ลักษณะของกายและจิตที่ถึงฌาน ๔ มีอาการอย่างไร
เสียง
ยุวพุทธิกสมาคม ครั้งที่ 2 track 11
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี
ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
อนุปุพพนิโรธ ๙
ภิกษุ ท. ! อนุปุพพนิโรธ ๙ ประการ เหล่านี้ มีอยู่. เก้าประการอย่างไรเล่า? เก้าประการ คือ:-
(๑) เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน อามิสส (กาม) สัญญา ย่อมดับ ;
(๒) เมื่อเข้าถึงทุติยฌาน วิตกและวิจาร ย่อมดับ ;
(๓) เมื่อเข้าถึงตติยฌาน ปีติ ย่อมดับ ;
(๔) เมื่อเข้าถึงจตุตถฌาน อัสสาสะและปัสสาสะ ย่อมดับ ;
(๕) เมื่อเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ รูปสัญญา ย่อมดับ ;
(๖) เมื่อเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ อากาสานัญจายตนสัญญาย่อมดับ ;
(๗) เมื่อเข้าถึงอากิญจัญญายตนะ วิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมดับ ;
(๘) เมื่อเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ อากิญจัญญายตนสัญญาย่อมดับ ;
(๙) เมื่อเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนา ย่อมดับ.
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล อนุปุพพนิโรธ ๙ ประการ.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๕๒๒
(ภาษาไทย) นวก. อํ. ๒๓/๓๓๑/๒๓๕. : คลิกดูพระสูตร
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงซึ่ง อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ ประการ เหล่านี้. เธอทั้งหลายจงฟัง.
ภิกษุ ท. ! อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ ประการนั้นเป็นอย่างไรเล่า?
(๑) กามทั้งหลายย่อมดับไปในที่ใด, และชนเหล่าใดยังกามทั้งหลายให้ดับไปๆ ในที่ใดแล้วแลอยู่; เรากล่าวว่า ผู้มีอายุเหล่านั้น หายหิวดับเย็น ข้ามแล้ว ถึงฝั่งแล้ว ด้วยองค์นั้นๆ ในที่นั้นแน่แท้. ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวถามอย่างนี้ว่า “กามทั้งหลายดับไปในที่ไหน ? และชนเหล่าไหนยังกามทั้งหลายให้ดับไปๆในที่ไหน แล้วแลอยู่ ? ข้าพเจ้าไม่รู้ข้อนั้น ไม่เห็นข้อนั้น” ดังนี้ไซร้ ; คำตอบพึงมีแก่เขาว่า “ผู้มีอายุ ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่. กามทั้งหลาย ดับไปในปฐมฌานนั้น, และชนเหล่านั้น ยังกามทั้งหลายให้ดับไปๆ ในปฐมฌานนั้น แล้วแลอยู่” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ใครๆ ที่ไม่เป็นผู้โอ้อวด ไม่เป็นผู้มีมายา พึงเพลิดเพลินอนุโมทนาด้วยคำว่า สาธุ ดังนี้ ; ครั้นเพลิดเพลินอนุโมทนาด้วยคำ สาธุ ดังนี้แล้ว นอบน้อมอยู่ จะประคองอัญชลีเข้าไปหา โดยแน่แท้.
(๒) วิตกและวิจารทั้งหลาย ย่อมดับไปในที่ใด, และชนเหล่าใดยัง วิตกและวิจารทั้งหลาย ให้ดับไปๆ ในที่ใด แล้วแลอยู่ ; เรากล่าวว่า ผู้มีอายุเหล่านั้น หายหิว ดับเย็น ข้ามแล้ว ถึงฝั่งแล้ว ด้วยองค์นั้นๆ ในที่นั้น แน่แท้. ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวถามอย่างนี้ว่า “วิตกและวิจารทั้งหลาย ดับไปในที่ไหน ? และชนเหล่าไหนยัง วิตกและวิจารทั้งหลายให้ดับไปๆ ในที่ไหน แล้วแลอยู่ ? ข้าพเจ้าไม่รู้ข้อนั้น ไม่เห็นข้อนั้น “ดังนี้ไซร้ ; คำตอบพึงมีแก่เขาว่า “ ผู้มีอายุ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะความที่วิตกและวิจารทั้งหลายระงับลง เข้าถึงทุติยฌาน อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน นำให้เกิดสมาธิมีอารมณ์อันเดียวไม่มีวิตกและวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่, วิตกและวิจารทั้งหลาย ดับไปใน ทุติยฌาน นั้น, และชนเหล่านั้น ยัง วิตกและวิจารทั้งหลายให้ดับไปๆ ในทุติยฌานนั้น แล้วแลอยู่” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ใครๆที่ไม่เป็นผู้โอ้อวด ไม่เป็นผู้มีมายา พึงเพลิดเพลินอนุโมทนาด้วยคำว่า สาธุ ดังนี้ ; ครั้นเพลิดเพลินอนุโมทนาด้วยคำว่า สาธุดังนี้แล้วนอบน้อมอยู่จะประคองอัญชลีเข้าไปหา โดยแน่แท้.
(๓) ปีติ ย่อมดับไปในที่ใด, และชนเหล่าใดยังปีติ ให้ดับไปๆในที่ใด แล้วแลอยู่ ; เรากล่าวว่า ผู้มีอายุเหล่านั้น หายหิว ดับเย็น ข้ามแล้วถึงฝั่งแล้ว ด้วยองค์นั้นๆ ในที่นั้นแน่แท้. ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวถามอย่างนี้ว่า “ปีติ ดับไปในที่ไหน ? และชนเหล่าไหนยังปีติให้ดับไปๆ ในที่ไหนแล้วแลอยู่ ? ข้าพเจ้าไม่รู้ข้อนั้น ไม่เห็นข้อนั้น” ดังนี้ไซร้; คำตอบพึงมีแก่เขาว่า “ผู้มีอายุ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ อยู่อุเบกขามีสติและสัมปชัญญะ และเสวยความสุขด้วยนามกาย เข้าถึงตติยฌาน อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ ดังนี้แล้วแลอยู่. ปีติ ดับไปใน ตติยฌานนั้น, และชนเหล่านั้นยัง ปีติ ให้ดับไปๆใน ตติยฌาน นั้นแล้วแลอยู่” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ใคร ๆ ที่ไม่เป็นผู้โอ้อวดไม่เป็นผู้มีมายา พึงเพลิดเพลินอนุโมทนาด้วย คำว่า สาธุ ดังนี้ ; ครั้นเพลิดเพลินอนุโมทนาด้วยคำว่า สาธุ ดังนี้แล้ว นอบน้อมอยู่ จะประคองอัญชลีเข้าไปหา โดยแน่แท้.
(๔) อุเบกขาสุข ย่อมดับไปในที่ใด, และชนเหล่าใดยังอุเบกขาสุขให้ดับไปๆ ในที่ใดแล้ว แลอยู่ ; เรากล่าวว่า ผู้มีอายุเหล่านั้นหายหิว ดับเย็น ข้ามแล้ว ถึงฝั่งแล้ว ด้วยองค์นั้นๆ ในที่นั้น แน่แท้. ถ้าผู้ใดจะพึงกล่าวถามอย่างนี้ว่า “อุเบกขาสุข ดับไปในที่ไหน ? และชนเหล่าไหนยัง อุเบกขาสุข ให้ดับไป ๆ ในที่ไหน แล้วแลอยู่ ? ข้าพเจ้าไม่รู้ข้อนั้น ไม่เห็นข้อนั้น” ดังนี้ไซร้, คำตอบพึงมีแก่เขาว่า “ผู้มีอายุ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อนเข้าถึงจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์และสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่. อุเบกขาสุข ดับไปใน จตุตถฌาน นั้น, และชนเหล่านั้นยังอุเบกขาสุขให้ดับไปๆ ใน จตุตถฌานนั้น แล้วแลอยู่” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! ใครๆ ที่ไม่เป็นผู้โอ้อวด ไม่เป็นผู้มีมายา พึงเพลิดเพลินอนุโมทนาด้วยคำว่าสาธุ ดังนี้ ; ครั้นเพลิดเพลินอนุโมทนาด้วยคำว่า สาธุ ดังนี้แล้ว นอบน้อมอยู่จะประคองอัญชลีเข้าไปหา โดยแน่แท้.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๕๒๒
(ภาษาไทย) นวก. อํ. ๒๓/๓๓๒/๒๓๗. : คลิกดูพระสูตร