Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

สิกขาบท ๑๕๐ ข้อมีอะไรบ้าง, ศีลของพระมีกี่ข้อ, เพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้แค่ไหน

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วีดีโอ 1

สิกขาบท โดยละเอียด (46.25 นาที)

สาวิกาสิกขาลัย 26 ก.ค. 2552

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : วิดีโอ , เสียง

 

วีดีโอ 2

ณ ยุวพุทธิกสมาคม

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วีดีโอ 3

คลิปสั้น "สิกขาบทและการทบทวนสิกขาบท"

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

 

วีดีโอ 4

เปิดธรรม 2554/26

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

 

วีดีโอ 5

ณ ปูนซีเมต์นครหลวง 14 กพ 54

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วีดีโอ 6

สนทนาธรรมธรรม ค่ำวันเสาร์ 11 มิ.ย. 2554

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วีดีโอ 7

สนทนาธรรมธรรม ค่ำวันเสาร์ 18 มิ.ย. 2554

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

 

วีดีโอ 8

สนทนาธรรมธรรม ค่ำวันเสาร์ 12 มี.ค. 2554

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วีดีโอ 9

การเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อย

  สนทนาธรรมธรรม ค่ำวันเสาร์ 14 ก.ค. 2555

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : วิดีโอ , เสียง

 

 

วีดีโอ 10

 ผลของการทอดทิ้งปาติโมกข์

สนทนาธรรมธรรม ค่ำวันเสาร์ 20 ต.ค. 2555

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : วิดีโอ , เสียง

 

เสียง 1

เสขิยวัตร

ณ ยุวพุทธิกสมาคม

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด :  เสียง

 

 


 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

ความลดหลั่นแห่งพระอริยบุคคล
ผู้ปฏิบัติอย่างเดียวกัน
(เสขสูตรที่ ๔)

ภิกษุทั้งหลาย ! สิกขาบทร้อยห้าสิบสิกขาบทนี้ ย่อมมาสู่อุทเทส ทุกกึ่งแห่งเดือนตามลำดับ อันกุลบุตรผู้ปรารถนาประโยชน์พากันศึกษาอยู่ในสิกขาบทเหล่านั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! สิกขาสามอย่างเหล่านี้ มีอยู่ อันเป็นที่ประชุมลงของสิกขาบททั้งปวงนั้น.

สิกขาสามอย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล สิกขาสามอย่าง อันเป็นที่ประชุมลงแห่งสิกขาบททั้งปวงนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา. เธอยังล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง และต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านั้นบ้าง. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?

ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ไม่มีผู้รู้ใดๆ กล่าวความอาภัพต่อการบรรลุโลกุตตรธรรม จักเกิดขึ้น เพราะเหตุสักว่า การล่วงสิกขาบทเล็กน้อยและการต้องออกจากอาบัติเล็กน้อยเหล่านี้. ส่วนสิกขาบทเหล่าใดที่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่เหมาะสมแก่พรหมจรรย์, เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. ภิกษุนั้น ได้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่.

หรือว่า (บางพวก)ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงกึ่ง.

หรือว่า (บางพวก)ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อุปหัจจปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานเมื่ออายุพ้นกึ่งแล้วจวนถึงที่สุด.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอดอซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียรเรี่ยวแรง.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำห้า จึงเป็น อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปถึงอกนิฏฐภพ.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความที่ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เบาบางน้อยลง เป็น สกทาคามี ยังจะมาสู่เทวโลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ เอกพีชี คือ จักเกิดในภพแห่งมนุษย์อีกหนเดียวเท่านั้น แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ โกลังโกละ จักต้องท่องเที่ยวไปสู่สกุลอีกสองหรือสามครั้ง แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

หรือว่า (บางพวก) ยังไม่ได้ทำให้เกิดมี ยังไม่ได้แทงตลอด ซึ่งอนาสววิมุตติ, แต่เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้ สัตตักขัตตุปรมะ ยังต้องท่องเที่ยวไปในภพแห่งเทวดาและมนุษย์อีกเจ็ดครั้ง เป็นอย่างมาก แล้วย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้กระทำได้เพียงบางส่วนย่อมทำให้สำเร็จได้บางส่วน, ผู้ทำให้บริบูรณ์ก็ย่อมทำให้สำเร็จได้บริบูรณ์; ดังนั้น เราจึงกล่าวว่า สิกขาบททั้งหลาย ย่อมไม่เป็นหมันเลย, ดังนี้ แล.

พุทธวจน คู่มือโสดาบัน หน้า ๑๔๕

(ไทย) ติก. อํ. ๒๐/๒๒๓/๕๒๘. : คลิกดูพระสูตร

(ไทย) ติก. อํ. ๒๐/๓๐๑/๕๒๘. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย ได้มีความปริวิตกว่า ปาติโมกขุเทศมีเท่าไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาติโมกขุเทศนี้มี ๕ คือ

ภิกษุสวดนิทานจบแล้ว พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๑.

สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ จบแล้ว พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๒.

สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ จบแล้วพึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๓.

สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ สวดอนิยต ๒ จบแล้ว พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๔.

สวดโดยพิสดารหมด เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๕.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปาติโมกขุเทศ ๕ นี้แล. ทรงห้ามสวดปาติโมกข์ย่อ

สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการสวดปาติโมกข์ย่อ ดังนี้ จึงสวดปาติโมกข์ย่อทุกครั้ง. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

ทรงอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อเมื่อมีอันตราย

สมัยต่อมา ณ อาวาสแห่งหนึ่งในโกศลชนบท คนชาวดงได้มาพลุกพล่านในวันอุโบสถ. ภิกษุทั้งหลายไม่อาจสวดปาติโมกข์โดยพิสดาร จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอันตราย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อ.

อันตราย ๑๐ ประการ

สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ แม้เมื่ออันตรายไม่มี ก็สวดปาติโมกข์ย่อ. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาครับสั่งห้ามภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อไม่มีอันตราย ภิกษุไม่พึงสวดปาติโมกข์ย่อ รูปใดสวด ต้องอาบัติทุกกฏ.

เมื่อมีอันตราย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อ.

อันตรายในเรื่องนั้นเหล่านี้ คือ

. พระราชาเสด็จมา

. โจรมาปล้น

. ไฟไหม้

. น้ำหลากมา

. คนมามาก

. ผีเข้าภิกษุ

. สัตว์ร้ายเข้ามา

. งูร้ายเลื้อยเข้ามา

. ภิกษุอาพาธหนักจะถึงเสียชีวิต

๑๐. มีอันตรายแก่พรหมจรรย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อในเพราะอันตรายเห็นปานนี้ เมื่อไม่มีอันตราย ให้สวดโดยพิสดาร.

(ไทย) มหา. วิ. ๔/๑๘๒/๑๖๗. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) มหา. วิ. ๔/๒๒๐/๑๖๗. : คลิกดูพระสูตร

 

 

วัชชีปุตตสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภิกษุวัชชีบุตรรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้วทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ ย่อมมาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ข้าพระองค์ไม่สามารถที่จะศึกษาในสิกขาบทนี้ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ดูกรภิกษุ ก็ท่านสามารถจะศึกษาในสิกขา ๓ คือ

อธิศีลสิกขา ๑

อธิจิตตสิกขา ๑

อธิปัญญาสิกขา ๑ หรือ ฯ

. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถจะศึกษาได้ในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ พระเจ้าข้า

. ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแล ท่านจงศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ เมื่อใด ท่านจักศึกษาอธิศีลสิกขาก็ดี จักศึกษาอธิจิตตสิกขาก็ดี จักศึกษาอธิปัญญาสิกขาก็ดี เมื่อนั้น เมื่อท่านนั้นศึกษาอธิศีลสิกขาอยู่ก็ดี ศึกษาอธิจิตตสิกขาอยู่ก็ดี ศึกษาอธิปัญญาสิกขาอยู่ก็ดี จักละราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ เพราะละราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ ท่านนั้นจักไม่กระทำกรรมเป็นอกุศล จักไม่เสพกรรมที่เป็นบาป ครั้นสมัยต่อมาภิกษุนั้นศึกษาแล้วทั้งอธิศีลสิกขา ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้งอธิปัญญาสิกขา เมื่อภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลสิกขาก็ดี ศึกษาอธิจิตตสิกขาก็ดี ศึกษาอธิปัญญาสิกขาก็ดี ละราคะโทสะ โมหะ ได้แล้ว เพราะละราคะ โทสะ โมหะ เสียได้ เธอมิได้ทำกรรมที่เป็นอกุศล มิได้เสพกรรมที่เป็นบาป ฯ

(ไทย) ติก. อํ. ๒๐/๒๑๙/๕๒๔. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ติก. อํ. ๒๐/๒๙๕/๕๒๔. : คลิกดูพระสูตร

 

 

อธิสิกขาสาม

(สิกขาสูตรที่ ๑)

ภิกษุทั้งหลาย! สิกขา ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. สามอย่าง อย่างไรเล่า?

สามอย่างคือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา.

ภิกษุทั้งหลาย! อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในกรณีนี้

เป็นผู้มีศีล

สำรวมด้วยการสำรวมในปาติโมกข์

ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร

มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้ว่าเป็นโทษเล็กน้อย

สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรากล่าวว่า อธิสีลสิกขา.

ภิกษุทั้งหลาย! อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในกรณีนี้

สงัดจากกามทั้งหลาย

สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

เข้าถึงปฐมฌาน ....ทุติยฌาน .... ตติยฌาน .... จตุตถฌาน แล้วแลอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรากล่าวว่า อธิจิตตสิกขา.

ภิกษุทั้งหลาย! อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า

นี้ทุกข์

นี้เหตุให้เกิดทุกข์

นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

นี้ทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย! นี้เรากล่าวว่า อธิปัญญาสิกขา.

ภิกษุทั้งหลาย! เหล่านี้แล สิกขา ๓ อย่าง.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า ๑๓๘๒

(ไทย) ติก. อํ. ๒๐/๒๒๔/๕๒๙. : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ติก. อํ. ๒๐/๓๐๓/๕๒๙. : คลิกดูพระสูตร

 

 

วิธีทำอุโบสถ ๓ อย่าง

. สวดปาติโมกข์

ก็โดยสมัยนั้นแล ในอาวาสแห่งหนึ่งถึงวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๔ รูป จึงภิกษุเหล่านั้นได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุต้องทำอุโบสถ ดังนี้ ก็พวกเรามีอยู่เพียง ๔ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป สวดปาติโมกข์.

. ทำปาริสุทธิอุโบสถ

สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่งถึงวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๓ รูป จึงภิกษุเหล่านั้น ได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป สวดปาติโมกข์ ก็พวกเรามีอยู่เพียง ๓ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแต่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กัน.

...ฯลฯ...

สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่ด้วยกัน ๒ รูป จึงภิกษุเหล่านั้น ได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูปสวดปาติโมกข์ ให้ภิกษุ ๓ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กัน ก็พวกเรามีเพียง ๒ รูป จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถ.

...ฯลฯ...

. อธิษฐานอุโบสถ

สมัยต่อมา ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุอยู่รูปเดียว จึงภิกษุนั้นได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุ ๔ รูป สวดปาติโมกข์ ให้ภิกษุ ๓ รูปทำปาริสุทธิอุโบสถแก่กัน ให้ภิกษุ ๒ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถ ก็เรามีอยู่เพียงรูปเดียว จะพึงทำอุโบสถอย่างไรหนอ. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอาวาสแห่งหนึ่ง ถึงวันอุโบสถ มีภิกษุในศาสนานี้อยู่รูปเดียว. ภิกษุนั้นพึงกวาดสถานที่เป็นที่ไปมาแห่งภิกษุทั้งหลาย คือจะเป็นโรงฉัน มณฑป หรือโคนต้นไม้ก็ตาม แล้วตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ปูอาสนะ ตามประทีปไว้ แล้วนั่งรออยู่. ถ้ามีภิกษุเหล่าอื่นมา พึงทำอุโบสถร่วมกับพวกเธอ ถ้าไม่มีมา พึงอธิษฐานว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถของเรา ถ้าไม่อธิษฐาน ต้องอาบัติทุกกฏ.

...ฯลฯ...

(ไทย) มหาวิ. วิ. /๑๙-๒๐๒/๑๘๕ : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) มหาวิวิ/๒๔๒-๒๔๕/๑๘๕ : คลิกดูพระสูตร

 

 

เถระเสีย

ภิกษุทั้งหลาย! ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย ซึ่งมิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต และมิได้อบรมปัญญา, เธอทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้นอยู่ ทั้งที่ เป็นภิกษุชั้นเถระแล้ว จักเป็นผู้ชอบทำการสะสมบริกขาร ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ปรารภความพียรเพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง. ผู้บวชในภายหลัง ได้เห็นเถระเหล่านั้นทำเป็นแบบแผนเช่นนั้นไว้ ก็ถือเอาไปเป็นแบบอย่าง จึงทำให้เป็นผู้ชอบทำการสะสมบริกขารบ้าง ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์ ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงสิ่งที่ยังไมถึ่ง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง, ตาม ๆ กันสืบไป.

ภิกษุทั้งหลาย! ด้วยอาการอย่างนี้เอง วินัยมีมลทิน เพราะธรรมมีมลทิน ; ธรรมมีมลทิน เพราะวินัยมีมลทิน. นี้เป็นอนาคตภัยที่ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้ แต่จักเกิดขึ้นในเวลาต่อไป. พวกเธอทั้งหลายพึงสำนึกไว้ ครั้นได้สำนึกแล้ว ก็พึงพยายามเพื่อกำจัดภัยนั้นเสีย.

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๑๘๐

(ไทย) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๙๑/๗๙ : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๒๑/๗๙ : คลิกดูพระสูตร

 

 

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกรสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน ของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน.

. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?

. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน

ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงกำหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนสาวก.

ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามเวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน ภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้ ลำดับนั้นแล จิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภูทรงสั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง จึงมีคำนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน.

ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรงอยู่นาน.

. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?

. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย อนึ่ง สุตตะ เคยยะ ฯลฯ...  จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน

ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.

ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน.

(ไทย) มหาวิ. วิ. // : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) มหาวิวิ/๑๒/๗ : คลิกดูพระสูตร

 

 

พระภัททาลิขอขมาพระพุทธเจ้า

ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันช่วยกันทำจีวรกรรมสำหรับพระผู้มีพระภาค ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส. ครั้งนั้น ท่านพระภัททาลิเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ โดยปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวว่า ดูกรภัททาลิผู้มีอายุ จีวรกรรมนี้แล ภิกษุทั้งหลายช่วยกันทำสำหรับพระผู้มีพระภาค ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จเที่ยวจาริกไปโดยล่วงไตรมาส. ดูกรภัททาลิผู้มีอายุ เราขอเตือน ท่านจงมนสิการความผิดนี้ให้ดีเถิด ความกระทำที่ยากกว่าอย่าได้มีแก่ท่านในภายหลังเลย.

ท่านพระภัททาลิรับคำของภิกษุเหล่านั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกอบความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ขอพระผู้มีพระภาคจงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด.

ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา

ดูกรภัททาลิ แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคจักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว

ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุมากด้วยกันเข้าจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริสุทธิ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็ มิได้แทงตลอดแล้ว.

ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า ภิกษุณีมากด้วยกันเข้าจำพรรษา อยู่ในพระนครสาวัตถี แม้ภิกษุณีเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา ดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว.

ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสกมากด้วยกันอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้อุบาสกเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์สิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว.

ดูกรภัททาลิ เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า อุบาสิกามากด้วยกันอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี แม้อุบาสิกาเหล่านั้นจักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว.

แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอด ว่าสมณพราหมณ์ต่างลัทธิมากด้วยกันเข้าอยู่กาลฝนในพระนครสาวัตถี แม้สมณพราหมณ์เหล่านั้น จักรู้เราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิสาวกของพระสมณโคดม เป็นพระเถระองค์หนึ่ง ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ เหตุแม้นี้แล เธอก็มิได้แทงตลอดแล้ว.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์สมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษเพื่อความสำรวมต่อไปเถิด.

ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังจะบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคลชื่ออุภโตภาควิมุต เราพึงกล่าวแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่ม ดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ?

ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.

ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นอริยบุคคลชื่อปัญญาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อกายสักขี เป็นอริยบุคคลชื่อทิฏฐิปัตตะ เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธาวิมุต เป็นอริยบุคคลชื่อธรรมานุสารี เป็นอริยบุคคลชื่อสัทธานุสารี เราพึงกล่าวกะภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดภิกษุ เราจะก้าวไปในหล่มดังนี้ ภิกษุนั้นพึงก้าวไป หรือพึงน้อมกายไปด้วยอาการอื่น หรือพึงกล่าวปฏิเสธบ้างหรือ?

ไม่มีเลย พระเจ้าข้า.

ดูกรภัททาลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในสมัยนั้น เธอเป็นพระอริยบุคคลชื่อว่าอุภโตภาควิมุต ปัญญาวิมุต กายสักขี ทิฏฐิปัตตะ สัทธาวิมุต ธรรมานุสารี หรือสัทธานุสารี บ้างหรือหนอ?

มิได้เป็นเลย พระเจ้าข้า.

ดูกรภัททาลิ ในสมัยนั้น เธอยังเป็นคนว่าง คนเปล่า คนผิดมิใช่หรือ?

เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังทรงบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษของข้าพระองค์นั้นโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด.

ดูกรภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความไม่อุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ.

(ไทย) ปญฺจก. อํ. ๑๓/๑๓๐-๑๓๒/๑๖๒-๑๖๕ : คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ปญฺจก. อํ. ๑๓/๑๖๔-๑๖๖/๑๖๒-๑๖๕ : คลิกดูพระสูตร

 



 

 

 

Today271
Yesterday807
This week271
This month22358
Total2529663

Who Is Online

32
Online