คำว่า จิตปรุงแต่ง และ ปรุงแต่งจิต คืออย่างไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภพ เป็นอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย ! ภพ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภพทั้งหลาย ๓ อย่าง เหล่านี้คือ :- กามภพ รูปภพ อรูปภพ.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ภพ.
ความก่อขึ้นพร้อมแห่งภพ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอุปาทาน …
พุทธวจน ภพภูมิ หน้า ๓.
(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๒-๓/๒,๘. : คลิกดูพระสูตร
เครื่องนําไปสู่ภพ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระองค์ตรัสอยู่ว่า ‘เครื่องนําไปสู่ภพ เครื่องนําไปสู่ภพ’ ดังนี้ ก็เครื่องนําไปสู่ภพ เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า ! และความดับไม่เหลือของเครื่องนําไปสู่ภพนั้น เป็นอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า !
ราธะ ! ฉันทะ (ความพอใจ) ก็ดี ราคะ (ความกําหนัด) ก็ดี นันทิ (ความเพลิน) ก็ดีตัณหา (ความอยาก) ก็ดี อุปายะ (กิเลสเป็นเหตุเข้าไปสู่ภพ) และอุปาทาน (ความถือมั่นด้วยอํานาจกิเลส) อันเป็นเครื่องตั้งทับ เครื่องเข้าไปอาศัย และเครื่องนอนเนื่องแห่งจิตก็ดีใดๆ ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณ กิเลสเหล่านี้ นี่เราเรียกว่า ‘เครื่องนําไปสู่ภพ’ ความดับไม่เหลือของเครื่องนําไปสู่ภพ มีได้ เพราะความดับไม่เหลือของกิเลส มีฉันทะ ราคะ เป็นต้นเหล่านั้นเอง.
พุทธวจน ภพภูมิ หน้า ๘.
(ภาษาไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๙๒/๓๖๘. : คลิกดูพระสูตร
เบญจขันธ์
ภิกษุทั้งหลาย ! เบญจขันธ์ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! รูป ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีต อนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม ; นี้ เรียกว่า รูปขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เวทนา ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม ; นี้ เรียกว่า เวทนาขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย ! สัญญา ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม ; นี้ เรียกว่า สัญญาขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลาย ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม ; นี้ เรียกว่า สังขารขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่ จะเป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม ; นี้ เรียกว่า วิญญาณขันธ์.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้ เรียกว่า เบญจขันธ์.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น หน้า ๑๕๔.
(ภาษาไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๔๗/๙๕. : คลิกดูพระสูตร
ลักษณะของการอยู่อย่างมีตัณหาเป็นเพื่อน
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง พระเจ้าข้า ?”
มิคชาละ !รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่.
ถ้าหากว่าภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้;แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นอยู่ นั่นแหละ,
นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น
เมื่อ นันทิ มีอยู่, สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมมี;เมื่อ สาราคะ มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี :
มิคชาละ ! ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง”
(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหู, กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก, รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้น, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกาย, และธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ, ก็ทรงตรัสอย่างเดียวกัน).
มิคชาละ ! ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะส้องเสพเสนาสนะอันเป็นป่าและป่าชัฏ ซึ่งเงียบสงัด มีเสียงรบกวนน้อย มีเสียงกึกก้องครึกโครมน้อย ปราศจากลมจากผิวกายคน เป็นที่ทำการลับของมนุษย์ เป็นที่สมควรแก่การหลีกเร้น เช่นนี้แล้ว ก็ตาม ถึงกระนั้น ภิกษุนั้นเราก็ยังคงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสองอยู่นั่นเอง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่าตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น.ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ยังละไม่ได้แล้ว เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง” ดังนี้.
พุทธวจน อินทรียสังวร(ตามดู ! ไม่ตามไป …) หน้า ๒๔.
(ภาษาไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๓๔/๖๖-๖๗. : คลิกดูพระสูตร
ลักษณะของผู้ไม่ตั้งจิตในกายคตาสติ
ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน
มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง
คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง
จับจระเข้...จับนก...จับสุนัขบ้าน...จับสุนัขจิ้งจอก...
และจับลิงมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ
ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน หรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลาย !
ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน
ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ :
งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงน้ำ นกจะบินขึ้นไปในอากาศ
สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า ลิงก็จะไปป่า
ภิกษุทั้งหลาย !
ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น
มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไป
ยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง
ข้อนี้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุใดได้อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ
รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง
เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ
รสที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย !
คำว่า “เสาเขื่อน หรือเสาหลัก” นี้
เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่ง กายคตาสติ
ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
“กายคตาสติของเราทั้งหลาย
จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก
กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้
เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ
เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย !
พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ด้วยอาการอย่างนี้แล.
พุทธวจน อินทรียสังวร(ตามดู ! ไม่ตามไป …) หน้า ๖๘.
(ภาษาไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๒๑๓/๓๔๘. : คลิกดูพระสูตร
ความหมายของคําว่า “สังขารทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลาย ! คนทั่วไปกล่าวกันว่า “สังขารทั้งหลาย” เพราะอาศัยความหมายอะไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะกิริยาที่ปรุงแต่งให้สําเร็จรูป มีอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้น
สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่า “สังขารทั้งหลาย”.
สิ่งนั้น ย่อมปรุงแต่งอะไร ให้เป็นของสําเร็จรูป ?
สิ่งนั้น ย่อมปรุงแต่งรูป ให้สําเร็จรูป เพื่อความเป็นรูป,
สิ่งนั้น ย่อมปรุงแต่งเวทนา ให้สําเร็จรูป เพื่อความเป็นเวทนา,
สิ่งนั้น ย่อมปรุง แต่งสัญญา ให้สําเร็จรูป เพื่อความเป็นสัญญา,
สิ่งนั้น ย่อมปรุงแต่งสังขาร ให้สําเร็จรูป เพื่อความเป็นสังขาร, และ
สิ่งนั้น ย่อมปรุงแต่งวิญญาณ ให้สําเร็จรูป เพื่อความเป็นวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะกิริยาที่ปรุงแต่งให้สําเร็จรูป มีอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้น
สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่า “สังขารทั้งหลาย”.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคตัน หน้า ๑๙๙.
(ภาษาไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๘๗/๑๕๙. : คลิกดูพระสูตร
ทุกขสมุทยอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย …
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ สังขารทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! สังขารทั้งหลาย ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กายสังขาร
(ความปรุงแต่งทางกาย) วจีสังขาร (ความปรุงแต่งทางวาจา) จิตตสังขาร (ความปรุงแต่งทางใจ) :
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้เรียกว่า สังขารทั้งหลาย. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขารย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งอวิชชา …
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ …
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ วิญญาณ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! หมู่แห่งวิญญาณทั้งหลาย ๖ หมู่ เหล่านี้ คือ จักขุวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางตา) โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ (ผู้รู้แจ้งทางใจ) :
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า วิญญาณ. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งสังขาร …
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป …
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ นามรูป เป็นอย่างไรเล่า ?
เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ : นี้เรียกว่านาม. มหาภูตทั้งสี่ด้วย รูปที่อาศัยมหาภูตทั้งสี่ด้วย : นี้เรียกว่า รูป. นามนี้ด้วย รูปนี้ด้วย ย่อมมีอยู่อย่างนี้ :
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า นามรูป. ความก่อขึ้นพร้อมแห่งนามรูป ย่อมมี เพราะความก่อขึ้นพร้อมแห่งวิญญาณ …ฯ…
พุทธวจน คู่มือโสดาบัน หน้า ๓๙.
(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๓๘/๘๘-๘๙. : คลิกดูพระสูตร
เหตุแห่งทิฏฐิ ๖
ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุแห่งทิฏฐิ ๖ ประการ เหล่านี้. ๖ ประการ เป็นไฉน ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรม ของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำแล้วในธรรมของสัตบุรุษ
ย่อมพิจารณา เห็นรูปว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ย่อมพิจารณา เห็นเวทนาว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ย่อมพิจารณา เห็นสัญญาว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ย่อมพิจารณา เห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ย่อมพิจารณา เห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา
ย่อมพิจารณา เห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั่นโลก นั่นอัตตาในปรโลก เรานั่นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืนคงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา…
(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๑๘๘/๒๘๑. : คลิกดูพระสูตร
ผลจากการวางจิตเมื่อให้ทาน
สารีบุตร ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานโดยไม่มีความหวังผล … ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส
แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ… ย่อมเข้าถึงความเป็น สหายแห่งเทวดาเหล่าพรหมกายิกา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็น ใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้.
สารีบุตร ! นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
พุทธวจน ภพภูมิ หน้า ๒๕๑.
(ภาษาไทย) สตฺตก. อํ. ๒๓/๕๖/๔๙. : คลิกดูพระสูตร
การให้ทานในโสดาบัน
ช่างไม้ทั้งหลาย ! อริยสาวก ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็น
พระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
ธรรม ๔ ประการนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ :-
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
(๑) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า
(๒) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม
(๓) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์
(๔) มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน.
ช่าง ไม้ทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เหล่านี้ แล ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
พุทธวจน คู่มือโสดาบัน หน้า ๒๑๕.
(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๕๒/๑๔๕๒. : คลิกดูพระสูตร