การวางจิตเมื่อถูกติหรือถูกชม
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่วิดีโอ
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
โอวาทแห่งการทำสติ เมื่อถูกติหรือถูกชม
(ก). ฝ่ายถูกติ
ภิกษุทั้งหลาย จะพึงมีฝ่ายตรงข้ามติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์, ในกรณีเช่นนี้เธอทั้งหลายไม่พึงทำความอาฆาต เกลียดชัง เจ็บใจ ในชนเหล่านั้น.
ภิกษุทั้งหลาย จะพึงมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์, ในกรณีเช่นนั้น ถ้าเธอทั้งหลายจักโกรธ ไม่พอใจ ในชนเหล่านั้นแล้วไซร้ อันตรายจะมีแก่เธอเพราะเหตุนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย จะพึงมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์, ในกรณีเช่นนั้น ถ้าเธอทั้งหลายจักโกรธ ไม่พอใจ ในชนเหล่านั้นแล้วไซร้ เธอจะรู้ได้ไหมว่า คำกล่าวของเขานั้นเป็นสุภาษิตหรือทุพภาษิต ?
“ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลาย จะพึงมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์, ในกรณีเช่นนั้น เธอพึงแถลงให้เห็นเรื่องไม่จริง โดยความเป็นเรื่องไม่จริงว่า “นี้ไม่จริงเพราะเหตุนี้ๆ นี่ไม่ใช่อย่างนั้นเพราะเหตุนี้ๆ สิ่งอย่างนี้ไม่มีในพวกเรา สิ่งชนิดนั้นหาไม่ได้ในพวกเรา” ดังนี้.
(ข). ฝ่ายถูกชม
ภิกษุทั้งหลาย หรือว่า จะมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวสรรเสริญเรา สรรเสริญธรรม สรรเสริญสงฆ์, ในกรณีเช่นนั้น เธอทั้งหลายไม่พึงกระทำความเพลิดเพลิน ยินดี ไม่พึงกระทำความตื่นเต้นแห่งใจ ในคำกล่าวสรรเสริญนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย จะมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวสรรเสริญเรา สรรเสริญธรรม สรรเสริญสงฆ์, ในกรณีเช่นนั้น ถ้าเธอทั้งหลายจักทำความเพลิดเพลิน ยินดีมีความตื่นเต้นแห่งใจ แล้วไซร้ อันตรายจะมีแก่เธอเพราะเหตุนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย จะมีฝ่ายตรงข้ามกล่าวสรรเสริญเรา สรรเสริญธรรม สรรเสริญสงฆ์, ในกรณีเช่นนั้น เธอพึงกระทำให้เขาทราบเรื่องจริงโดยความเป็นเรื่องจริงว่า “นี่จริงเพราะเหตุนี้ๆ นี่เป็นอย่างนั้นเพราะเหตุนี้ๆ สิ่งอย่างนี้มีอยู่ในพวกเรา สิ่งชนิดนั้นหาได้ในพวกเรา” ดังนี้.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๒๔๒-๑๒๔๓
(ภาษาไทย) สี. ที. ๙/๑/๑. : คลิกดูพระสูตร
การดำรงสมาธิจิต เมื่อถูกเบียดเบียนทั้งทางวาจาและทางกาย
ภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวหาเธอ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือ
๑. กล่าวโดยกาลหรือโดยมิใช่กาล
๒. กล่าวโดยเรื่องจริงหรือโดยเรื่องไม่จริง
๓. กล่าวโดยอ่อนหวานหรือโดยหยาบคาย
๔. กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์
๕. กล่าวด้วยมีจิตเมตตาหรือมิโทสะในภายใน.
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้น ในกรณีนั้นๆ เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป, เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล.
(๑. อุปมาที่หนึ่ง)
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือน บุรุษถือจอบและกะทอ (สมัยนี้คือปุ้งกี๋) มาแล้วกล่าวว่า “เราจักกระทำแผ่นดินใหญ่นี้ ให้ไม่เป็นแผ่นดิน” ดังนี้; เขาขุดในที่นั้น ๆ เรี่ยรายดินในที่นั้น ๆ ขากถุยอยู่ในที่นั้น ๆ กระทืบเท้าอยู่ในที่นั้น ๆ ปากพูดอยู่ว่า “มึงไม่ต้องเป็นแผ่นดินอีกต่อไป มึงไม่ต้องเป็นแผ่นดินอีกต่อไป” ดังนี้. ภิกษุทั้งหลายเธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร: บุรุษนั้น จะทำแผ่นดินใหญ่นี้ ให้ไม่เป็นแผ่นดิน ได้แลหรือ?
“ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”
เพราะเหตุไรเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แผ่นดินใหญ่นี้ลึกหาประมาณมิได้ เป็นการง่ายที่ใคร ๆ จะทำให้ไม่เป็นแผ่นดิน รังแต่บุรุษนั้นจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากคับแค้นเสียเปล่า พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำสำหรับการกล่าวหาห้าประการนั้น เมื่อเขากล่าวหาเธอ ด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใดประการหนึ่งอยู่ เธอพึงทำการสำเหนียกในกรณีนั้นอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป, เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. (คือ มีจิตเหมือนแผ่นดินใหญ่อันใครๆ จะกระทบกระทั่งให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น).
ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล.
(๒. อุปมาที่สอง)
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือน บุรุษถือเอาสีมา เป็นสีครั่งบ้าง สีเหลืองบ้าง สีเขียวบ้าง สีแสดบ้าง กล่าวอยู่ว่า “เราจักเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปต่างๆ ในอากาศนี้ ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้ แลหรือ?
“ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”
เพราะเหตุไรเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! เพราะเหตุว่าอากาศนี้ เป็นสิ่งที่ มีรูปไม่ได้ แสดงออกซึ่งรูปไม่ได้. ในอากาศนั้น ไม่เป็นการง่ายที่ใคร ๆ จะเขียนรูป ทำให้มีรูปปรากฏอยู่ได้ รังแต่บุรุษนั้นจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบาก คับแค้นเสียเปล่า พระเจ้าข้า!”
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน: ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำสำหรับการกล่าวหาห้าประการนั้น เมื่อเขากล่าวหาเธอ ด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใดประการหนึ่งอยู่ เธอพึงทำการสำเหนียกในกรณีนั้น อย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป, เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. (คือ มีจิตเหมือนอากาศ อันใคร ๆ จะเขียนให้เป็นรูปปรากฏไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ).
ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล.
(๓. อุปมาที่สาม)
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือคบหญ้า ที่กำลังลุกโพลงมา กล่าวอยู่ว่า “เราจักเผาแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือนพล่าน ด้วยคบหญ้าอันลุกโพลงนี้” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเผาแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดพล่าน ด้วยคบหญ้าอันลุกโพลง ได้แลหรือ ?
“ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”
เพราะเหตุไรเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่า แม่น้ำคงคาลึกหาประมาณมิได้ ไม่เป็นการง่ายที่ใครๆ จะเผาให้ร้อนจัด ให้เดือดพล่านด้วยคบหญ้าอันลุกโพลง รังแต่บุรุษนั้นจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากคับแค้นเสียเปล่า ดังนี้.”
ภิกษุทั้งหลายข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน: ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำสำหรับการกล่าวหาห้าประการนั้น เมื่อเขากล่าวหาเธอ ด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใดประการหนึ่งอยู่ เธอพึงทำการสำเหนียกในกรณีนั้น อย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป, เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้. (คือ มีจิตเหมือนแม่น้ำคงคา อันใคร ๆ จะเผาให้ร้อนเดือดด้วยคบหญ้าไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น)
ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล.
(๔. อุปมาที่สี่)
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแผ่นหนังแมวป่าขนฟู ๑ ฟอกนวดแล้ว นวดทุบอย่างดี นวดทุบอย่างทั่วถึง อ่อนนิ่มเหมือนปุยนุ่น ไม่ส่งเสียง ไม่ส่งกังวานเสียง. ลำดับนั้น มีบุรุษถือท่อนไม้หรือไม้หัวโหม่งมา พลางพูดว่า “เราจักทำให้หนังแมวป่าขนฟูแผ่นนี้ ส่งเสียง มีเสียงพรึมๆ ด้วยท่อนไม้หรือไม้หัวโหม่งนี้” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย เธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะทำหนังแมวป่าขนฟูแผ่นนั้นให้ส่งเสียงพรึมๆ ด้วยท่อนไม้หรือไม้หัวโหม่งนั้นได้แลหรือ?
“ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”
เพราะเหตุไรเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! เพราะเหตุว่า หนังแมวป่าขนฟูแผ่นนั้น เป็นของฟอกนวดแล้ว นวดทุบอย่างดี นวดทุบอย่างทั่วถึง อ่อนนิ่ม เหมือนปุยนุ่น ไม่ส่งเสียง ไม่ส่งกังวานเสียง ไม่เป็นการง่ายที่ใครๆ จะทำให้มันส่งเสียงดังพรึมๆ ด้วยท่อนไม้หรือไม้หัวโหม่ง รังแต่บุรุษนั้นจะเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากคับแค้นเสียเปล่า ดังนี้ “.
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ในบรรดาทางแห่งถ้อยคำสำหรับการกล่าวหาห้าประการนั้น เมื่อเขากล่าวหาเธอด้วยทางแห่งถ้อยคำประการใดประการหนึ่งอยู่, เธอพึงทำการสำเหนียกในกรณีนั้น อย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป, เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, จักมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้น อยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทางมีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์แล้ว แลอยู่” ดังนี้. (คือ มีจิตเหมือนแผ่นหนังแมวป่าขนฟูที่ฟอกดีแล้วเห็นปานนั้น อันใครๆ จะทำให้มันส่งเสียงดังพรึมๆ ไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น).
ภิกษุทั้งหลายเธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล.
(๕. อุปมาที่ห้า)
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าโจรผู้คอยหาช่อง พึงเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ของใครด้วยเลื่อยมีด้ามสองข้าง; ผู้ใดมีใจประทุษร้ายในโจรนั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่ทำตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายต่อโจรนั้น
ภิกษุทั้งหลายในกรณีนั้น เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่แปรปรวน, เราจักไม่กล่าววาจาอันเป็นบาป, เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิตประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายในอยู่, แผ่ไปยังบุคคลนั้นอยู่ และจักมีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุดทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงทำการสำเหนียก อย่างนี้แล.
ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เนืองๆ เถิด.
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทำในใจถึงโอวาทนั้นอยู่ เธอจะได้เห็นทางแห่งการกล่าวหาเล็กหรือใหญ่ที่เธออดกลั้นไม่ได้ อยู่อีกหรือ ?
“ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายจงกระทำในใจถึงโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยนี้ อยู่เป็นประจำเถิด : นั่นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๓๒๖-๑๓๓๑
(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๑๗๖-๑๘๐/๒๖๗ – ๒๗๓. : คลิกดูพระสูตร
ความมีสติเมื่อถูกประทุษร้าย
ผัดคุนะ ! ถ้ามีใครกล่าวติเตียนเธอต่อหน้า; ผัดคุนะ ! ในกรณีเช่นนั้น เธอพึงละฉันทะและวิตกชนิดที่เป็นวิสัยแห่งชาวบ้านเสีย.
ผัดคุนะ ! ในกรณีเช่นนั้น เธอพึงทำความสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่วิปริต เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และเราจักยังคงเป็นผู้มีความเอ็นดูเกื้อกูล มีเมตตาจิตไม่มีโทษอยู่ในภายใน” ดังนี้. ผัดคุนะ ! เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้.
ผัดคุนะ ! ถ้ามีใครประหารเธอด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ หรือด้วยศาตรา; ผัดคุนะ ! ในกรณีแม้เช่นนั้น เธอพึงละฉันทะและวิตกชนิดที่เป็นวิสัยแห่งชาวบ้านเสีย.
ผัดคุนะ ! ในกรณีเช่นนั้น เธอพึงทำความสำเหนียกอย่างนี้ว่า “จิตของเราจักไม่วิปริต เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และเราจักยังคงเป็นผู้มีความเอ็นดูเกื้อกูล มีเมตตาจิต ไม่มีโทษอยู่ในภายใน” ดังนี้.
ผัดคุนะ ! เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้แล.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๒๔๔
(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๑๗๑-๑๗๒/๒๖๔. : คลิกดูพระสูตร