Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

พระอรหันต์ตายแล้วไปไหน

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ

 

บางส่วนจากการแสดงธรรม ณ ยุวพุทธธิกสมาคม 8 ส.ค. 55

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4, mp3

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

[๒๔๘] ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน?

     ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิดดังนี้ ไม่ควรเลย.

     ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ?

     ดูกรวัจฉะ คำว่า ไม่เกิดดังนี้ ก็ไม่ควร.

     ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มี ไม่เกิดก็มีหรือ?

     ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มี  ไม่เกิดก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร.

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ?

     ดูกรวัจฉะ คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร.

 [๒๔๙] พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่าจะเกิด ดังนี้ ไม่ควร. ฯลฯ พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ก็ตรัสตอบว่าดูกรวัจฉะ คำว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร. ข้าแต่ท่านพระโคดม ในข้อนี้ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว แม้เพียงความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว เพราะพระวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว.

[๒๕๐] ดูกรวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่าธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่นรู้ได้โดยยาก ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านเห็นควรอย่างใด ก็พึงพยากรณ์อย่างนั้น ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา.

     ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา.

     ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ท่านถูกถามอย่างนี้แล้วจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

     ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าใครๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้อาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุกโพลงอยู่.

     ดูกรวัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว?

     ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว.

ดูกรวัจฉะ ถ้าใครๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ไปยังทิศไหนจากทิศนี้ คือทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

     ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุก แต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว.

การละขันธ์ ๕

 [๒๕๑] ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะรูปใด รูปนั้นตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูปมีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด

ก็หามิได้. บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด  ...  เพราะสัญญาใด  ...  เพราะสังขารเหล่าใด  ...  เพราะวิญญาณใด  ...  วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้ดุจเป็นตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณ มีคุณอันลึก อันใครๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก. เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้.

 

(ไทย)ม.ม. ๑๓/๑๙๐–๑๙๒/๒๔๘–๒๕๑:คลิกดูพระสูตร

(บาลี)ม.ม. ๑๓/๒๔๕–๒๔๗/๒๔๘–๒๕๑:คลิกดูพระสูตร

 

ภิกษุ ท. !  สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม   ๓  อย่าง    เหล่านี้   มีอยู่.

สามอย่างอย่างไรเล่าสามอย่างคือ :-

๑.  มีการเกิดปรากฏ (อุปฺปาโท ปญฺญายติ);

๒. มีการเสื่อมปรากฏ (วโย ปญฺญายติ) ;

๓.  เมื่อตั้งอยู่ ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ   (ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).

ภิกษุ ท. !  สามอย่างเหล่านี้แล  คือสังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม.

 

ภิกษุ ท. !  อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม  ๓  อย่างเหล่านี้   มีอยู่.

สามอย่างอย่างไรเล่าสามอย่างคือ :-

๑.  ไม่ปรากฏมีการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺญายติ) ;

๒. ไม่ปรากฏมีการเสื่อม (น วโย ปญฺญายติ) ;

๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).

ภิกษุ ท. !  สามอย่างเหล่านี้แล   คืออสังขตลักษณะของอสังขตธรรม.

                     

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๔๔๘

                             (ไทย)ติก. อํ. ๒๐/๑๔๔/๔๘๖-๔๘๗. :คลิกดูพระสูตร

                             (บาลี)ติก. อํ. ๒๐/๑๙๒/๔๘๖-๔๘๗. :คลิกดูพระสูตร

 

Today306
Yesterday425
This week2929
This month2078
Total2360072

Who Is Online

15
Online