Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

คลิปสั้น : กระบวนการเข้าสู่วิมุติ

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ

 

บางส่วนจาก

สนทนาธรรมค่ำวันเสาร์ วันที่ 31 พ.ค. 57
สนทนาธรรมช่วงก่อนฉัน วันที่ 25 ก.ค. 57

(1 ชั่วโมง 9 นาที)

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

                  ดาวน์โหลด : mp4, mp3

   

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

[๓๗๕] พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระราธะว่า ดูกรราธะ เธอจงสละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูปเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ รูปนั้นจักเป็นของอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ... ในวิญญาณเสีย ด้วยอาการอย่างนี้ วิญญาณนั้นจักเป็นธรรมชาติอันเธอละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา.

 

(ไทย) ข.สํ. ๑๗/๑๙๕/๓๗๕.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ข.สํ. ๑๗/๒๓๖-๒๓๗/๓๗๕.คลิกดูพระสูตร

 

ความเป็นอนิจจังแห่งขันธ์ ๕

 [๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ความเป็นทุกข์แห่งขันธ์ ๕

[๔๐] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญาเป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์. อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

    ความเป็นอนัตตาแห่งขันธ์ ๕

[๔๑] พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลายอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

 

(ไทย) ข.สํ. ๑๗/๒๐/๓๙-๔๑.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ข.สํ. ๑๗//๓๙-๔๑.คลิกดูพระสูตร

 

 

ภิกษุ ท. !  สติปัฏฐานทั้งสี่ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร

จึงทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์ได้ ?

[โพชฌงค์เจ็ด หมวดกายาฯ]

ภิกษุ ท. !  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้ ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลสมีสัมปชัญญะมีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสีย ได้,   สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง

ภิกษุ ท. !   สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว  เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่  ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา.   ภิกษุ ท. !   สมัยใดภิกษุเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ทำการเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรมนั้นอยู่ด้วยปัญญา สมัยนั้น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์  สมัยนั้นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น  เมื่อเลือกเฟ้น ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรมนั้น  ด้วยปัญญาความเพียรอันไม่ย่อหย่อนชื่อว่าเป็นธรรมอันภิกษุนั้นปรารภแล้ว.   ภิกษุ ท. !  สมัยใด ความเพียรไม่ย่อหย่อนอันภิกษุผู้เลือกเฟ้นใคร่ครวญในธรรมนั้นด้วยปัญญา

ปรารภแล้วสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์, สมัยนั้นวิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น  เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้ว  ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น.   

ภิกษุ ท. !   สมัยใด ปีติอันเป็นนิรามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว  สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้วสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์,   สมัยนั้นปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่า ถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญภิกษุนั้น  เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ  แม้กายก็รำงับ  แม้จิตก็รำงับ.

ภิกษุ ท. !   สมัยใด ทั้งกายและทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมรำงับ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้วสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์สมัยนั้นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญภิกษุนั้น  เมื่อมีกายอันรำงับแล้ว  มีความสุขอยู่  จิตย่อมตั้งมั่น.

ภิกษุ ท. !   สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายอันรำงับแล้วมีความสุขอยู่ ย่อมตั้งมั่น  สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้วสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่า ถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น  ย่อมเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้นเป็นอย่างดี.  

ภิกษุ ท. !  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี,  สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว  สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์  สมัยนั้นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

 

[โพชฌงค์เจ็ด หมวดเวทนา ฯ]

ภิกษุ ท. !  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้ ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย  อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัส ในโลกออกเสียได้สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง.   ภิกษุ ท. !   สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง,  สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว, สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์,  สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น  เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่  ย่อมทำการเลือก  ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญ  ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา.  (ต่อไปนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันกับในโพชฌงค์เจ็ด หมวดกายาฯ จนจบหมวด).

 

[โพชฌงค์เจ็ด หมวดจิตตา ฯ]

ภิกษุ ท. !  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้ ตามเห็นจิตในจิต อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้  สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง.

ภิกษุ ท. !   สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง,สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภมาแล้ว  สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์  สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น  เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่  ย่อมทำการเลือก  ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญ   ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา. (ต่อไปนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันกับในโพชฌงค์เจ็ด หมวดกายาฯ จนจบหมวด).

 

[โพชฌงค์เจ็ด หมวดธัมมา ฯ]

ภิกษุ ท. !  สมัยใด ภิกษุเป็นผู้ ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้, สมัยนั้น สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง  ภิกษุ ท. !   สมัยใด สติของภิกษุผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง  สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว  สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์,  สมัยนั้นสติสัมโพชฌงค์ของภิกษุ ชื่อว่า ถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.

ภิกษุนั้น  เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่  ย่อมทำการเลือก  ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญ  ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา.  (ต่อไปนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันกับในโพชฌงค์เจ็ด หมวดกายา ฯ จนจบหมวด).

ภิกษุ ท. !  สติปัฏฐานทั้งสี่ อันบุคคลเจริญแล้ว อย่างนี้   ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล   ชื่อว่าทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์ได้.

[๒๙๑ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์    แล้วอย่างไร  ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก  อาศัยวิราคะ  อาศัยนิโรธ  อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย  ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์  ...  ย่อม  เจริญวิริยสัมโพชฌงค์  ...  ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์  ...  ย่อมเจริญปัสสัทธิ  สัมโพชฌงค์  ...  ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์  ...  ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก  อาศัยวิราคะ  อาศัยนิโรธ  อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย  ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์    แล้วอย่างนี้  ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล  ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ 

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๘๐๙ – ๘๑๔

(ไทย) – อุปริ. ม. ๑๔/๑๕๗-๑๖๐/๒๙๐-๒๙๑.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) - อุปริ. ม. ๑๔/๑๙๗-๒๐๒/๒๙๐-๒๙๑.คลิกดูพระสูตร

 

ภิกษุ ท. !  ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ เมื่อรอคอย  การทำกาละ

นี้เป็นอนุสาสนีของเรา  สำหรับพวกเธอทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. !  ภิกษุ เป็นผู้มีสติ เป็นอย่างไรเล่า ?   

ภิกษุ ท. !   ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ  มีความเพียรเผากิเลส  มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ;  เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ....; เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ....; เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้อย่างนี้แล    

ภิกษุ ท. !    เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ.

ภิกษุ ท. !  ภิกษุ เป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู,  การคู้ การเหยียด,  การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม,  การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ,  การไป การหยุด,  การนั่ง การนอน,  การหลับ การตื่น,  การพูด การนิ่ง,  อย่างนี้แล 

ภิกษุ ท. !   เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ.

ภิกษุ ท. !  ภิกษุ พึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ เมื่อรอคอยการทำกาละ นี้แล

เป็นอนุสาสนีของเราสำหรับพวกเธอทั้งหลาย.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑หน้า ๗๘๗

(ไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๔-๒๒๕/๓๗๔-๓๗๖.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) สฬา. สํ. ๑๘/๒๖๐-๒๖๑/๓๗๔-๓๗๖.คลิกดูพระสูตร

 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 

ดูกรอานนท์ ก็มิคสาลาอุบาสิกาเป็นพาลไม่ฉลาด เป็นคนบอด มีปัญญาทึบ เป็นอะไร และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอะไร ในญาณเครื่องกำหนดรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของบุคคล

ดูกรอานนท์ บุคคล ๑๐ จำพวกนี้มีอยู่ในโลก ๑๐ จำพวกเป็นไฉน 

ดูกรอานนท์ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล และไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขา ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อมไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อม ไม่ถึงความเจริญ

ดูกรอานนท์ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีลแต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขา ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อมย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม 

ดูกรอานนท์ พวกคนผู้ถือประมาณย่อมประมาณในเรื่องนั้นว่า ธรรมแม้ของคนนี้ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมแม้ของคนอื่นก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดีก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลเพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน ดูกรอานนท์ ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ทุศีลและรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความเป็นผู้ทุศีลของเขา ตามความเป็นจริง กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย 

ดูกรอานนท์ บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคตดูกรอานนท์ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบประมาณในบุคคลและอย่าได้ถือประมาณในบุคคล เพราะผู้ถือประมาณในบุคคลย่อมทำลายคุณวิเศษของตน เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ

ดูกรอานนท์ ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล แต่ไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งศีลของเขา ตามความเป็นจริงบุคคลนั้นไม่ทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดแม้ด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ

ดูกรอานนท์ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศีล และรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งศีลของเขา ตามความเป็นจริงบุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อมดูกรอานนท์ ฯลฯ เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ

ดูกรอานนท์ ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้า ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งราคะของเขา ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัยเมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียวไม่ถึงความเจริญ 

ดูกรอานนท์ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้าแต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งราคะของเขาตามความเป็นจริงบุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัยเมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียวไม่ถึงความเสื่อม ดูกรอานนท์ ฯลฯ เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ

ดูกรอานนท์ ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความโกรธของเขาตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ 

ดูกรอานนท์  ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักโกรธ แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความโกรธของเขา ตามความเป็นจริงบุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟังกระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิย่อมได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม ดูกรอานนท์ ฯลฯ เราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ

ดูกรอานนท์ ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ทั้งไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความฟุ้งซ่านของเขา ตามความเป็นจริงบุคคลนั้นไม่กระทำกิจแม้ด้วยการฟัง ไม่กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมไม่ได้วิมุตติแม้อันเกิดในสมัย  เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ

ดูกรอานนท์ ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน แต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความฟุ้งซ่านของเขา ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูตแทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุติแม้อันเกิดในสมัย เมื่อตายไป เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

ดูกรอานนท์ พวกคนผู้ถือประมาณ ย่อมประมาณในเรื่องนั้นว่าธรรมแม้ของคนนี้ก็เหล่านั้นแหละ ธรรมแม้ของคนอื่นก็เหล่านั้นแหละ เพราะเหตุไรในสองคนนั้น คนหนึ่งเลว คนหนึ่งดี ก็การประมาณของคนผู้ถือประมาณเหล่านั้นย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนาน ดูกรอานนท์ในสองคนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ฟุ้งซ่านแต่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งความฟุ้งซ่านของเขา ตามความเป็นจริง บุคคลนั้นกระทำกิจแม้ด้วยการฟัง กระทำกิจแม้ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดด้วยดีแม้ด้วยทิฐิ ย่อมได้วิมุติแม้อันเกิดในสมัย บุคคลนี้ดีกว่า และประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้นโน้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกระแสแห่งธรรมย่อมถูกต้องบุคคลนี้ ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้นอกจากตถาคต ดูกรอานนท์ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าประมาณในบุคคล และอย่าได้ถือประมาณในบุคคลเพราะผู้ถือประมาณในบุคคล ย่อมทำลายคุณวิเศษของตนเราหรือผู้ที่เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้ ฯ

 

(ไทย) ทสก.อํ. ๒๔/๑๒๓/๗๕.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ทสก.อํ. ๒๔/๑๔๘/๗๕.คลิกดูพระสูตร

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับไม่อาจจะหลุดพ้น

ภิกษุ ท. !   ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ จะพึงเบื่อหน่ายได้บ้าง พึงคลายกำหนัดได้บ้าง  พึงปล่อยวางได้บ้าง  ในกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้.   ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?    ภิกษุ ท. !    ข้อนั้นเพราะเหตุว่า    การก่อขึ้นก็ดี  การสลายลงก็ดี  การถูกยึดครองก็ดี  การทอดทิ้งซากไว้ก็ดี  แห่งกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้งสี่นี้ ย่อมปรากฏอยู่. เพราะเหตุนั้น ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ  จึงเบื่อหน่ายได้บ้าง  จึงคลายกำหนัดได้บ้าง  จึงปล่อยวางได้บ้างในกายนั้น.  

ภิกษุ ท. !  ส่วนที่เรียกกันว่า “จิต” ก็ดี ว่า “มโน” ก็ดี ว่า “วิญญาณ”  ก็ดี  ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ  ไม่อาจจะเบื่อหน่าย  ไม่อาจจะคลายกำหนัด   ไม่อาจจะปล่อยวาง ซึ่งจิตนั้น.   ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?    

ภิกษุ ท. !    ข้อนั้นเพราะเหตุว่า  สิ่งที่เรียกว่าจิตเป็นต้นนี้  เป็นสิ่งที่ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับได้ถึงทับแล้วด้วยตัณหา ได้ยึดถือแล้วด้วยทิฏฐิโดยความเป็นตัวตน มาตลอดกาลช้านานว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา” ดังนี้ ;    เพราะเหตุนั้น  ปุถุชนผู้ไม่ได้มีการสดับ  จึงไม่อาจจะเบื่อหน่าย   ไม่อาจจะคลายกำหนัด  ไม่อาจจะปล่อยวาง ซึ่งสิ่งที่เรียกว่าจิตเป็นต้นนั้น.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๐๑๔

(ไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๙๓/๒๓๐.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) นิทาน. สํ. ๑๖/๑๑๔/๒๓๐.คลิกดูพระสูตร 

. ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง  ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรมเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้หรือ ฯ

ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

ดูกรภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ...เวทัลละ ถ้าแม้ภิกษุรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้ ก็ควรเรียกว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ฯ

(ไทย) จตุกก. อํ. ๒๑/๑๘๑/๑๗๖.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) จตุกก. อํ. ๒๑/๒๔๑/๑๗๖.คลิกดูพระสูตร

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมเหล่าใดงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ธรรมทั้งหลายเห็นปานนั้น อันท่านได้สดับมามาก ทรงจำไว้ได้สั่งสมด้วยวาจา ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดี ด้วยความเห็น.

(ไทย) ม.ม. ๑๓/๒๕/๓๒.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ม.ม. ๑๓/๒๙/๓๒.คลิกดูพระสูตร

[๒๓๓]ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับ ย่อมใส่ใจโดยแยบคายด้วยดีถึงปฏิจจสมุปบาทธรรม ในร่างกายและจิตที่ตถาคตกล่าวมานั้นว่า เพราะเหตุดังนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารเพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย

 จึงมีนามรูปเพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะเพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์

ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้อนึ่ง เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

[๒๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ มาพิจารณาอยู่อย่างนี้  ย่อมหน่ายแม้ในรูป ย่อมหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลายย่อมหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัดเพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้นเมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้วย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้แล ฯ

(ไทย) นิทาน.สํ.  ๑๖/๙๔/๒๓๓.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) นิทาน.สํ.  ๑๖/๑๑๕/๒๓๓.คลิกดูพระสูตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ถ้าว่า บุคคลย่อม ไม่คิดถึงสิ่งใด ด้วย  ย่อมไม่ดำริถึงสิ่งใดด้วย และทั้งย่อม ไม่มีใจฝังลงไป (คือไม่มีอนุสัย) ในสิ่งใดด้วย ในกาลใด ในกาลนั้น สิ่งนั้น ย่อมไม่เป็นอารมณ์ เพื่อการตั้งอยู่แห่งวิญญาณได้เลย. เมื่ออารมณ์ไม่มี ความตั้งขึ้นเฉพาะแห่งวิญญาณ  ย่อมไม่มี เมื่อวิญญาณนั้น ไม่ตั้งขึ้นเฉพาะ ไม่เจริญงอกงามแล้ว การก้าวลงแห่งนามรูป  ย่อมไม่มี

       เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ

       เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ

       เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา

       เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา

       เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน

       เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ

       เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ

       เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้  แล.

(ไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๖๔/๑๔๘.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) นิทาน. สํ. ๑๖/๗๙/๑๔๘.คลิกดูพระสูตร

ภิกษุ ท. ! ผู้เข้าไปหา เป็นผู้ไม่หลุดพ้น ผู้ไม่เข้าไปหาเป็นผู้หลุดพ้น.

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ ซึ่ง เข้าถือเอารูป ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้   

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ ซึ่ง เข้าถือเอาเวทนาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์ มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัยมีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ ซึ่ง เข้าถือเอาสัญญา ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์ มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้     

ภิกษุ ท. !   วิญญาณ ซึ่ง เข้าถือเอาสังขาร ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิ(ความเพลิน) เป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้

ภิกษุ ท. !  ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราจักบัญญัติ ซึ่งการมา การไป การจุติ การอุบัติ ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นสังขาร” ดังนี้นั้น  นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย.

ภิกษุ ท. !  ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว เพราะละราคะได้อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี. วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้นก็ไม่งอกงาม หลุดพ้นไปเพราะไม่ถูกปรุงแต่ง   เพราะหลุดพ้นไปก็ตั้งมั่นเพราะตั้งมั่นก็ยินดีในตนเอง  เพราะยินดีในตนเองก็ไม่หวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหวก็ปรินิพพานเฉพาะตน  ย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก” ดังนี้.

 

อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า ๖๘๔

(ไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๕๓/๑๐๕.คลิกดูพระสูตร

(บาลี) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๖/๑๐๕.คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

 

 

 

 

Today947
Yesterday676
This week2041
This month12673
Total2479346

Who Is Online

31
Online