Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

การโกง การคอรัปชั่น ในทางธรรมถือว่ามีความผิดหรือไม่

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ

สนทนาธรรมค่ำเสาร์  13 ต.ค. 55

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

ภัยเวร ๕ ประการเป็นไฉน?

ดูกรคฤหบดี บุคคลผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมประสพภัยเวรอันใด ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไป ในสัมปรายภพก็มี ได้เสวยทุกขโทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เมื่อ อริยสาวกเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว ภัยเวรอันนั้นเป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้

บุคคลผู้ลักทรัพย์ ...

บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ...

บุคคลผู้พูดเท็จ ...

บุคคลผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ย่อมประสพภัยเวรอันใด ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี ได้เสวย ทุกข์ โทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เป็นปัจจัย เมื่ออริยสาวกงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ภัยเวรอัน อันนั้นเป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้ ภัยเวร ๕ ประการเหล่านี้ สงบระงับแล้

(ภาษาไทย) มหา. สํ. ๑๙/๑๘๕/๑๕๗๕. : คลิกดูพระสูตร

 

 

มิจฉาอาชีวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บรรดาองค์ทั้ง  ๗  นั้น  สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน 

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร  คือ  ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่า  มิจฉาอาชีวะ  รู้จักสัมมาอาชีวะว่าสัมมาอาชีวะ  ความรู้ของเธอนั้น  เป็นสัมมาทิฐิ  ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน  คือ  การโกง   การล่อลวง  การตลบตะแลง  การยอมมอบตนในทางผิด  การเอาลาภต่อลาภนี้มิจฉาอาชีวะ  ฯ

     (ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๑๔๙/๒๗๔-๒๗๕  : คลิกดูพระสูตร

 

 

สาวัตถีนิทาน.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ

 

กามาสวะ ๑

ภวาสวะ ๑

อวิชชาสวะ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ อย่างนี้แล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละอาสวะ ๓ อย่างนี้แล ฯลฯ

ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ฯลฯ

 

 

(ภาษาไทย) มหา. สํ. ๑๙/๘๒-๘๓/๓๑๕-๓๑๖.: คลิกดูพระสูตร

 

ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง

อานนท์ ! ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่าง คือ :-

อานนท์ ! ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้)ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ)

บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์

บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก.

อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร ?

อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกมีศีล มีธรรมงาม

ปฏิคาหก เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล

ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก.

อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก เป็นอย่างไร ?

อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม

ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล

ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก.

อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นอย่างไร ?

อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม

ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม อย่างนี้แล

ทักษิณาชื่อฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์

อานนท์ ! ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก เป็นอย่างไร ?

อานนท์ ! ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม

ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล

ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก.

อานนท์ ! นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง

  (ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๓๔๕/๗๑๔-๗๑๘. : คลิกดูพระสูตร

 

 

วิบากกรรม เปรียบดังก้อนเกลือโลณกสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำบาปไว้อย่างไรๆ เขาจะต้องเสวย กรรมนั้นอย่างนั้นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีไม่ได้โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์

โดยชอบ ย่อมไม่ปรากฏ

ส่วนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำกรรม ที่จะต้องเสวยผลไว้ด้วยอาการใดๆ เขาจะต้อง เสวยวิบากของกรรมนั้นด้วยอาการนั้นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีได้โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ โดย ชอบ ย่อมปรากฏ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำ เขาเข้านรก

ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย เช่นนั้นแหละ บาปกรรมนั้น ย่อมให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะส่วนที่มาก

บุคคลเช่นไร ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพเล็ก มีปรกติอยู่เป็นทุกข์ เพราะวิบากเล็กน้อย บุคคลเห็นปานนี้ ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเช่นไรเล่า ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้น ให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะส่วนมาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หาประมาณมิได้ บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรม เล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏเฉพาะแต่ส่วนมาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือ ลงในขันใบน้อย เธอทั้งหลายจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำในขันเพียงเล็กน้อยนั้น พึงเค็มดื่มกินไม่ได้ เพราะก้อนเกลือโน้นใช่ไหม

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ใช่พระเจ้าข้า ฯ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ

เพราะในขันน้ำมีน้ำนิดหน่อย ฉะนั้นน้ำนั้นจึงเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะก้อนเกลือนี้ พระเจ้าข้า ฯ

เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในแม่น้ำคงคา เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็น ไฉน แม่น้ำคงคาพึงเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะก้อนเกลือโน้นหรือไม่ ฯ

หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ

ข้อนั้นเพราะเหตุไร ฯ

เพราะในแม่น้ำคงคานั้น มีห้วงน้ำใหญ่ ฉะนั้นห้วงน้ำใหญ่นั้นจึงไม่เค็ม ดื่มได้ เพราะก้อนเกลือโน้น พระเจ้าข้า ฯ

ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมเพียง เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ทำบาปกรรมเล็กน้อย เช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็น ส่วนน้อยไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เฉพาะส่วนมาก.

 

  (ภาษาไทย) ทุก. อํ. ๒๐/๒๓๗/๕๔๐.: คลิกดูพระสูตร

 

ผู้มีศีล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไป เฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศีลที่เป็นกุศลมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ “

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

         ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศล มีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์ ฯลฯ

 

 

 

(ภาษาไทย) เอกาทสก. อํ. ๒๔/๒๘๘/๒๐๘: คลิกดูพระสูตร

 

อธิปไตยสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ

อัตตาธิปไตย ๑

โลกาธิปไตย ๑

ธรรมาธิปไตย ๑

๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อัตตาธิปไตยเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี

ย่อมสำเหนียกดังนี้ว่า ก็เราออกบวชเป็นบรรพชิตไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ใช่เพราะเหตุแห่ง บิณฑบาต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมี และความไม่มี เช่นนั้น

ก็แต่ว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสอุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์ท่วมทับแล้ว

ไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ ก็การที่เราจะพึงแสวงหากามที่ละได้ แล้วออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น เป็นความเลวทรามอย่างยิ่ง ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย เธอย่อมสำเหนียกว่าก็ความเพียรที่ปรารภแล้ว จักไม่ย่อหย่อนสติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้วจะไม่หลงลืม กายที่สงบระงับแล้วจักไม่ระส่ำระสาย จิตที่เป็นสมาธิแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ เธอทำตนเอง แลให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษบริหารตนให้บริสุทธิ์ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอัตตาธิปไตย ฯ

๒. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โลกาธิปไตยเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมสำเหนียกว่า ก็เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ใช่เพราะเหตุแห่ง บิณฑบาต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมี และความไม่มี เช่นนั้น

ก็แต่ว่าเราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์ท่วมทับแล้ว

ไฉนความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ ก็การที่เราออกบวชเป็นบรรพชิตเช่นนี้ พึงตรึกกามวิตกก็ดี พึงตรึกพยาบาทวิตกก็ดี พึงตรึกวิหิงสาวิตกก็ดี ก็โลกสันนิวาสนี้ใหญ่โต ในโลกสันนิวาสอันใหญ่โต ย่อมจะมีสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของคนอื่นได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมมองเห็นได้แม้แต่ไกล แม้ใกล้ๆ เราก็มองท่านไม่เห็น และท่านย่อม รู้ชัดซึ่งจิตด้วยจิต สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ก็พึงรู้เราดังนี้ว่า

ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลายดูกุลบุตรนี้ซี เขาเป็นผู้มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แต่เกลื่อนกล่นไปด้วยธรรมที่เป็นบาปอกุศลอยู่ ถึงเทวดาที่มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของคนอื่นได้ ก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นย่อมมองเห็นได้แต่ไกล แม้ใกล้ๆ เราก็มองท่านไม่เห็น และท่านย่อมรู้ชัด ซึ่งจิตด้วยจิต เทวดาเหล่านั้นก็พึงรู้เราดังนี้ว่า

ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ดูกุลบุตรนี้ซี เขาเป็นผู้มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แต่เกลื่อนกล่นไปด้วยธรรมที่เป็นบาปอกุศลอยู่ เธอย่อมสำเหนียกว่า ความเพียรที่เราปรารภ แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้วจักไม่หลงลืม กายที่สงบระงับแล้วจักไม่ระส่ำระสาย จิตที่เป็นสมาธิแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ เธอทำโลกให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าโลกาธิปไตย

๓. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมาธิปไตยเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมสำเหนียกว่า ก็เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ใช่เพราะเหตุแห่ง บิณฑบาต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เราออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมี และความไม่มี เช่นนั้น

ก็แต่ว่าเราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ท่วมทับแล้ว

ไฉนความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน จะพึงรู้เฉพาะตน ก็เพื่อนสพรหมจารีผู้ที่รู้อยู่ เห็นอยู่ มีอยู่แล

ก็และการที่เราได้ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว จะพึงเป็นผู้เกียจคร้านมัวเมาประมาทอย่างนี้ ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลยดังนี้ เธอย่อม สำเหนียกว่า ก็ความเพียรที่เราปรารภแล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เข้าไปตั้งมั่นแล้ว  จักไม่หลงลืม กายที่สงบระงับแล้วจักไม่ระส่ำระสาย จิตที่เป็นสมาธิแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ ดังนี้ เธอทำธรรม นั่นแหละให้เป็นใหญ่ แล้วละอกุศล เจริญกุศล ละกรรมที่มีโทษ เจริญกรรมที่ไม่มีโทษ บริหารตนให้บริสุทธิ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าธรรมาธิปไตย

ดูกรภิกษุทั้งหลายอธิปไตย ๓ อย่างนี้แล

 

 

(ภาษาไทย) ทุก. อํ. ๒๐/๑๓๙/๔๗๙ : คลิกดูพระสูตร

Today267
Yesterday429
This week2009
This month1158
Total2359152

Who Is Online

11
Online