พระพุทธเจ้าตรัสว่านิพพานไม่ใช่ปฐมฌาน ไล่ไปจนถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทำไมไม่ไล่ไปถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ
เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง;
เพราะอาศัยทุติยฌานบ้าง;
เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง;
เพราะอาศัยจตุตถฌานบ้าง;
เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนะบ้าง;
เพราะอาศัยวิญญาณัญจาตยนะบ้าง;
เพราะอาศัยอากิญจัญญายตนะบ้าง;
เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง;
เพราะอาศัยสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! คำที่เรากล่าวแล้วว่า
“ภิกษุ ทั้งหลาย. !เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ?
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ในกรณีนี้ ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌานอันมี วิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่.
ในปฐมฌานนั้นมีธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ; เธอนั้นตามเห็นซึ่งธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เธอดำรงจิตด้วยธรรมเหล่านั้น แล้วจึงน้อมจิตไปสู่อมตธาตุด้วยการกำหนดว่า
“นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติ เป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน”
ดังนี้. เธอดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณ มีปฐมฌานเป็นบาทนั้น ย่อมถึง ความสิ้นไปแห่งอาสวะ;
ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็เป็น โอปปาติกะ อนาคามี
ผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์มีในเบื้องต่ำห้าประการและเพราะอำนาจแห่ง ธัมมราคะ ธัมมนันทินั้น ๆ นั่นเอง.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เปรียบเหมือนนายขมังธนูหรือลูกมือของเขา ประกอบการฝึกอยู่กะรูปหุ่นคนที่ทำด้วยหญ้าบ้าง
กะรูปหุ่นดินบ้าง; สมัยต่อมา เขาก็เป็นนายขมังธนูผู้ยิงไกล ยิงเร็ว ทำลายหมู่พลอันใหญ่ได้. ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ฉันใดก็ฉันนั้นที่ภิกษุสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ ดังนี้.
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย. ! เรากล่าวความสิ้นอาสวะ เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง” ดังนี้นั้น เราอาศัย ความข้อนี้กล่าวแล้ว.
(ในกรณีแห่งการสิ้นอาสวะ เพราะอาศัย ทุติยฌาน บ้าง
เพราะอาศัย ตติยฌาน บ้าง เพราะอาศัย จตุตถฌาน บ้าง ก็มี
คำอธิบายที่ตรัสไว้โดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งปฐมฌาน
ข้างบนนี้ทุกตัวอักษรทั้งในส่วนอุปไมยและส่วนอุปมา ผิดกันแต่
ชื่อแห่งฌานเท่านั้น)
ภิกษุ ทั้งหลาย. ! ส่วนว่า อายตนะอีก ๒ ประการ กล่าวคือ
เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ และ สัญญาเวทยิตนิโรธ
ซึ่งอาศัยสัญญาสมาบัติ เหล่านั้น นั้นเรากล่าวว่า เป็นสิ่งที่ ฌายีภิกษุผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ
ฉลาดในการออกจากสมาบัติ จะพึงเข้าสมาบัติ ออกจากสมาบัติ แล้วกล่าวว่า
เป็นอะไรได้เอง โดยชอบ ดังนี้.
(ไทย) นวก. อํ. ๒๓/๓๔๑/๒๔๐: คลิกดูพระสูตร
(บาลี) นวก. อํ. ๒๓/๔๓๘/๒๔๐ : คลิกดูพระสูตร