Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

คำสาวก ซึ่งพระพุทธเจ้ารับรอง ให้ถือเสมือนหนึ่งคำพระพุทธเจ้า ใช่หรือไม่

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

 

วิดีโอ 1

สนทนาธรรม ณ วัดป่าบ้านผือ
 
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4mp3

 

 

วิดีโอ 2

 
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4mp3

 

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

 

อธรรมสูตรที่ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์บุคคลควรทราบ ครั้นทราบสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แล้ว พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตครั้นตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปแล้วไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้พูดกันดังนี้ว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทศนี้โดยย่อว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ...พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์

ดังนี้ ไม่ได้ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหารเสีย ใครหนอแลพึงจำแนกอรรถแห่งอุทเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อไม่ทรงจำแนกโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า ท่านพระมหากัจจายนะ นี้แล พระศาสดาทรงสรรเสริญ และเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่อง ท่านพระมหากัจจายนะคงสามารถเพื่อจำแนกอรรถแห่งอุทเทศ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ไฉนหนอ พวกเราพึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วพึงถามอรรถข้อนี้กะท่านพระมหากัจจายนะเถิด ท่านพระมหากัจจายนะจักพยากรณ์แก่เราทั้งหลายด้วยประการใด เราทั้งหลายจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ด้วยประการนั้น

ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจายนะว่า ดูกรท่านกัจจายนะผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุเทศนี้โดยย่อว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์

ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ...ฯลฯ...

ขอท่านพระมหากัจจายนะโปรดจำแนกเถิด ฯ

ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ล่วงเลยรากไปเสีย ล่วงเลยลำต้นไปเสีย พึงสำคัญกิ่งและใบว่าเป็นแก่นไม้ ที่ตนพึงแสวงหา แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่เฉพาะหน้าท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายผ่านพ้นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสียแล้ว ย่อมสำคัญอรรถอันนั้นว่า ควรถามข้าพเจ้า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้มีจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้ตรัสบอกทรงให้เป็นไป ทรงแสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็นก็แลกาลนั้น เป็นการควรแก่พระผู้มีพระภาคที่ท่านทั้งหลายเข้าไปเฝ้าแล้ว พึงทูลถามอรรถอันนั้น พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงพยากรณ์ด้วยประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้นเถิด ฯ

ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ดูกรท่านพระกัจจายนะผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ตรัสบอก ทรงให้เป็นไปทรงแสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคตทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็นโดยแท้ ก็และกาลนั้นเป็นการควรแก่พระผู้มีพระภาคที่กระผมทั้งหลายเข้าไปเฝ้าแล้ว พึงทูลถามอรรถอันนั้น พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงพยากรณ์ด้วยประการใด กระผมทั้งหลายพึงทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้น ก็แต่ว่าท่านพระมหากัจจายนะพระศาสดาทรงสรรเสริญ และเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็นวิญญูยกย่อง ท่านพระมหากัจจายนะย่อมสามารถเพื่อจำแนกอรรถแห่งอุทเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ได้ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารนี้ โดยพิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจายนะไม่ทำความหนักใจแล้ว จงจำแนกเถิด ฯ

ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจายนะแล้ว ท่านพระมหากัจจายนะได้กล่าวว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทศโดยย่อว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ... พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์

ดังนี้ ไม่ได้ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็สิ่งที่ไม่เป็นธรรมเป็นไฉน สิ่งที่เป็นธรรมเป็นไฉน สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไฉน สิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นไฉน

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนาเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะเจตนาเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การลักทรัพย์เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนาเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์เป็นสิ่งที่เป็นธรรม ส่วนอกุศลธรรมอันลามกมิใช่น้อย ที่เกิดขึ้นเพราะการลักทรัพย์เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมมิใช่น้อย ย่อมถึงความเจริญเต็มที่ เพราะเจตนาเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การประพฤติผิดในกามเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ...

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การพูดเท็จเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ...

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การพูดส่อเสียดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ...

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การพูดคำหยาบเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ...

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การพูดเพ้อเจ้อเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ...

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย การอยากได้ของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ...

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความปองร้ายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ...

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความเห็นผิดเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ...

... ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เราย่อมรู้อรรถแห่งอุเทศอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ไม่ทรงจำแนกโดยพิสดารนี้ได้โดยพิสดาร ด้วยประการอย่างนี้ ก็แลท่านทั้งหลายจำนงอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พึงทูลถามอรรถนั้นเถิด พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงพยากรณ์ด้วยประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำอรรถนั้นไว้ด้วยประการนั้นเถิด ฯ

ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระมหากัจจายนะ ชื่นชมอนุโมทนา ภาษิตของท่านพระมหากัจจายนะแล้ว ลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรมบุคคลควรทราบ ...พึงปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม ตามสิ่งที่เป็นประโยชน์

ดังนี้ ไม่ทรงจำแนกอรรถโดยพิสดารแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปสู่พระวิหาร ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญลำดับนั้นแล ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้ถามอรรถข้อนั้นกะท่านพระมหากัจจายนะ ท่านพระมหากัจจายนะได้จำแนกอรรถด้วยดีแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดีแล้ว ดีแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหากัจจายนะเป็นบัณฑิต มหากัจจายนะเป็นผู้มีปัญญามาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้หากเธอทั้งหลายพึงเข้ามาหาเราแล้วถามอรรถข้อนั้น แม้เราพึงพยากรณ์อรรถข้อนั้นอย่างที่มหากัจจายนะพยากรณ์แล้วนั้นแหละ นั่นเป็นอรรถแห่งอุเทศนั้น และเธอทั้งหลายพึงทรงจำอรรถนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ

 

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๒๒๙-๒๓๔/๑๖๑. : คลิกดูพระสูตร

 

 

มธุปิณฑิกสูตร

ว่าด้วยธรรมบรรยายที่ไพเราะ

[๒๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท. ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปสู่พระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อบิณฑบาต. ครั้นเสร็จจากการเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตแล้ว เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน เพื่อทรงพักในเวลากลางวัน ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม แม้ทัณฑปาณิศากยะ กำลังเสด็จเที่ยวเดินเล่น ได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังต้นมะตูมหนุ่ม ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนยันไม้เท้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า พระสมณะมีปกติกล่าวอย่างไร มีปกติบอกอย่างไร?

ตรัสตอบปัญหาทัณฑปาณิศากยะ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกรผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างไร จึงจะไม่โต้เถียงกันกับผู้ใดผู้หนึ่งในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลก และสัญญาทั้งหลายจะไม่ครอบงำพราหมณ์ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความคะนองได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหาในภพใหญ่ได้อย่างไร เรามีปกติกล่าวอย่างนั้น มีปกติบอกอย่างนั้น.

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทัณฑปาณิศากยะได้สั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่นเป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันหลีกไป.

[๒๔๔] ครั้งนั้น เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น แล้วเสด็จเข้าไปยังนิโครธาราม ประทับ ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย ครั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะเล่าให้ฟัง

เวลาเช้า เรานุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่พระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อบิณฑบาต ครั้นเสร็จจากการเที่ยวไปบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่ามหาวัน เพื่อพักในเวลากลางวัน ครั้นถึงแล้ว จึงนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ทัณฑปาณิศากยะเสด็จเที่ยวเดินเล่น ได้เข้าไปยังป่ามหาวัน ครั้นแล้วเข้าไปหาเรายังต้นมะตูมหนุ่ม ได้ปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนยันไม้เท้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และได้ถามเราว่า พระมหาสมณะมีปกติกล่าวอย่างไร มีปกติบอกอย่างไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อทัณฑปาณิศากยะ กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราได้ตอบว่า ดูกรผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างไร จึงจะไม่โต้เถียงกันกับผู้ใดผู้หนึ่งในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายจะไม่ครอบงำพราหมณ์ผู้ปราศจากกามทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความคะนองได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ได้อย่างไร เรามีปกติกล่าวอย่างนั้น มีปกติบอกอย่างนั้น. เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว ทัณฑปาณิศากยะ สั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่นเป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันหลีกไป.

[๒๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามขึ้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไร จึงไม่โต้เถียงกับผู้ใดผู้หนึ่งในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายจะไม่ครอบงำพราหมณ์ผู้ปราศจากกามทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความคะนองได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ได้อย่างไร?

พระผู้มีพระภาคตอบว่า

ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เทียวเป็นที่สุดแห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียง การด่าว่า การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น.

ครั้นพระผู้มีพระภาคผู้สุคตเจ้าได้ตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย.

ทรงแสดงอุเทศโดยย่อ

[๒๔๖] ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นก็บังเกิดความสงสัยว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้โดยย่อว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ... อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น

แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าที่ประทับเสีย ใครหนอ จะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้. ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นก็บังเกิดความคิดว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้แล อันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่านพระมหากัจจานะ สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ผิฉะนั้น เราทั้งหลายควรพากันไปหาท่านมหากัจจานะถึงที่อยู่   แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะ. ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจานะว่า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว พากันนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และพูดกะท่านมหากัจจานะว่า

ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้ไว้โดยย่อว่า

ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ... อกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น

แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย ... ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ ผมเหล่านั้นก็บังเกิดความคิดว่า ท่านมหากัจจานะนี้อันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะนี้ สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ผิฉะนั้น เราทั้งหลาย ควรพากันเข้าไปหาท่านกัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านมหากัจจานะดู ขอท่านมหากัจจานะจงชี้แจงไปเถิด.

[๒๔๗] ท่านพระมหากัจจานะจึงกล่าวตอบว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ ก็ล่วงเลยโคนต้นและลำต้นของต้นไม้ใหญ่อันมีแก่นเสีย สำคัญว่าจะพึงแสวงหาแก่นที่กิ่งและใบฉันใด ข้ออุปมัยนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาทรงปรากฏอยู่เฉพาะหน้าท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายก็ล่วงเลยพระองค์ไปเสียแล้ว กลับจะมาไต่ถามเนื้อความนี้กะผม ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ เป็นผู้มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่ท่านทั้งหลายจะทูลถามเนื้อความนี้ต่อพระผู้มีพระภาคแท้ พระองค์ทรงแก้ไขอย่างไร ท่านทั้งหลายก็ควรจำไว้อย่างนั้น.

ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านพระกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ เป็นผู้มีพยาน เป็นผู้มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ เป็นผู้ประกาศ เป็นผู้ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของแห่งธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่กระผมทั้งหลาย จะทูลถามเนื้อความนี้ต่อพระผู้มีพระภาคแท้ พระองค์ทรงแก้ไขอย่างไร กระผมทั้งหลายควรจำไว้อย่างนั้น ก็จริงอยู่แล แต่ว่า ท่านพระมหากัจจานะอันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่านพระมหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้โดยย่อว่า ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ขอท่านพระมหากัจจานะจงชี้แจงไปเถิด อย่าทำความหนักใจให้เลย.

พระมหากัจจานะแสดงอุเทศโดยพิสดาร

[๒๔๘] ท่านมหากัจจานะจึงกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ผมจะกล่าว. ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว. ท่านพระมหากัจจานะจึงกล่าวดังนี้ว่า

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศไว้โดยย่อว่า

ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ... อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น

แล้วไม่ทรงชี้แจง เนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผมรู้ถึงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้อย่างนี้

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป เพราะประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึงเวทนาอันนั้น บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ก็ครอบงำบุรุษ เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในรูปทั้งหลายที่พึงจะรู้ด้วยตาเป็นอดีตก็ดี เป็นอนาคตก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี.

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย โสตวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียง ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ฆานวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่น ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรส ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มโนวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ เพราะประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึงเวทนาอันนั้น บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ก็ครอบงำบุรุษ เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในธรรมารมณ์ทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยใจ เป็นอดีตก็ดี เป็นอนาคตก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี.

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อตามี รูปมี และจักขุวิญญาณมี เขา จักบัญญัติว่าผัสสะ ข้อนี้มีฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติผัสสะมี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติว่าเวทนามี เขาจักบัญญัติสัญญา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติสัญญามี เขาจักบัญญัติวิตก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติวิตกมี เขาจักบัญญัติว่าการครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อมีหู เสียงมี ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อจมูกมี กลิ่นมี ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อลิ้นมี รสมี ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อกายมี โผฏฐัพพะมี ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใจมี ธรรมารมณ์มี และมโนวิญญาณมี เขาจักบัญญัติว่าผัสสะ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติผัสสะมี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติเวทนามี เขาจักบัญญัติว่าสัญญา ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติสัญญามี เขาจักบัญญัติว่าวิตก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติวิตกมี เขาจักบัญญัติว่าการครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อตาไม่มี รูปไม่มี และจักขุวิญญาณไม่มี เขาจักบัญญัติว่าผัสสะ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติผัสสะไม่มี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติเวทนาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าสัญญา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติสัญญาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าวิตก ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติวิตกไม่มี เขาจักบัญญัติว่าการครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้.

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อหูไม่มี เสียงไม่มี ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อจมูกไม่มี กลิ่นไม่มี ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อลิ้นไม่มี รสไม่มี ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อกายไม่มี โผฏฐัพพะไม่มี ...

. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใจไม่มี ธรรมารมณ์ไม่มี และมโนวิญญาณไม่มี เขาจักบัญญัติว่าผัสสะ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติผัสสะไม่มี เขาจักบัญญัติว่าเวทนา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติเวทนาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าสัญญา ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติสัญญาไม่มี เขาจักบัญญัติว่าวิตก ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เมื่อการบัญญัติวิตกไม่มี เขาจักบัญญัติว่าการครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้.

ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศนี้ไว้โดยย่อว่า

ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ... อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น

แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผมรู้ถึงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อนี้ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดาร ให้พิสดารได้อย่างนี้. ก็แลเมื่อท่านทั้งหลายปรารถนา ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามเนื้อความนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ประการใด ท่านทั้งหลายพึงทรงจำข้อนั้นไว้โดยประการนั้นเถิด.

[๒๔๙] ลำดับนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านมหากัจจานะ แล้วลุกจากอาสนะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศไว้โดยย่อว่า

ดูกรภิกษุ ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ... อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น

ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร แล้วเสด็จลุกจากอาสนะเข้าที่ประทับเสีย ... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ก็บังเกิดความคิดขึ้นว่า ท่านพระมหากัจจานะนี้อันพระศาสดาทรงยกย่องแล้ว และเพื่อนพรหมจรรย์ผู้รู้สรรเสริญแล้ว และท่านพระมหากัจจานะ ก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุเทศที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงเนื้อความไว้โดยพิสดาร ให้พิสดารได้ ผิฉะนั้น เราทั้งหลายจะพากันไปหาท่านพระมหากัจจานะยังที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะดู. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้นเอง ข้าพระองค์ทั้งหลายได้พากันเข้าไปหาท่านมหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กะท่านพระมหากัจจานะ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะได้ชี้แจงเนื้อความด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่พวกข้าพระองค์.

ทรงสรรเสริญพระมหากัจจานะ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระมหากัจจานะเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้พวกเธอจะถามเนื้อความนี้กะเรา แม้เราก็จะพึงพยากรณ์เนื้อความนั้น เหมือนกับที่พระมหากัจจานะพยากรณ์แล้วนั้น นี่แหละเป็นเนื้อความแห่งข้อนั้น เธอทั้งหลายจงจำทรงข้อนั้นไว้เถิด.

[๒๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ถูกความหิวความเหนื่อยอ่อนครอบงำ ได้ขนมหวาน แล้วกินในเวลาใด ก็พึงได้รับรสอันอร่อยหวาน ชื่นชูใจในเวลานั้น ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนักคิด ชาติบัณฑิต พึงใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมบรรยายนี้ด้วยปัญญา ในเวลาใด ก็พึงได้ความพอใจ และได้ความเลื่อมใสแห่งใจในเวลานั้น ฉันนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกรอานนท์ เหตุดังนั้น เธอจงทรงจำธรรมบรรยายนี้ว่า มธุปิณฑิกปริยาย ดังนี้เถิด.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจชื่นชม ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล.

 

 

(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๑๕๒-๑๕๙/๒๔๓-๒๕๐. : คลิกดูพระสูตร

 

โมคคัลลานสูตร

... ฯลฯ ...

[๗๙๒] . ดูกรวัจฉะ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นย่อมตามเห็นจักษุว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นย่อมตามเห็น หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ ว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา เพราะเหตุนั้น เมื่อพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นถูกถามอย่างนั้นแล้ว จึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง ดูกรวัจฉะ ส่วนพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมทรงพิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมทรงพิจารณาเห็น หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเหตุนั้นเมื่อตถาคตถูกถามอย่างนั้นแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ฯ

[๗๙๓] . ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของศาสดากับของสาวก ย่อมเทียบกันได้สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนกันในบทที่สำคัญ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ข้าพระองค์ได้เข้าไปหาสมณมหาโมคคัลลานะ แล้วได้ถามความข้อนี้ แม้สมณมหาโมคคัลลานะก็ได้พยากรณ์ความข้อนี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่ข้าพระองค์ ดุจพระโคดมผู้เจริญเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของศาสดากับของสาวกย่อมเทียบกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนกันในบทที่สำคัญ ฯ

(ภาษาไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๓๙๑-๓๙๔/๗๘๘-๗๙๓. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ปาสาทิกสูตร

...ฯลฯ...

ดูกรจุนทะ ถ้าสพรหมจารีสงฆ์แม้อื่นอีก พึงกล่าวธรรม หากว่า ในภาษิตของสพรหมจารีนั้น คำอย่างนี้พึงมีแก่เธอทั้งหลายว่า ท่านผู้มีอายุนี้แล ถือเอาอรรถนั่นแหละชอบ ยกขึ้นซึ่งพยัญชนะทั้งหลายก็ชอบ ดังนี้ เธอทั้งหลายพึงชื่นชม พึงอนุโมทนาภาษิตของสพรหมจารีนั้นว่า ดีแล้ว สพรหมจารีนั้น อันพวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส เป็นลาภของเราทั้งหลาย อาวุโส พวกเราได้ดีแล้วที่จักระลึกถึงท่านผู้มีอายุ ผู้เป็นสพรหมจารีเช่นท่าน ผู้เข้าถึงอรรถ ผู้เข้าถึงพยัญชนะอย่างนี้ ดังนี้ ฯ

(ภาษาไทย) ปา. ที. ๑๑/๑๐๑/๑๑๒. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ทิฏฐิสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ออกจากพระมหานครสาวัตถีแต่ยังวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคลำดับนั้น ท่านได้มีความคิดเช่นนี้ว่า มิใช่เวลาเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน เพราะพระผู้มีพระภาคยังทรงหลีกเร้นอยู่ มิใช่กาลเพื่อจะเยี่ยมภิกษุทั้งหลาย ผู้ยังใจให้เจริญ เพราะพวกภิกษุผู้ยังใจให้เจริญยังหลีกเร้นอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเถิด ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี จึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ก็สมัยนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังร่วมประชุมกัน บันลือเสียงเอ็ดอึง นั่งพูดกันถึงดิรัจฉานกถาหลายอย่าง พอได้เห็นท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงยังกันและกันให้หยุดด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงเบาเสียง อย่าได้เปล่งเสียง อนาถบิณฑิกคฤหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดม กำลังเดินมา อนาถบิณฑิกคฤหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่ง บรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว ซึ่งเป็นสาวกของพระสมณโคดม อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี ก็ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ในเสียงเบา ได้รับแนะนำในทางเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา แม้ไฉนเขาทราบบริษัทผู้มีเสียงเบา พึงสำคัญที่จะเข้ามาหา ลำดับนั้น ปริพาชกเหล่านั้นได้นิ่งอยู่ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ว่า

ดูกรคฤหบดี ขอท่านจงบอก พระสมณโคดมมีทิฐิอย่างไร

อนาถบิณฑิกคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพระผู้มีพระภาค ฯ

. ดูกรคฤหบดี นัยว่า บัดนี้ท่านไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพระสมณโคดม ขอท่านจงบอก ภิกษุทั้งหลายมีทิฐิอย่างไร ฯ

. ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฐิทั้งหมด แม้ของภิกษุทั้งหลาย ฯ

. ดูกรคฤหบดี นัยว่า ท่านไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพระสมณโคดม ทั้งไม่ทราบทิฐิทั้งหมดของพวกภิกษุด้วยประการดังนี้ ขอท่านจงบอก ตัวท่านมีทิฐิอย่างไร ฯ

ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าบอกทิฐิของข้าพเจ้า ว่ามีทิฐิอย่างใดนี้ไม่ยาก เชิญท่านทั้งหลายบอกทิฐิของตนเสียก่อน ข้าพเจ้าจึงจะบอกทิฐิของข้าพเจ้าว่ามีทิฐิอย่างใดในภายหลัง ซึ่งเป็นการทำไม่ยาก ฯ

เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคนหนึ่งได้กล่าวกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ฯ ปริพาชกอีกคนหนึ่งได้กล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า แม้ปริพาชกอีกคนหนึ่งได้กล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดี ว่า โลกมีที่สุด ... อีกคนหนึ่งพูดว่า โลกไม่มีที่สุด ... อีกคนหนึ่งพูดว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ... อีกคนหนึ่งพูดว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ... อีกคนหนึ่งพูดว่า สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ...อีกคนหนึ่งพูดว่า สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ... อีกคนหนึ่งพูดว่า สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มี ... อีกคนหนึ่งพูดว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกหามิได้ ไม่เป็นอีกหามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ฯ เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีได้กล่าวกะปริพาชกเหล่านั้น ว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านผู้มีอายุได้กล่าวอย่างนี้ว่า

ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

ทิฐิของท่านผู้มีอายุนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือเพราะโฆษณาของผู้อื่นเป็นปัจจัย ก็ทิฐินั้น เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ติดสิ่งนั้นแหละ ท่านผู้มีอายุนั้นเข้าถึงสิ่งนั้นแหละ แม้ท่านผู้มีอายุรูปใดกล่าวอย่างนี้ว่า

ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

ทิฐิของท่านผู้มีอายุแม้นี้ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือเพราะการโฆษณาของผู้อื่นเป็นปัจจัย ก็ทิฐินั้นเกิดขึ้นแล้ว อันอาศัยปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ติดสิ่งนั้นแหละ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้เข้าถึงสิ่งนั้นแหละ แม้ท่านผู้มีอายุรูปใดกล่าวอย่างนี้ว่า

ดูกรคฤหบดี เรามีทิฐิอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก ...สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี ... สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

ทิฐิของท่านผู้มีอายุนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือเพราะการโฆษณาของผู้อื่นเป็นปัจจัย ก็ทิฐินั้นเกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยสิ่งนั้นไม่เที่ยงแหละ ท่านผู้มีอายุนั้น เข้าถึงสิ่งนั้น และเมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี พวกเราทั้งหมดบอกทิฐิของตนแล้วขอท่านจงบอก ท่านมีทิฐิอย่างไร ฯ

. ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยงสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ข้าพเจ้ามีความเห็นสิ่งนั้นอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯ

. ดูกรคฤหบดี สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านเป็นผู้ติดสิ่งนั้นแหละ ท่านเข้าถึงสิ่งนั้นแหละ ฯ

. ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ข้าพเจ้าเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ทั้งรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งสิ่งนั้นอย่างยอดเยี่ยมตามเป็นจริง ฯ

เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นพากันนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีทราบปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซาโต้ตอบไม่ได้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลถึงเรื่องที่สนทนากับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบทุกประการ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดีละๆ คฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษเหล่านั้นให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยกาลอันควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีหลีกไปไม่นาน

พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดแลเป็นผู้มีธรรมอันไม่หวั่นไหวในธรรมวินัยตลอดกาลนาน ภิกษุแม้นั้นพึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยชอบธรรมอย่างนี้ เหมือนท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีข่มขี่แล้ว ฉะนั้น ฯ

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑๕๙-๑๖๒/๙๓. : คลิกดูพระสูตร

 

 

อัญญติตถิยสูตร

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่พระนครราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้มีความคิดดังนี้ว่า เวลานี้ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เถิด ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัยกับปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

ท่านพระสารีบุตรพอนั่งเรียบร้อยแล้ว พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ได้กล่าวกะท่านดังนี้ว่า ดูกรท่านสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย อนึ่ง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรม ย่อมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดขึ้นเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำ ดูกรท่านสารีบุตร ก็ในวาทะทั้ง ๔ นี้ พระสมณโคดมกล่าวไว้อย่างไร บอกไว้อย่างไร พวกข้าพเจ้าพยากรณ์อย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่พระสมณโคดมกล่าวแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระสมณโคดมด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้ ฯ

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้

ดูกรท่านทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเอง ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ผู้อื่นทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่าเกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ดูกรท่านทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้นพวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วยผู้อื่นทำให้ด้วย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ถึงพวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะจะมีได้ ดังนี้ ฯ

ท่านพระอานนท์ได้ยินท่านพระสารีบุตรสนทนาปราศรัยกับพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นแล้ว ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ ในกาลภายหลังภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลถ้อยคำสนทนาของท่านพระสารีบุตรกับพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ซึ่งได้มีมาแล้วทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดีละๆ อานนท์ ตามที่สารีบุตรพยากรณ์ชื่อว่าพยากรณ์โดยชอบ

ดูกรอานนท์ เรากล่าวว่าทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้ ดูกรอานนท์ ในวาทะทั้ง ๔ นั้น ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่าตนทำเอง ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ผู้อื่นทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ ก็ย่อมเกิด เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ดูกรอานนท์ ในวาทะทั้ง ๔ นั้น พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ถึงพวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯ

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๓๐/๗๑-๗๕. : คลิกดูพระสูตร

 

 

... ฯลฯ ...

ครั้งนั้นแล เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรนั่นกำลังเทศนาถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายใน และบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอกแก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาในบุพพาราม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงพระกรุณา เสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอาราธนาด้วยดุษณีภาพ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงหายจากพระเชตวันวิหารไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระสารีบุตร ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาในบุพพาราม เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แม้ท่านพระสารีบุตรก็ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า

ดูกรสารีบุตร เทวดาที่มีจิตเสมอกันมากองค์เข้าไปหาเราจนถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วบอกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกำลังเทศนาถึงบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายในและบุคคลที่มีสังโยชน์ในภายนอก แก่ภิกษุทั้งหลาย อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาในบุพพาราม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บริษัทร่าเริง ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณาเสด็จไปหาท่านพระสารีบุตรจนถึงที่อยู่เถิด ดูกรสารีบุตร ก็เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง ๓๐ องค์บ้าง ๔๐ องค์บ้าง ๕๐ องค์บ้าง ๖๐องค์บ้าง แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน

ดูกรสารีบุตร ก็เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่าจิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้น ยืนอยู่ได้ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ... ๖๐ องค์บ้าง เป็นจิตอันเทวดาเหล่านั้นอบรมแล้วในภพนั้นแน่นอน

ดูกรสารีบุตร ก็ข้อนั้นเธอไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูกรสารีบุตร ก็จิตอย่างนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาเหล่านั้นยืนอยู่ได้ในโอกาสแม้เท่าปลายเหล็กแหลมจดลง ๑๐ องค์บ้าง ฯลฯ แต่ก็ไม่เบียดกันและกัน เทวดาเหล่านั้นได้อบรมแล้วในศาสนานี้เอง เพราะฉะนั้นแหละสารีบุตร เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จักเป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับอยู่ เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ สารีบุตร กายกรรมวจีกรรม มโนกรรมของผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจระงับ เพราะฉะนั้นแหละ สารีบุตร เธอพึงศึกษาว่า จักนำกายและจิตที่สงบระงับแล้วเท่านั้น เข้าไปในพรหมจารีทั้งหลาย ดูกรสารีบุตร เธอควรศึกษาเช่นนี้แหละ

ดูกรสารีบุตร พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกที่ไม่ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ ได้พากันฉิบหายเสียแล้ว ฯ

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๒๐/๖๑/๒๘๑. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

Today581
Yesterday1254
This week5386
This month15404
Total2522709

Who Is Online

63
Online