Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

วิมุตติญาณทัสสนะ และ อวิชชา เกี่ยวข้องกันอย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วีดีโอ 1


บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี
ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์   11 ก.ย. 2555

ดาวน์โหลด : mp4, mp3

 

วีดีโอ 2

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี
สนทนาธรรมค่ำวันเสาร์   5 ก.พ. 2554

ดาวน์โหลด : pm4, mp3

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

 

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า สัตว์ สัตว์ ดังนี้ ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล จึงเรียกว่า สัตว์?

     พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ เพราะเหตุที่มี ความพอใจ ความกำหนัดความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูปแล เป็นผู้ข้องในรูป เป็นผู้เกี่ยวข้องในรูปนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่า สัตว์. เพราะเหตุที่มีความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ... ในวิญญาณ เป็นผู้ข้องในวิญญาณ เป็นผู้เกี่ยวข้องในวิญญาณนั้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า สัตว์.

       ดูกรราธะ เด็กชายหรือเด็กหญิง เล่นอยู่ตามเรือนฝุ่นทั้งหลาย เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความกระวนกระวาย ไม่ปราศจากความทะยานอยาก ในเรือนฝุ่นเหล่านั้นอยู่เพียงใด ย่อมอาลัย ย่อมอยากเล่น ย่อมหวงแหน ย่อมยึดถือเรือนฝุ่นทั้งหลายอยู่เพียงนั้น. ดูกรราธะ แต่ว่าในกาลใด เด็กชายหรือเด็กหญิงเป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความกระวนกระวาย ปราศจากความทะยานอยากในเรือนฝุ่นเหล่านั้นแล้ว ในกาลนั้นแล เด็กชายหรือเด็กหญิงเหล่านั้น ย่อมรื้อ ย่อมยื้อแย่ง ย่อมกำจัด ย่อมทำเรือนฝุ่นเหล่านั้น ให้เล่นไม่ได้ด้วยมือและเท้า ฉันใด

       ดูกรราธะ แม้เธอทั้งหลายก็จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัด จงทำรูปให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัด จงทำเวทนาให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัด จงทำสัญญาให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัด จงทำสังขารให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา จงรื้อ จงยื้อแย่ง จงกำจัด จงทำวิญญาณให้เป็นของเล่นไม่ได้ จงปฏิบัติเพื่อความสิ้นไปแห่งตัณหา ฉันนั้นนั่นเทียวแล.

       ดูกรราธะ เพราะว่าความสิ้นไปแห่งตัณหา เป็นนิพพาน.

(ไทย) สํ.ข. ๑๗/๑๙๑-๑๙๒/๓๖๗.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) สํ.ข. ๑๗/๒๓๒-๒๓๓/๓๖๗.คลิกดูพระสูตร

 
 

ภิกษุ !    สำหรับปัญหาของเธอนั้น เธอไม่ควรตั้งคำถามขึ้นว่า  “มหาภูตสี่  คือ  ดิน  น้ำ ไฟ  ลม   เหล่านี้     ย่อมดับสนิทไม่มีเหลือ  ในที่ไหน ?”   ดังนี้เลย ;

อันที่จริง เธอควรจะตั้งคำถามขึ้นอย่างนี้ว่า

 “ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หยั่งลงได้ในที่ไหน ? ความยาว ความสั้น  ความเล็ก ความใหญ่  ความงาม  ความไม่งาม    ไม่หยั่งลงได้ในที่ไหน  ?  นามรูปดับสนิทไม่มีเหลือ ในที่ไหน ?” ดังนี้ต่างหาก.   

ภิกษุ !  ในปัญหานั้น คำตอบมีดังนี้

 “สิ่ง” สิ่งหนึ่งซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์ ไม่มีที่สุด   มีทางปฏิบัติเข้ามาถึงได้โดยรอบ,      นั้นมีอยู่ ;      ใน   “สิ่ง” นั้นแหละ   ดิน  น้ำ  ไฟ  ลม  ไม่หยั่งลงได้   ; ใน  “สิ่ง” นั้นแหละ ความยาว ความสั้น ความเล็ก  ความใหญ่ ความงาม ความไม่งาม ไม่หยั่งลงได้ ;       ใน  “สิ่ง”  นั้นแหละ     นามรูป   ดับสนิทไม่มีเหลือ นามรูปดับสนิทใน  “สิ่ง” นี้ เพราะการดับสนิทของวิญญาณ ดังนี้แล.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๔๓๘

(ไทย) สี. ที. ๙/๓๒๙/๓๔๙-๓๕๐ .คลิกดูพระสูตร              

(บาลี) สี. ที. ๙/๓๘๓/๓๔๙-๓๕๐. .คลิกดูพระสูตร

 
  

ภิกษุ ท. !  สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม   ๓  อย่าง    เหล่านี้   มีอยู่.

สามอย่างอย่างไรเล่า ?  สามอย่างคือ :-

๑.  มีการเกิดปรากฏ (อุปฺปาโท ปญฺญายติ);

๓.  เมื่อตั้งอยู่ ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).

ภิกษุ ท. !  สามอย่างเหล่านี้แล  คือสังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม.

 

ภิกษุ ท. !  อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม  ๓  อย่างเหล่านี้   มีอยู่.

สามอย่างอย่างไรเล่า ?  สามอย่างคือ :-

๑.  ไม่ปรากฏมีการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺญายติ) ;

๒. ไม่ปรากฏมีการเสื่อม (น วโย ปญฺญายติ) ;

๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).

ภิกษุ ท. !  สามอย่างเหล่านี้แล   คืออสังขตลักษณะของอสังขตธรรม.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๔๔๘

(ไทย) ติก. อํ. ๒๐/๑๔๔/๔๘๖-๔๘๗.คลิกดูพระสูตร              

(บาลี) ติก. อํ. ๒๐/๑๙๒/๔๘๖-๔๘๗.คลิกดูพระสูตร

 
 

 

ภิกษุโมลิยผัคคุนะ ได้ทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ก็ใครเล่า  ย่อมกลืนกินซึ่งวิญญาณาหาร  พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า  ได้ตรัสตอบว่า

“นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : เราย่อมไม่กล่าวว่า ‘บุคคลย่อมกลืนกิน’ ดังนี้   ถ้าเราได้กล่าวว่า ‘บุคคลย่อมกลืนกิน’ ดังนี้  นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหา   ในข้อนี้ที่ควรถามขึ้นว่า ‘ก็ใครเล่า  ย่อมกลืนกิน (ซึ่งวิญญาณาหาร) พระเจ้าข้า ?’  ดังนี้.  ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! วิญญาณาหาร ย่อมมีเพื่ออะไรเล่าหนอ ?’ ดังนี้แล้ว, นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา. คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า ‘วิญญาณาหาร ย่อมมีเพื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ต่อไป. เมื่อภูตะ (ความเป็นภพ) นั้น มีอยู่, สฬายตนะ ย่อมมี; เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ (การสัมผัส)’,  ดังนี้”.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ใครเล่า  ย่อมสัมผัส  พระเจ้าข้า ?”

นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : เราย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคล ย่อมสัมผัส”  ดังนี้  ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคล  ย่อมสัมผัส”  ดังนี้  นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่า ย่อมสัมผัส พระเจ้าข้า ?” ดังนี้. ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “ผัสสะมี เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย พระเจ้าข้า ?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา. คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า “เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา (ความรู้สึกต่ออารมณ์)”, ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็ใครเล่า  ย่อมรู้สึกต่ออารมณ์  พระเจ้าข้า ?”

นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : เราย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคล ย่อมรู้สึกต่ออารมณ์” ดังนี้ ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคล ย่อมรู้สึกต่ออารมณ์” ดังนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่า ย่อมรู้สึกต่ออารมณ์ พระเจ้าข้า ?” ดังนี้. ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา พระเจ้าข้า ?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา. คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า “เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย   จึงมีเวทนา;  เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย   จึงมีตัณหา  (ความอยาก)” ,  ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ก็ใครเล่า  ย่อมอยาก  พระเจ้าข้า ?”

นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : เราย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคล ย่อมอยาก” ดังนี้, ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคลย่อมอยาก” ดังนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่าย่อมอยาก พระเจ้าข้า ?” ดังนี้. ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “เพราะมีอะไรเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา พระเจ้าข้า ?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา.  คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า  “เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา; เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย  จึงมีอุปาทาน (ความยึดมั่น)”, ดังนี้.

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ! ก็ใครเล่า ย่อมยึดมั่น พระเจ้าข้า ?”

นั่นเป็นปัญหาที่ไม่ควรจะเป็นปัญหาเลย : เราย่อมไม่กล่าวว่า “บุคคลย่อมยึดมั่น” ดังนี้ ถ้าเราได้กล่าวว่า “บุคคลย่อมยึดมั่น” ดังนี้ นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาในข้อนี้ ที่ควรถามขึ้นว่า “ก็ใครเล่า ย่อมยึดมั่น พระเจ้าข้า ?” ดังนี้. ก็เรามิได้กล่าวอย่างนั้น, ถ้าผู้ใดจะพึงถามเราผู้มิได้กล่าวอย่างนั้น เช่นนี้ว่า “เพราะมีอะไรเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน พระเจ้าข้า ?” ดังนี้แล้ว นั่นแหละจึงจะเป็นปัญหาที่ควรแก่ความเป็นปัญหา. คำเฉลยที่ควรเฉลยในปัญหาข้อนั้น ย่อมมีว่า “เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน; เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ;” เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

ดูก่อนผัคคุนะ !  เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งผัสสายตนะ(แดนเกิดแห่งผัสสะ) ทั้ง ๖ นั้น นั่นเทียว  จึงมีความดับแห่งผัสสะ;เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา;เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา; เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน; เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ; เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ; เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัส อุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ดังนี้ แล.

 

ปฏิจจสมุปบาทแห่งพระโอษฐ์ หน้า ๘๐๐

(ไทย) สํ. นิ. ๑๖/๑๑-๑๓/๓๒-๓๗.คลิกดูพระสูตร

บาลี) สํ. นิ. ๑๖/๑๕-๑๗/๓๒-๓๗.คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

 

Today590
Yesterday684
This week4141
This month14159
Total2521464

Who Is Online

79
Online