Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

การปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม แบบปฏิบัติสบาย แบบปฏิบัติลำบาก คืออย่างไร และบรรลุผลช้าเร็วต่างกันอย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

เสียง


แสดงธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

 วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่


พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เป็นผู้มีปกติเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญาว่าปฏิกูลในอาหารมีสัญญาในโลกทั้งปวง โดยความเป็นของไม่น่ายินดี เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน.

ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ; แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่าอ่อน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้ยังอ่อน ภิกษุนั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า :

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า .

แบบปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เป็นผู้มีปกติเห็นความไม่งามในกาย มีสัญญาว่า ปฏิกูลในอาหาร มีสัญญาในโลกทั้งปวง โดยความเป็นของไม่น่ายินดีเป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง มรณสัญญาก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน.

ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ; แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ ของเธอนั้น ปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง (แก่กล้า) คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้มีประมาณยิ่ง ภิกษุนั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว :

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรียกว่า ปฏิบัติลำบาก รู้ได้เร็ว.

แบบปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน (มีรายละเอียดดังที่แสดงแล้วในที่ทั่วไป) แล้วแลอยู่.

ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ; แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่าอ่อน คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้ยังอ่อน ภิกษุนั้น จึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้า :

ภิกษุทั้งหลาย !

นี้เรียกว่า ปฏิบัติสบาย รู้ได้ช้า .

แบบปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน... ตติยฌาน... จตุตถฌาน ... แล้วแลอยู่.

ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยธรรม เป็นกำลังของพระเสขะ ๕ ประการเหล่านี้อยู่ คือ สัทธาพละ หิริพละ โอตตัปปพละ วิริยพละ ปัญญาพละ; แต่ อินทรีย์ ๕ ประการเหล่านี้ของเธอนั้น ปรากฏว่ามีประมาณยิ่ง คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์. เพราะเหตุที่อินทรีย์ทั้งห้าเหล่านี้มีประมาณยิ่ง ภิกษุนั้นจึง บรรลุอนันตริยกิจ เพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว :

ภิกษุทั้งหลาย !

นี้เรียกว่า ปฏิบัติสบาย รู้ได้เร็ว.

มรรค(วิธี) ที่ง่าย หน้า ๑๑๔–๑๑๘

(ภาษาไทย) จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๔๗-๑๔๘/๑๖๑-๑๖๒. : คลิกดูพระสูตร

 

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรกัสสป เธอจงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายกัสสป เราหรือเธอพึงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย ฯ

ท่านพระมหากัสสปได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้ เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ ฯ

พ. ดูกรกัสสป ก็เป็นความจริงอย่างนั้น ครั้งก่อน ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเถระเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร

เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย

เป็นผู้สันโดษและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษ

เป็นผู้สงัดจากหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดจากหมู่

เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วยหมู่

เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใดเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือการอยู่

ป่าเป็นวัตร

เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร

เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย

เป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษ

เป็นผู้สงัดจากหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดจากหมู่

เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความไม่คลุกคลีด้วยหมู่

เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร

ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระย่อมนิมนต์เธอให้นั่งด้วยคำว่า มาเถิดภิกษุ ภิกษุรูปนี้ชื่อไร ช่างรุ่งเรืองหนอ ใคร่ต่อการศึกษาแท้ มาเถิดภิกษุ นี้อาสนะ นิมนต์ท่านนั่ง

ดูกรกัสสปเมื่อภิกษุทั้งหลายกระทำสักการะอย่างนั้น ภิกษุใหม่ๆ พากันคิดเห็นว่า ทราบว่าภิกษุรูปที่ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ...เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย... เป็นผู้สันโดษ... เป็นผู้ชอบสงัดจากหมู่... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร

ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระย่อมนิมนต์เธอให้นั่งด้วยคำว่า มาเถิดภิกษุ ภิกษุรูปนี้ชื่อไร ช่างรุ่งเรืองหนอ ใคร่ต่อการศึกษาแท้ มาเถิดท่าน นี้อาสนะ นิมนต์ท่านนั่ง ภิกษุใหม่ๆเหล่านั้นก็ปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติตามของพวกเธอนั้น เป็นการอำนวยประโยชน์สุขชั่วกาลนาน ฯ

ดูกรกัสสป ก็บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ไม่เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

ไม่เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

ไม่เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

ไม่เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรและไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร

ไม่เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย

ไม่เป็นผู้สันโดษ และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษ

ไม่เป็นผู้สงัดจากหมู่ และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดจากหมู่

ไม่เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการไม่คลุกคลีด้วยหมู่

ไม่เป็นผู้ปรารภความเพียร และไม่กล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใดเป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ ได้จีวร บิณฑบาตเสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร พวกภิกษุผู้เป็นเถระย่อมนิมนต์เธอให้นั่งด้วยคำว่ามาเถิดภิกษุ ภิกษุรูปนี้ชื่อไร ช่างรุ่งเรืองหนอ ใคร่ต่อเพื่อนสพรหมจารีด้วยกันแท้  มาเถิดภิกษุนี้อาสนะ นิมนต์ท่านนั่ง

ดูกรกัสสป เมื่อภิกษุทั้งหลายกระทำสักการะอย่างนั้น ภิกษุใหม่ๆ พากันคิดว่า ทราบว่า ภิกษุที่มีชื่อเสียง มียศได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร พวกภิกษุผู้เป็นเถระพากันนิมนต์เธอให้นั่งด้วยคำว่า มาเถิดภิกษุ ภิกษุรูปนี้ชื่อไร ช่างรุ่งเรืองหนอ ใคร่ต่อเพื่อนสพรหมจารีด้วยกันแท้ มาเถิดภิกษุ นี้อาสนะ นิมนต์ท่านนั่ง  ภิกษุใหม่ๆเหล่านั้นก็ปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น การปฏิบัติตามของพวกเธอนั้นไม่อำนวยประโยชน์ มีแต่ทุกข์ชั่วกาลนาน

ดูกรกัสสป บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบควรกล่าวว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ถูกอันตรายแห่งพรหมจรรย์เบียดเบียนเสียแล้วผู้ประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งมีความปรารถนาเกินประมาณ ถูกความปรารถนาเกินประมาณสำหรับพรหมจรรย์เบียดเบียนแล้ว

ดูกรกัสสป บัดนี้ บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ ควรกล่าวว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ถูกอันตรายแห่งพรหมจรรย์เบียดเบียนเสียแล้ว ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งมีความปรารถนาเกินประมาณถูกความปรารถนาเกินประมาณสำหรับพรหมจรรย์เบียดเบียนเสียแล้ว ฯ

 (ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๒๐๔-๒๐๗/๔๙๔-๔๙๖. : คลิกดูพระสูตร

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ

ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย ๑

มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ จึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑

ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะเป็นบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑

ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะรู้ว่าเป็นวัตรอันพระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ๑

ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา

ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐเป็นประธาน สูงสุดและดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้

เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโคนมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น  หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใสชาวโลกย่อมกล่าวว่าเป็นยอดในจำพวกโครส ๕ เหล่านั้นฉันใด บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นเลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้... ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ๕ จำพวกนี้... ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้... ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้... ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้... ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ในเสนาสนะตามที่ท่านจัดให้อย่างไรเป็นวัตร

 ๕ จำพวกนี้... ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือการนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้... ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือห้ามภัตอันนำมาถวาย เมื่อภายหลังเป็นวัตร ๕

จำพวกนี้... ฯลฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ๕ จำพวกเป็นไฉน คือ

ภิกษุเป็นผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร เพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย ๑

มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ จึงเป็นผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๑

เป็นผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตรเพราะเป็นบ้าเพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑

เป็นผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร เพราะรู้ว่าเป็นวัตรอันพระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ ๑

เป็นผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้

เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใส ชาวโลกย่อมกล่าวว่าเป็นเลิศในจำพวกโครส ๕ เหล่านั้น ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

 

 (ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๙๖-๑๙๘/๑๘๑-๑๙๐. : คลิกดูพระสูตร

 

จุนทะ ! สัลเลขธรรม (ความขูดเกลา) เป็นสิ่งที่เธอทั้งหลายพึงกระทำในธรรมทั้งหลายเหล่านี้   กล่าวคือ :

ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้เบียดเบียน เราจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียน;

ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น กระทำปาณาติบาต เราจักเว้นขาดจากปาณาติบาต;

ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น กระทำอทินนาทาน เราจักเว้นขาดจากอทินนาทาน;  

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เราจักเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดเท็จ เราจักเว้นขาดจากการพูดท็จ

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดส่อเสียด เราจักเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดคำหยาบ เราจัก เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ;  

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดเพ้อเจ้อ เราจัก เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มากด้วยอภิชฌา      เราจักเป็นผู้ไม่มากด้วยอภิชฌา;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีจิตพยาบาท เราจักเป็นผู้ไม่มีจิตพยาบาท;   

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาทิฏิฐิ เราจักเป็นผู้มีสัมมาทิฏิฐิ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาสังกัปปะ เราจักเป็นผู้มีสัมมาสังกัปปะ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาวาจา เราจักเป็นผู้มีสัมมาวาจา;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉากัมมันตะ     เราจักเป็นผู้มีสัมมากัมมันตะ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาอาชีวะ เราจักเป็นผู้มีสัมมาอาชีวะ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาวายามะ เราจักเป็นผู้มีสัมมาวายามะ;  

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาสติ เราจักเป็นผู้มีสัมมาสติ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาสมาธิ เราจักเป็นผู้มีสัมมาสมาธิ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาญาณะ เราจักเป็นผู้มีสัมมาญาณะ;  

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาวิมุตติ เราจักเป็นผู้ มีสัมมาวิมุตติ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีถีนมิทธะกลุ้มรุม เราจักเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ฟุ้งซ่าน เราจักเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีวิจิกิจฉา     เราจักเป็นผู้ข้ามพ้นวิจิกิจฉา;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้มักโกรธ เราจักเป็นผู้ไม่มักโกรธ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ผูกโกรธ เราจักเป็นผู้ไม่ผูกโกรธ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ลบหลู่คุณ เราจักเป็นผู้ไม่ลบหลู่คุณ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้แข่งดี เราจักเป็นผู้ไม่แข่งดี;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ริษยา เราจักเป็นผู้ไม่ริษยา;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ตระหนี่ เราจักเป็นผู้ไม่ตระหนี่;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้โอ้อวด เราจักเป็นผู้ไม่โอ้อวด;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้มีมารยา เราจักเป็นผู้ไม่มีมารยา;

       ทำสัลเลขะว่าเมื่อผู้อื่น เป็นผู้กระด้าง เราจักเป็นผู้ไม่กระด้าง;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ดูหมิ่นท่าน เราจักเป็นผู้ไม่ดูหมิ่นท่าน;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ว่ายาก เราจักเป็นผู้ว่าง่าย;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้มีมิตรชั่ว เราจักเป็นผู้มีมิตรดี;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ประมาท เราจักเป็นผู้ไม่ประมาท;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ไม่มีสัทธา เราจักเป็นผู้มีสัทธา;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้ อื่นเป็นผู้ไม่มีหิริ เราจักเป็นผู้มีหิริ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ เราจักเป็นผู้มีโอตตัปปะ;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้มีสุตะน้อย      เราจักเป็นผู้มีสุตะมาก;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ขี้เกียจ เราจักเป็นผู้ปรารภความเพียร;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้มีสติหลงลืม เราจักเป็นผู้มีสติตั้งมั่น;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้มีปัญญาทราม เราจักเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา;

       ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น เป็นผู้ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน (สนฺทิฏฺฐิปรามาสี)

เป็นผู้ยึดถืออย่างเหนียวแน่น (อาธานคาหี) และเป็นผู้ยากที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน (ทุปฺปฏินิสฺสคฺคี) เราจักเป็นผู้ ไม่ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน (อสนฺทิฏฺฐิปรามาสี) เป็นผู้ไม่ยึดถืออย่างเหนียวแน่น (อนาธานคาหี) และเป็นผู้ง่ายที่จะสลัดคืนซึ่ง อุปทาน (สุปฺปฏินิสฺสคฺคี).   

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๔๔๘-๑๔๕๐

(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๕๔-๕๗/๑๐๔.  : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

Today536
Yesterday1254
This week5341
This month15359
Total2522664

Who Is Online

62
Online