-๓๑๗/๒๒๔. : คลิกดูพระสูตร

 

ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชผู้มีศีล เข้าไปสู่สกุลใด มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมากด้วยฐานะ ๕ อย่าง.

ฐานะ ๕ อย่าง อะไรบ้างเล่า ? ๕ อย่าง คือ :-

(๑) ในสมัยใด จิตของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเลื่อมใส เพราะได้เห็นนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสวรรค์.

(๒) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย พากันต้อนรับกราบไหว้ ให้อาสนะแก่นักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการเกิดในสกุลสูง.

(๓) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย กำจัดมลทินคือความตระหนี่เสียได้ในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้เกียรติศักดิ์อันใหญ่.

(๔) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมแจกจ่ายทานตามสติ ตามกำลังในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้โภคทรัพย์ใหญ่.

(๕) ในสมัยใด มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไต่ถามสอบสวน ย่อมฟังธรรมในนักบวชผู้มีศีล ซึ่งเข้าไปสู่สกุล, ในสมัยนั้น สกุลนั้น ชื่อว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการได้ปัญญาใหญ่.

ภิกษุทั้งหลาย ! นักบวชผู้มีศีล เข้าไปสู่สกุลใด, มนุษย์ทั้งหลายในสกุลนั้น ย่อมประสบบุญเป็นอันมากด้วยฐานะ ๕ อย่างเหล่านี้ แล.

ปฐมธรรม หน้า ๑๕๔-๑๕๕

(ภาษาไทย)  ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๑๖/๑๙๙. คลิกดูพระสูตร

 

 

 


ภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวก ในกรณีนี้ ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต.

ภิกษุทั้งหลาย !อริยสาวกเว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว ย่อมชื่อว่า ให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณ; ครั้นให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณแล้ว ย่อมเป็นผู้ มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อันไม่มีประมาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นทานชั้นปฐม เป็นมหาทาน รู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้เป็นท่อธารแห่งบุญ เป็นที่ไหลออกแห่งกุศล นำมาซึ่งสุข เป็นไปเพื่อยอดสุดอันดี มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขอันพึง ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ.

(ในกรณีศีล ๕ อีกสี่ข้อที่เหลือ คือ การเว้นขาดจากอทินนาทาน, การเว้นขาดจากกาเมสุมิฉาจาร, การเว้นขาดจากมุสาวาท และการเว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ก็ตรัสอย่างเดียวกัน)

ภิกษุทั้งหลาย ! ทาน ๕ ประการนี้แล เป็นมหาทานรู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลยไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบันและจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน.

ปฐมธรรม หน้า ๑๒๐-๑๒๑

(ภาษาไทย)  อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๑๙๑/๑๒๙. คลิกดูพระสูตร


ภิกษุทั้งหลาย ! สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ ดีก็ตามชั่วก็ตาม จักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคน ในกรณีนี้ ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย. เขาไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) กายไม่กระเสือกกระสนด้วย (กรรมทาง) วาจา ไม่กระเสือกกระสน

ด้วย (กรรมทาง) ใจ; กายกรรมของเขาตรง วจีกรรมของเขาตรง มโนกรรมของเขาตรง : คติของเขาตรง อุปบัติของเขาตรง.

ภิกษุทั้งหลาย ! สำหรับผู้มีคติตรง มีอุปบัติตรงนั้น เรากล่าวคติอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาคติสองอย่างแก่เขา คือ เหล่าสัตว์ผู้มีสุขโดยส่วนเดียว หรือว่าตระกูลอันสูง ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณ์มหาศาล หรือ ตระกูลคหบดีมหาศาลอันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์แห่งทรัพย์มาก...

(ในกรณีแห่งบุคคลผู้ไม่กระทำอทินนาทาน ไม่กระทำกาเมสุมิจฉาจาร ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีของผู้ไม่กระทำปาณาติบาต ดังกล่าวมาแล้วข้างบนทุกประการ).

ปฐมธรรม หน้า ๑๔๐-๑๔๑

(ภาษาไทย)  ทสก. อํ. ๒๔/๒๖๓/๑๙๓. คลิกดูพระสูตร


ภิกษุทั้งหลาย ! ปาณาติบาต ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย วิบากแห่ง ปาณาติบาตของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ มีอายุสั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! อทินนาทาน ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย วิบากแห่ง อทินนาทานของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ ความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์.

ภิกษุทั้งหลาย ! กาเมสุมิจฉาจาร ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจารของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ ก่อเวรด้วยศัตรู.

ภิกษุทั้งหลาย ! มุสาวาทที่เสพทั่วแล้วเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย วิบากแห่งมุสาวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ การถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง.

ภิกษุทั้งหลาย ! ปิสุณาวาท (คำยุยงให้แตกกัน)ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย วิบากแห่งปิสุณาวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ การแตกจากมิตร.

ภิกษุทั้งหลาย ! ผรุสวาท (คำหยาบ) ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย วิบากแห่งผรุสวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ การได้ฟังเสียงที่ไม่น่าพอใจ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สัมผัปปลาปวาท (คำเพ้อเจ้อ)ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย วิบากแห่งสัมผัปปลาปวาทของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ วาจาที่ไม่มีใครเชื่อถือ.

ภิกษุทั้งหลาย ! การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ที่เสพทั่วแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเปรตวิสัย วิบากแห่งการดื่มน้ำเมาของผู้เป็นมนุษย์ที่เบากว่าวิบากทั้งปวง คือ วิบากที่เป็นไปเพื่อ ความเป็นบ้า (อุมฺมตฺตก).

ปฐมธรรม หน้า ๑๔๒-๑๔๔

(ภาษาไทย)  อฏฐก. อํ. ๒๓/๑๙๒/๑๓๐. : คลิกดูพระสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนา ๔ อย่าง เหล่านี้มีอยู่.

๔ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๔ อย่าง คือ :-

ภิกษุทั้งหลาย ! มี สมาธิภาวนา อันบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ

๑. ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน (ทิฏฐธมฺมสุขวิหาร)

๒. การได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ (ญาณทสฺสนปฏิลาภ)

๓. สติสัมปชัญญะ (สติสมฺปชญฺญ)

๔. ความสิ้นแห่งอาสวะ (อาสวกฺขย)

ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่;

เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่;

อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุขดังนี้ เข้าถึง ตติยฌานแล้วแลอยู่;

เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสองในกาลก่อนเข้าถึง จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือสมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำไว้ในใจซึ่งอาโลกสัญญา อธิษฐานทิวาสัญญา ว่ากลางวันฉันใดกลางคืนฉันนั้น, กลางคืนฉันใด กลางวันฉันนั้น, เธอมีจิตอันเปิดแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้ม ยังจิตที่มีแสงสว่างทั่วพร้อม ให้เจริญอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้เฉพาะซึ่งญาณทัสสนะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เวทนา เกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ; สัญญา เกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ; วิตกเกิดขึ้น (หรือ) ตั้งอยู่ (หรือ) ดับไป ก็เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือสมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะนั้นเป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ มีปกติตามเห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า ว่า...        รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งรูปเป็นอย่างนี้;

เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้;

สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้;

สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งสังขารเป็นอย่างนี้;

วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้; ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ สมาธิภาวนา อันเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล คือ สมาธิภาวนา ๔ อย่าง.

ปฐมธรรม หน้า ๑๘๔-๑๘๗

(ภาษาไทย)  จตุกฺก. อํ. ๒๑/๔๔/๔๑. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

Today244
Yesterday499
This week2180
This month4353
Total2362347

Who Is Online

9
Online