Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

ชาติ ในปฏิจสมุปบาท คืออย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ

ชมรมคนรู้ใจ วันที่ 4 ม.ค. 2555

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4, mp3

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

ภิกษุทั้งหลาย !ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง ชรามรณะ, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชรามรณะ, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง ชาติ, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชาติ, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติ, รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชาติ;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง ภพ, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งภพ, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพ, รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งภพ;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง อุปาทาน, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งอุปาทาน, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน, รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง ตัณหา, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งตัณหา, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งตัณหา,รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุความดับไม่เหลือแห่งตัณหา;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง เวทนา, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งเวทนา, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนา,รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งเวทนา;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง ผัสสะ, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งผัสสะ, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ, รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง สฬายตนะ, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งสฬายตนะ, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ,รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง นามรูป, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งนามรูป, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งนามรูป,รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งนามรูป;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง วิญญาณ, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งวิญญาณ, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ,รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ;ย่อมรู้ทั่วถึงซึ่ง สังขาร, รู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งสังขาร, รู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสังขาร,รู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งสังขาร.ภิกษุทั้งหลาย ! ชรามรณะ เป็นอย่างไรเล่า ? ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยว ความสิ้นไปๆ แห่งอายุ ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : นี้เรียกว่า ชรา. การจุติ การเคลื่อนการแตกสลาย การหายไป การวายชีพ การตาย การทำกาละ การแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย การทอดทิ้งร่าง การขาดแห่งอินทรีย คือ ชีวิต จากสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : นี้เรียกว่า มรณะ. ชรานี้ด้วย มรณะนี้ด้วยย่อมมีอยู่ดังนี้; ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ชรามรณะ.ความก่อขึ้นพร้อมแห่งชรามรณะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งชาติ; ความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ ย่อมมีเพราะความดับไม่เหลือแห่งชาติ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! ชาติ เป็นอย่างไรเล่า ?การเกิด การกำเนิด การก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด การบังเกิดโดยยิ่ง ความปรากฏของขันธ์ทั้งหลาย การที่สัตว์ได้ซึ่งอายตนะทั้งหลาย ในสัตวนิกายนั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ชาติ.ความก่อขึ้นพร้อมแห่งชาติ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ; ความดับไม่เหลือแห่งชาติ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งภพ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! ภพ เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! ภพทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าภพ. ความก่อขึ้นแห่งภพ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน; ความดับไม่เหลือแห่งภพ ย่อมมีเพราะความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน;มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทาน เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! อุปาทานทั้งหลาย ๔ อย่างเหล่านี้ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า อุปาทาน.ความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งตัณหา; ความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน ย่อมมีเพราะความดับไม่เหลือแห่งตัณหา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบการเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! ตัณหา เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งตัณหาทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหาโผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่าตัณหา. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งตัณหา ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งเวทนา; ความดับไม่เหลือแห่งตัณหา ย่อมมีเพราะความดับไม่เหลือแห่งเวทนา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งตัณหา, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! เวทนา เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งเวทนาทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา : ภิกษุทั้งหลาย !นี้เรียกว่า เวทนา. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งผัสสะ; ความดับไม่เหลือแห่งเวทนา ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ;มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนา, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! ผัสสะ เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งผัสสะทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ผัสสะ.ความก่อขึ้นพร้อมแห่งผัสสะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสฬายตนะ; ความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ ย่อมมีเพราะความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบการเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! สฬายตนะ เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! จักข๎วายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ มนายตนะ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า สฬายตนะ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสฬายตนะ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป;ความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งนามรูป; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! นามรูป เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะมนสิการ : นี้เรียกว่า นาม, มหาภูตทั้งสี่ด้วย รูปที่อาศัยมหาภูตทั้งสี่ด้วย นี้เรียกว่า รูป, นามนี้ด้วย รูปนี้ด้วยย่อมมีอยู่ดังนี้; ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า นามรูป.ความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ; ความดับไม่เหลือแห่งนามรูป ย่อมมีเพราะความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งนามรูป, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบการเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลาย ๖ หมู่เหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ : ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า วิญญาณ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร;ความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งสังขาร; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ, ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร : ภิกษุทั้งหลาย !เหล่านี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอวิชชา;ความดับไม่เหลือแห่งสังขาร ย่อมมี เพราะความดับไม่เหลือแห่งอวิชชา; มรรคอันประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนั่นเอง เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสังขาร,ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! ในการใดแล ภิกษุย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง ชรามรณะ; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชรามรณะ; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ; มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชรามรณะ : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง ชาติ; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งชาติ; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งชาติ;มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งชาติ : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง ภพ; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งภพ; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งภพ;มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งภพ : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง อุปาทาน; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งอุปาทาน; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน; มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งอุปาทาน : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง ตัณหา; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งตัณหา; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งตัณหา;มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งตัณหา : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง เวทนา; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งเวทนา; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนา;มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งเวทนา : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง ผัสสะ; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งผัสสะ; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ;มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งผัสสะ : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง สฬายตนะ; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งสฬายตนะ; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ; มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งสฬายตนะ : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง นามรูป; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งนามรูป; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งนามรูป; มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งนามรูป : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง วิญญาณ; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งวิญญาณ; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ; มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งวิญญาณ : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ย่อมมารู้ทั่วถึงซึ่ง สังขาร; มารู้ทั่วถึงซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งสังขาร; มารู้ทั่วถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งสังขาร;มารู้ทั่วถึงซึ่งข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งสังขาร : ว่าเป็นอย่างนี้ๆ.ภิกษุทั้งหลาย !ในกาลนั้น เราเรียกภิกษุนั้น ว่า :-ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทิฏฐิดังนี้บ้าง;ผู้สมบูรณ์แล้วด้วยทัสสนะดังนี้บ้าง;ผู้มาถึงพระสัทธรรมนี้แล้วดังนี้บ้าง;ผู้ได้เห็นอยู่ซึ่งพระสัทธรรมนี้ดังนี้บ้าง;ผู้ประกอบแล้วด้วยญาณอันเป็นเสขะดังนี้บ้าง;ผู้ประกอบแล้วด้วยวิชชาอันเป็นเสขะดังนี้บ้าง;ผู้ถึงซึ่งกระแสแห่งธรรมแล้วดังนี้บ้าง;ผู้ประเสริฐมีปัญญาเครื่องชำแรกกิเลสดังนี้บ้าง;ยืนอยู่จรดประตูแห่งอมตะดังนี้บ้าง, ดังนี้ แล

 (ภาษาไทย)นิทาน. สํ. ๑๖/๓๙/๙๑-๙๓.: คลิกดูพระสูตร

วิญญาณเมื่อทำหน้าที่เป็นพืช 

ภิกษุทั้งหลาย !สิ่งที่ใช้เป็นพืชมีห้าอย่างเหล่านี้. ห้าอย่างเหล่าไหนเล่า ?

ห้าอย่างคือ พืชจากเหง้าหรือราก (มูลพีช ), พืชจากต้น (ขนฺธพีช), พืชจากตา

หรือผล (ผลุพีช), พืชจากยอด (อคฺคพีช), และพืชจากเมล็ด (เช่นข้าวเป็นต้น)

เป็นคำรบห้า (พีชพีช).

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืชห้าอย่างเหล่านี้ ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี, แต่ดิน น้ำ ไม่มี. ภิกษุทั้งหลาย !สิ่งที่ใช้เป็นพืชห้าอย่างเหล่านั้น จะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้แลหรือ ?

หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า !”

ภิกษุทั้งหลาย !ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืชห้าอย่างเหล่านี้แหละ ที่ไม่ถูกทำลาย

ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอัน

เจ้าของเก็บไว้ด้วยดี, ทั้งดิน น้ำ ก็มีด้วย. ภิกษุทั้งหลาย !สิ่งที่ใช้เป็นพืช

ห้าอย่างเหล่านั้นจะพึงเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้มิใช่หรือ ?

อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”

ภิกษุทั้งหลาย !วิญญาณฐิติ (ที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ) สี่อย่าง (รูป เวทนา สัญญาสังขาร) พึงเห็นว่า เหมือนกับ ดิน. ภิกษุทั้งหลาย !นันทิราคะ พึงเห็นว่าเหมือนกับ นํ้า. ภิกษุทั้งหลาย !วิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย (วิญญาณซึ่งประกอบด้วยเหตุดังนี้) พึงเห็นว่าเหมือนกับ พืชสดทั้งห้านั้น.

ภิกษุทั้งหลาย !วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอา รูป ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้;

ภิกษุทั้งหลาย !วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอา เวทนา ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์ มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพก็ถือความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้;

ภิกษุทั้งหลาย !วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอา สัญญา ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์ มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้;

ภิกษุทั้งหลาย !วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอา สังขาร ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้.

ภิกษุทั้งหลาย !ผู้ใด จะพึงกล่าวอย่างนี้ ว่าเราจักบัญญัติ ซึ่งการมาการไป การจุติ การอุบัติ ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขารดังนี้นั้น, นี่ ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์   ภาคต้น  หน้า  ๒๐๕

(ภาษาไทย)ขนฺธ. สํ. ๑๗/๕๔/๑๐๖-๑๐๗.: คลิกดูพระสูตร

 

หมด อาหารก็นิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ใน อาหารคือคำข้าว ก็ดี ใน อาหารคือผัสสะก็ดี ใน อาหารคือมโนสัญเจตนา ก็ดี ใน อาหารคือวิญญาณ ก็ดี แล้วไซร้, วิญญาณก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ไม่ได้เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในสิ่งนั้นๆ. วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด, การก้าวลงแห่งนามรูปย่อมไม่มีในที่นั้น; การก้าวลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด,ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น; ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด, การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น; การบังเกิดในภพใหม่ต่อไปไม่มีในที่ใด, ชาติชราและมรณะต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น;ชาติชราและมรณะต่อไป ไม่มีในที่ใด,

ภิกษุทั้งหลาย !เราเรียก ที่นั้นว่าเป็น ที่ไม่โศก ไม่มีธุลี และไม่มีความคับแค้นดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเรือนยอดหรือศาลาเรือนยอด ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือหรือใต้ก็ตาม เป็นเรือนมีหน้าต่างทางทิศตะวันออก. ครั้นดวงอาทิตย์

ขึ้นมาแสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์ส่องเข้าไปทางช่องหน้าต่างแล้วจักตั้งอยู่ที่ส่วนไหนแห่งเรือนนั้นเล่า ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์จักปรากฏที่ฝาเรือนข้างในด้านทิศตะวันตก พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าฝาเรือนทางทิศตะวันตกไม่มีเล่า แสงแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏอยู่ที่ไหน ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้นจักปรากฏที่พื้นดิน พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าพื้นดินไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหน ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้นจักปรากฏในน้ำพระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าน้ำไม่มีเล่า แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น จักปรากฏที่ไหนอีก ?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! แสงสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏแล้ว พระเจ้าข้า !”.

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้นแล :ถ้าไม่มีราคะ ไม่มีนันทิ ไม่มีตัณหา ในอาหารคือ

คำข้าวก็ดี ในอาหารคือผัสสะก็ดี ในอาหารคือมโนสัญเจตนาก็ดี ในอาหารคือวิญญาณก็ดี แล้วไซร้, วิญญาณก็เป็นสิ่ง

ที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ ในอาหารคือคำข้าวเป็นต้นนั้นๆ.

วิญญาณตั้งอยู่ไม่ได้ เจริญงอกงามอยู่ไม่ได้ในที่ใด,

การก้าวลงแห่งนามรูป ย่อมไม่มีในที่นั้น;

การก้าวลงแห่งนามรูป ไม่มีในที่ใด, ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมไม่มีในที่นั้น;

ความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ไม่มีในที่ใด,

การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น;

การบังเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีในที่ใด, ชาติชราและมรณะต่อไป ย่อมไม่มีในที่นั้น;

ชาติชรามรณะต่อไป ไม่มีในที่ใด, ภิกษุทั้งหลาย !เราเรียก ที่นั้น ว่าเป็น ที่ไม่โศก ไม่มีธุลี และไม่มีความคับแค้นดังนี้.

ก้าวย่างอย่างพุทธะ  หน้า  ๑๑๑

 (ภาษาไทย)นิทาน. สํ. ๑๖/๑๐๑/๒๔๘-๒๔๙.: คลิกดูพระสูตร 

 

ทุกขอริยสัจ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคืออริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะทุกข์โทมนัสอุปายาส ก็เป็นทุกข์ แม้ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่าชาติ ฯ

ก็ชราเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนัง เป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้ เรียกว่าชรา ฯ

ก็มรณะเป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันนี้เรียกว่ามรณะ ฯ

ก็โสกะเป็นไฉน ความแห้งใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้ เรียกว่าโสกะ ฯ

ก็ปริเทวะเป็นไฉน ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าปริเทวะ ฯ

ก็ทุกข์เป็นไฉน ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่กายสัมผัส อันนี้เรียกว่าทุกข์ ฯ

ก็โทมนัสเป็นไฉน ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่มโนสัมผัส อันนี้เรียกว่าโทมนัส ฯ

ก็อุปายาสเป็นไฉน ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคลผู้ประกอบด้วยความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว อันนี้เรียกว่าอุปายาส ฯ

ก็ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความประสบความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็น ประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ฯ

ก็ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์ หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น อันนี้เรียกว่า ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ก็เป็นทุกข์ ฯ

ก็ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ เป็นไฉน ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้นสัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้น ก็เป็นทุกข์ ฯ

(ภาษาไทย) มหา. ที. ๑๐/๒๒๖-๒๒๘/๒๙๔-๒๙๕. : คลิกดูพระสูตร 

 

การแสวงหามีสองอย่าง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันจบแล้ว จึงทรงกระแอมแล้วเคาะบานประตู ภิกษุเหล่านั้นได้เปิดประตูรับ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปที่อาศรมของพราหมณ์ชื่อรัมมกะ ประทับนั่งบนอาสนะที่ได้จัดไว้ แล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนาเรื่องอะไรกัน และเรื่องอะไรที่พวกเธอสนทนากันค้างไว้?

ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมีกถาปรารภถึงพระผู้มีพระภาคนั้นแล พวกข้าพระองค์พูดกันค้างอยู่ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง

 

พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า

ดีละ ภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอผู้เป็นกุลบุตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา นั่งสนทนาธรรมีกถากัน เป็นการสมควร พวกเธอเมื่อนั่งประชุมกัน ควรทำกิจสองอย่าง คือ

สนทนาธรรมกัน หรือ

นั่งนิ่งตามแบบพระอริยะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามีสองอย่าง คือ

การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐอย่างหนึ่ง

การแสวงหาที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

ก็อะไรเรียกว่า สิ่งมีชาติเป็นธรรมดา บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีชาติเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชาติเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้องในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา อยู่นั่นแหละ

ก็อะไรเล่าเรียกว่า สิ่งมีชราเป็นธรรมดา บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งมีชราเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีชราเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีชราเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ยังแสดงหาสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีความโศกเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีความโศกเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาเหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาเหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีความโศกเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

ก็อะไรเล่า เรียกว่า สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา? บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน เรียกว่า สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา เหล่านั้น เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพัน ลุ่มหลง เกี่ยวข้อง ในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา เหล่านั้น ชื่อว่าโดยตนเองเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่นั่นแหละ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือการแสดงหาที่ไม่ประเสริฐ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การแสวงหาที่ประเสริฐเป็นไฉน?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้ โดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ โดยตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ โดยตนเองเป็นผู้พยาธิเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน หาพยาธิมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ โดยตนเองเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ โดยตนเองเป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพาน ที่หาโศกมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ โดยตนเองเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แล คือการแสวงหาที่ประเสริฐ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

แม้เราก่อนตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ เป็นโพธิสัตว์อยู่ทีเดียว โดยตนเองเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็ยังแสดงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีความโศกเป็นธรรมดานั่นแล เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดานั้นแล

เราจึงคิดดังนี้ว่า เราเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ไฉนจึงยังแสวงหาสิ่งมีชาติเป็นธรรมดาอยู่เล่า เป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ไฉนจึงยังแสวงหาสิ่งมีชราเป็นธรรมดาอยู่เล่า เป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ไฉนจึงยังแสวงหาสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดาอยู่เล่า เป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ไฉนจึงยังแสวงหาสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดาอยู่เล่า เป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ไฉนจึงยังแสวงหาสิ่งมีโศกเป็นธรรมดาอยู่เล่า เป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ไฉนจึงยังแสวงหา สิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดาอยู่เล่า

ไฉนหนอ เราเมื่อเป็นผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีชาติเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่เกิด หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีชราเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่แก่ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีพยาธิเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพานที่หายพยาธิมิได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีมรณะเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่ตาย หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีโศกเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีโศกเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพาน ที่หาโศกไม่ได้ หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ เมื่อเป็นผู้มีสังกิเลสเป็นธรรมดา ก็ควรทราบชัดโทษในสิ่งมีสังกิเลสเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาพระนิพพานที่ไม่เศร้าหมอง หาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เกษมจากโยคะ.

(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๒๒๐-๒๒๒/๓๑๓-๓๑๖. : คลิกดูพระสูตร

 

 

วิภังคสูตร

ปฏิจจสมุปบาท

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง จักจำแนกปฏิจจสมุปบาทแก่พวกเธอ พวกเธอจงฟังปฏิจจสมุปบาท นั้น จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาท เป็นไฉน  ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เพราะ  อวิชชา      เป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

เพราะ  สังขาร      เป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ

เพราะ  วิญญาณ    เป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

เพราะ  นามรูป      เป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ

เพราะ  สฬายตนะ  เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

เพราะ  ผัสสะ       เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

เพราะ  เวทนา      เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

เพราะ  ตัณหา      เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

เพราะ  อุปาทาน   เป็นปัจจัย จึงมีภพ

เพราะ  ภพ          เป็นปัจจัย จึงมีชาติ

เพราะ  ชาติ         เป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข์โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ชราและมรณะเป็นไฉน ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่าชรา

ก็มรณะ เป็นไฉน ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความทำลาย ความอันตรธาน มฤตยู ความตาย กาลกิริยา ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพ ความขาด แห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่ามรณะ ชราและ มรณะ ดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่า ชราและมรณะ ฯ

ก็ชาติเป็นไฉน ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลง เกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบในหมู่สัตว์นั้นๆ ของ เหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่าชาติ ฯ

ก็ภพเป็นไฉน ภพ ๓ เหล่านี้คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ นี้เรียกว่าภพ ฯ

ก็อุปาทานเป็นไฉน อุปาทาน ๔ เหล่านี้คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน นี้เรียกว่า อุปาทาน ฯ

ก็ตัณหาเป็นไฉน ตัณหา ๖ หมวดเหล่านี้คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา นี้เรียกว่าตัณหา ฯ

ก็เวทนาเป็นไฉน เวทนา ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา นี้เรียกว่าเวทนา ฯ

ก็ผัสสะเป็นไฉน ผัสสะ ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี้เรียกว่าผัสสะ ฯ

ก็สฬายตนะเป็นไฉน อายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เรียกว่าสฬายตนะ ฯ

ก็นามรูปเป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป นามและรูปดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่านามรูป ฯ

ก็วิญญาณเป็นไฉน วิญญาณ ๖ หมวดเหล่านี้คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่า วิญญาณ ฯ

ก็สังขารเป็นไฉน สังขาร ๓ เหล่านี้คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร นี้เรียกว่าสังขาร ฯ

ก็อวิชชาเป็นไฉน ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ความไม่รู้ในความดับทุกข์ ความไม่รู้ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับทุกข์นี้เรียกว่าอวิชชา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ... ดังพรรณนามาฉะนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

ก็เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึง ดับ เพราะสังขาร ดับ วิญญาณจึงดับ ... ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมี ด้วยประการอย่างนี้ ฯ

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๒-๔/๔-๑๘. : คลิกดูพระสูตร 

 

พาลปัณฑิตสูตร

ความต่างกันของบัณฑิตกับคนพาล

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้ของคนพาล ผู้อันอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ประกอบด้วยตัณหา เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ กายนี้ด้วย นามรูปในภายนอกด้วย ย่อมมีด้วยประการดังนี้ เพราะอาศัยกายและนามรูปทั้งสองนี้ จึงเกิดผัสสะ สฬายตนะ ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องคนพาล เป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์ กายนี้ของบัณฑิตผู้อันอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ประกอบด้วยตัณหา เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ กายนี้ด้วย นามรูปในภายนอกด้วย ย่อมมีด้วยประการดังนี้ เพราะอาศัยกายและนามรูปทั้งสองนี้ จึงเกิดผัสสะ สฬายตนะ ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นหรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกต้องบัณฑิต เป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนั้น จะแปลกกันอย่างไร จะมีอธิบายอย่างไร จะต่างกันอย่างไร ระหว่างบัณฑิตกับพาล

พวกภิกษุกราบทูลว่า

พระพุทธเจ้าข้า ธรรมของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นเดิม มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ขอประทานพระวโรกาส เนื้อความแห่งพระภาษิตนี้ แจ่มแจ้งแก่พระผู้มีพระภาคพระองค์เดียว ภิกษุทั้งหลายได้ฟังแต่พระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว

ภิกษุพวกนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

กายนี้ของคนพาลผู้ถูกอวิชชาใดหุ้มห่อแล้ว และประกอบแล้วด้วยตัณหาใด เกิดขึ้นแล้ว อวิชชานั้น คนพาลยังละไม่ได้ และตัณหานั้นยังไม่สิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนพาลไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เหตุนั้น เมื่อตายไปคนพาลย่อมเข้าถึงกาย เมื่อเขาเข้าถึงกาย ชื่อว่ายังไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ยังไม่พ้นไปจากทุกข์

กายนี้ของบัณฑิตผู้ถูกอวิชชาใดหุ้มห่อแล้ว และประกอบด้วยตัณหาใด เกิดขึ้นแล้ว อวิชชานั้น บัณฑิตละได้แล้ว และตัณหานั้นสิ้นไปแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าบัณฑิตได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เหตุนั้น เมื่อตายไป บัณฑิตย่อมไม่เข้าถึงกาย เมื่อเขาไม่เข้าถึงกาย ชื่อว่าย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นจากทุกข์

อันนี้เป็นความแปลกกัน อันนี้เป็นอธิบาย อันนี้เป็นความต่างกันของบัณฑิตกับคนพาล กล่าวคือการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๑๖/๒๑-๒๒/๕๗-๕๙. : คลิกดูพระสูตร 

 

อภัพพสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้ว ไม่พึงรุ่งเรืองในโลก ๓ ประการเป็นไฉน คือ

ชาติ ๑

ชรา ๑

มรณะ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้แล ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยอันพระตถาคตทรงประกาศไว้แล้วไม่พึงรุ่งเรืองในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรม ๓ ประการนี้ มีอยู่ในโลก ฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้จึงรุ่งเรืองในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ ชาติ ชรา มรณะได้  ๓ ประการเป็นไฉน คือ

ราคะ ๑

โทสะ ๑

โมหะ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละชาติ ชรา มรณะได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ ราคะ โทสะ โมหะได้    ๓ ประการเป็นไฉน คือ

สักกายทิฏฐิ ๑

วิจิกิจฉา ๑

สีลัพพตปรามาส ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละราคะ โทสะ โมหะได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละ สักกายทิฏฐิวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้  ๓ ประการเป็นไฉน คือ

การกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย ๑

การเสพทางผิด ๑

ความหดหู่แห่งจิต ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล ก็ไม่อาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละการกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ

ความเป็นผู้มีสติหลงลืม ๑

ความไม่มีสัมปชัญญะ ๑

ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละการกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้  ๓ ประการเป็นไฉน คือ

ความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ๑

ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ๑

ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ

ความฟุ้งซ่าน ๑

ความไม่สำรวม ๑

ความทุศีล ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความทุศีลได้  ๓ ประการเป็นไฉน คือ

ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑

ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ๑

ความเกียจคร้าน ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความทุศีลได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้าน  ๓ ประการเป็นไฉนคือ

ความไม่เอื้อเฟื้อ ๑

ความเป็นผู้ว่ายาก ๑

ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้านได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละความไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้  ๓ ประการเป็นไฉน คือ

ความไม่มีหิริ ๑

ความไม่มีโอตตัปปะ ๑

ความประมาท ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว ก็ไม่อาจละความไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัว เป็นผู้ประมาท ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้ บุคคลเป็นผู้มีมิตรชั่ว ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้านได้ บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน ก็ไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความทุศีลได้ บุคคลเป็นผู้ทุศีล ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้ บุคคลเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี ก็ไม่อาจละความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้ บุคคลเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ก็ไม่อาจละความกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้ บุคคลเป็นผู้มีจิตหดหู่ ก็ไม่อาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ บุคคลเป็นผู้มีวิจิกิจฉา ก็ไม่อาจละราคะ โทสะ โมหะได้ บุคคลไม่ละราคะ โทสะ โมหะแล้ว ก็ไม่อาจละชาติ ชรา มรณะได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการแล้ว จึงอาจละชาติ ชรา มรณะได้ ๓ ประการ เป็นไฉน คือ ราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึงอาจละชาติ ชรา มรณะได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการแล้ว จึงอาจละ ราคะ โทสะ โมหะได้ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึงอาจละ ราคะ โทสะ โมหะได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการแล้ว จึงอาจละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ การกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย ๑ การเสพทางผิด ๑ ความหดหู่แห่งจิต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึงอาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการแล้ว จึงอาจละการกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้มีสติหลงลืม ๑ ความไม่มีสัมปชัญญะ ๑ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึงอาจละการกระทำไว้ในใจโดยอุบายไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการแล้ว จึงอาจละความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ๑ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ๑ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึงอาจละความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการแล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความฟุ้งซ่าน ๑ ความไม่สำรวม ๑ ความเป็นผู้ทุศีล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการแล้ว จึงอาจละความฟุ้งซ่านความไม่สำรวม ความเป็นผู้ทุศีลได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ๑ ความเกียจคร้าน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึงอาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความเป็นผู้ทุศีลได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการแล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้านได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ๑ ความเป็นผู้ว่ายาก ๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้านได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการแล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ความเป็นผู้ไม่มีความละอาย ๑ ความเป็นผู้ไม่มีความเกรงกลัว ๑ ความประมาท ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

บุคคลผู้มีความละอาย มีความเกรงกลัว ไม่ประมาทอยู่ ก็อาจละความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก ความเป็นผู้มีมิตรชั่วได้

บุคคลเป็นผู้มีมิตรดี ก็อาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่รู้ความประสงค์ ความเกียจคร้านได้

บุคคลเป็นผู้ปรารภความเพียร ก็อาจละความเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม ความเป็นผู้ทุศีลได้

บุคคลเป็นผู้มีศีล ก็อาจละความเป็นผู้ไม่ใคร่เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ใคร่ฟังธรรมของพระอริยะ ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้

บุคคลเป็นผู้มีจิตไม่คิดแข่งดี ก็อาจละความเป็นผู้มีสติหลงลืม ความไม่มีสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้

บุคคลเป็นผู้มีจิตอันไม่ฟุ้งซ่าน ก็อาจละการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย การเสพทางผิด ความหดหู่แห่งจิตได้

บุคคลเป็นผู้มีจิตไม่หดหู่ ก็อาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้

บุคคลเป็นผู้ไม่มีวิจิกิจฉา ก็อาจละราคะ โทสะ โมหะได้

บุคคลละราคะ โทสะ โมหะแล้ว ก็อาจละชาติ ชรา มรณะได้

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑๒๖-๑๓๐/๗๖. : คลิกดูพระสูตร 

 

 

Today289
Yesterday425
This week2912
This month2061
Total2360055

Who Is Online

13
Online