ความเข้าใจเกี่ยวกับภพ
แสดงธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี
ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวอยู่ว่า ‘ภพ–ภพ’ ดังนี้
ภพ ย่อมมีด้วยเหตุเพียงเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า!
อานนท์ ! ถ้ากรรมมีกามธาตุเป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ กามภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?
หามิได้ พระเจ้าข้า !
อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นเมล็ดพืช ตัณหาเป็นยาง (สำหรับหล่อเลี้ยงเชื้องอก) ของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นทราม (กามธาตุ) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.
อานนท์ ! ถ้ากรรมมีรูปธาตุเป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ รูปภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?
หามิได้ พระเจ้าข้า !
อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นเมล็ดพืช ตัณหาเป็นยางของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นกลาง (รูปธาตุ) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.
อานนท์ ! ถ้ากรรมมีอรูปธาตุเป็นวิบาก จักไม่ได้มีแล้วไซร้ อรูปภพ จะพึงปรากฏได้แลหรือ ?
หามิได้ พระเจ้าข้า !
อานนท์ ! ด้วยเหตุนี้แหละ กรรมจึงเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นเมล็ดพืช ตัณหาเป็นยางของพืช วิญญาณของสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก ตั้งอยู่แล้วด้วยธาตุชั้นประณีต (อรูปธาตุ) การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้.
อานนท์ ! ภพ ย่อมมีได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.
ภพภูมิ หน้า ๔
(ไทย) ติก. อํ. ๒๐/๒๑๑/๕๑๖. : คลิกดูพระสูตร
(บาลี) ติก. อํ. ๒๐/๒๘๗/๕๑๖. : คลิกดูพระสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่ใช้เป็นพืชมี ๕ อย่าง เหล่านี้.
๕ อย่าง เหล่าไหนเล่า ? ๕ อย่าง คือ :-
(๑) พืชจากเหง้าหรือราก (มูลพีช)
(๒) พืชจากต้น (ขนฺธพีช)
(๓) พืชจากตาหรือผล (ผลพีช)
(๔) พืชจากยอด (อคฺคพีช)
(๕) พืชจากเมล็ด (พีชพีช)
ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้า สิ่งที่ใช้เป็น พืช ๕ อย่าง เหล่านี้
ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด
ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี แต่ดิน น้ำ ไม่มี.
ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านั้นจะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้แลหรือ ?
หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า !
ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้า สิ่งที่ใช้เป็น พืช ๕ อย่าง เหล่านี้แหละ ที่ไม่ถูกทำลายยังไม่เน่าเปื่อย
ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี
ทั้งดิน น้ำ ก็มีด้วย.
ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านั้นจะพึงเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้มิใช่หรือ ?
อย่างนั้น พระเจ้าข้า !
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณฐิติ ๔ อย่าง (รูป เวทนา สัญญา สังขาร) พึงเห็นว่า เหมือนกับ ดิน.
ภิกษุทั้งหลาย ! นันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความเพลิน) พึงเห็นว่าเหมือนกับ นํ้า.
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย พึงเห็นว่า เหมือนกับ พืชสดทั้ง ๕ นั้น.
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอารูปตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้
เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็น
ที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้.ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาเวทนาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสัญญาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์ มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสังขารตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์
มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า :-
เราจักบัญญัติซึ่งการมา การไป การจุติ (การตาย) การอุบัติ (การเกิด)
ความเจริญ ความงอกงามและความไพบูลย์ของวิญญาณ
โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนาเว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร ดังนี้นั้น
นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย.
ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ
ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว.
เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง
ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม
หลุดพ้นไป เพราะไม่ถูกปรุงแต่ง เพราะหลุดพ้นไป ก็ตั้งมั่น
เพราะตั้งมั่น ก็ยินดีในตนเอง
เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหว
เมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ดังนี้.
ภพภูมิ หน้า ๑๕
(ไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๕๔-๕๕/๑๐๖-๑๐๗.: คลิกดูพระสูตร
(บาลี) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๗-๖๘/๑๐๖-๑๐๗.: คลิกดูพระสูตร
อานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “นามรูปมี เพราะปัจจัย คือวิญญาณ” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.
อานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า
“นามรูปมี เพราะปัจจัยคือวิญญาณ”.
อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณจักไม่ก้าวลงในท้องแห่งมารดาแล้วไซร้;
นามรูปจักปรุงตัวขึ้นมาในท้องแห่งมารดาได้ไหม ?
“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”.
อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณก้าวลงในท้องแห่งมารดาแล้ว จักสลายลงเสียแล้วไซร้;
นามรูปจักบังเกิดขึ้น เพื่อความเป็นอย่างนี้ได้ไหม ?
“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”.
อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณของเด็กอ่อน ที่เป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม จักขาดลงเสียแล้วไซร้;
นามรูป จักถึงซึ่งความเจริญ งอกงาม ความไพบูลย์บ้างหรือ ?
“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”.
อานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละ คือเหตุ, นั่นแหละคือนิทาน, นั่นแหละคือสมุทัย,
นั่นแหละคือปัจจัย ของนามรูป; นั้นคือ วิญญาณ.
อานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “วิญญาณมี เพราะปัจจัย คือนามรูป” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.
อานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบายโดยปริยายดังต่อไปนี้ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า
“วิญญาณมี เพราะปัจจัยคือนามรูป”.
อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณ จักไม่ได้มีที่ตั้ง ที่อาศัยในนามรูป แล้วไซร้;
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหม ?
“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”.
อานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละคือเหตุ, นั่นแหละคือนิทาน,
นั่นแหละคือสมุทัย, นั่นแหละคือปัจจัยของวิญญาณ; นั่นคือ นามรูป.
อานนท์ ! ด้วยเหตุเพียงเท่านี้สัตว์โลก จึงเกิดบ้าง จึงแก่บ้าง จึงตายบ้าง จึงจุติบ้าง จึงอุบัติบ้าง :
คลองแห่งการเรียก (อธิวจน) ก็มีเพียงเท่านี้,
คลองแห่งการพูดจา (นิรุตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้,
คลองแห่งการบัญญัติ (ปญฺญตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้,
เรื่องที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา (ปญฺญาวจร) ก็มีเพียงเท่านี้,
ความเวียนว่ายในวัฏฏะ ก็มีเพียงเท่านี้ :
นามรูปพร้อมทั้งวิญญาณตั้งอยู่เพื่อการบัญญัติซึ่งความเป็นอย่างนี้
พุทธวจน ฉบับ ๙ ปฐมธรรม ข้อ ๓ หน้า ๖
(ไทย) มหา. ที. ๑๐/๕๑/๕๘. : คลิกดูพระสูตร
(บาลี) มหา. ที. ๑๐/๖๗/๕๘. : คลิกดูพระสูตร