Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

เราควรแนะนำธรรมสำหรับผู้ป่วยอย่างไร

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วีดีโอ 1

โรงพยาบาล บำรุงราษฎร์  11 ก.ย. 55

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล วัดนาป่าพง

 วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

วีดีโอ 2

เปิดธรรมที่ถูกปิด 2554/13

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

วีดีโอ 3

เปิดธรรมที่ถูกปิด 2554/22

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

วีดีโอ 4

เปิดธรรมที่ถูกปิด 2554/32

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

วีดีโอ 5

สนทนาธรรมค่ำเสาร์  24 มี.ค. 55

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

 วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

วีดีโอ 6

สนทนาธรรมค่ำเสาร์  14 ก.ค. 55 

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

 วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วีดีโอ 7

สนทนาธรรมค่ำเสาร์  9 พ.ย. 56

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

 วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4, mp3

 

 

วีดีโอ 8

ธรรมบรรยาย

โรงแรมมณเฑียร พัทยา

  13 ก.ย. 56

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

 วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4, mp3

 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

ปฏิปทาเพื่อบรรลุมรรคผลของคนเจ็บไข้

 ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้า ธรรม ๕ ประการ ไม่เว้นห่างไปเสียจากคนเจ็บไข้ทุพพลภาพคนใด

 ข้อนี้เป็นสิ่งที่เข้าผู้นั้นพึงหวังได้ คือ เขาจักกระทำให้แจ้งได้ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ ต่อกาลไม่นานเทียว.

 ธรรม ๕ ประการนั้นเป็นอย่างไรเล่า ?

 ภิกษุทั้งหลาย !  ในกรณีนี้ ภิกษุ : -

เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่งามในกาย อยู่

(อสุภานุปสฺสี กาเย วิหรติ)

เป็นผู้มีความสำคัญว่าปฏิกูลในอาหาร อยู่

(อาหาเร ปฏิกฺกูลสญฺญี)

เป็นผู้มีความสำคัญว่าไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง อยู่

(สพฺพโลเก อนภิรตสญฺญี)

เป็นผู้มีปกติตามเห็นว่าไม่เที่ยง ในสังขารทั้งปวง อยู่

(สพฺพสงฺขาเรสุ อนิจฺจานุปสฺสี)

มรณสัญญาอันเขาตั้งไว้ดีแล้วในภายใน อยู่

(มรณสญฺญา โข ปนสฺส อชฺฌตฺตํ สูปฏฺฐิตา โหติ)

ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ ไม่เว้นห่างไปเสียจากคนเจ็บไข้ทุพพลภาพคนใด ข้อนี้เป็นสิ่งที่เขาผู้นั้นพึงหวังได้ คือเขาจักกระทำให้แจ้งได้ ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ ต่อกาลไม่นานเทียว

มรรควิธีที่ง่าย  หน้า ๙๒

(ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ.  ๒๒/๑๒๘/๑๒๑  :  คลิกดูพระสูตร

 

มีสติ มีสัมปชัญญะ รอคอยการตาย

ภิกษุทั้งหลาย !

ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ

เมื่อรอคอยการทำกาละ :

นี้เป็นอนุสาสนีของเรา สำหรับพวกเธอทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้มีสติ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้

เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ;

เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ... ;

เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ... ;

เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ! เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ เป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้

เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การไป การหยุด การนั่ง การนอน การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง

อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ! เรียกว่าภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ

ภิกษุทั้งหลาย !

ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ เมื่อรอคอยการทำกาละ :

นี้แล เป็นอนุสาสนีของเราสำหรับพวกเธอทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าเมื่อภิกษุ มีสติ มีสัมปชัญญะ ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้วในธรรมอยู่อย่างนี้, สุขเวทนา เกิดขึ้น ไซร้; เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่าสุขเวทนานี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่สุขเวทนานี้ อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นได้ ไม่อาศัยเหตุปัจจัยแล้วหาเกิดขึ้นได้ไม่ อาศัยเหตุปัจจัยอะไรเล่า ? อาศัยเหตุปัจจัยคือกายนี้ นั่นเอง ก็กายนี้ไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกาย ซึ่งไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ดังนี้แล้ว จักเป็นสุขเวทนาที่เที่ยงมาแต่ไหนดังนี้ ภิกษุนั้นเป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่ ตามเห็นความเสื่อมความจางคลายอยู่ ตามเห็นความดับไป ความสลัดคืน อยู่ในกายและในสุขเวทนา เมื่อเธอเป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยง (เป็นต้น) อยู่ในกายและในสุขเวทนาอยู่ดังนี้ เธอย่อมละเสียได้ ซึ่งราคานุสัย ในกายและในสุขเวทนานั้น

ภิกษุนั้น ถ้าเสวย สุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าสุขเวทนานั้น เป็นของไม่เที่ยง และเป็นเวทนาที่เรามิได้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่ดังนี้ ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่าทุกขเวทนานั้น เป็นของไม่เที่ยง, และเป็นเวทนาที่เรามิได้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่ดังนี้ ถ้าเสวย อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าอทุกขมสุขเวทนานั้นเป็นของไม่เที่ยง, และเป็นเวทนาที่เรามิได้มัวเมาเพลิดเพลินอยู่ดังนี้

ภิกษุนั้น ถ้าเสวย สุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลส อันเกิดจากเวทนานั้นเป็นเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น ; ถ้าเสวย ทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลส อันเกิดจากเวทนานั้นเป็นเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น ; ถ้าเสวย อุทกขมสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจากกิเลส อันเกิดจากเวทนานั้นเป็นเครื่องร้อยรัดแล้ว เสวยเวทนานั้น ภิกษุนั้น เมื่อเสวย เวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ; เมื่อเสวย เวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ เธอย่อม รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน ได้อาศัยน้ำมันและไส้แล้วก็ลุกโพลงอยู่ได้, เมื่อขาดปัจจัยเครื่องหล่อเลี้ยง เพราะขาดน้ำมันและไส้นั้นแล้ว ย่อมดับลง, นี้ฉันใด ; ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้น คือ ภิกษุ เมื่อเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ, ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุดรอบ ดังนี้ เมื่อเสวยเวทนาอันมีชีวิตเป็นที่สุดรอบ ก็รู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันมีชีวิตที่สุดรอบ ดังนี้ (เป็นอันว่า) ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันเราไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็นในอัตตภาพนี้นั่นเทียว จนกระทั่งถึงที่สุดรอบแห่งชีวิต เพราะการแตกทำลายแห่งกาย ดังนี้

 

มรรควิธีที่ง่าย  หน้า ๘๐

 (ภาษาไทย) สฬา. สํ.  ๑๘/๒๒๔-๒๒๖/๓๗๔-๓๘๑  :  คลิกดูพระสูตร

 

บริโภคกายคตาสติ

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใดไม่บริโภคกายคตาสติ  ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมไม่บริโภคอมตะ

ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด บริโภคกายคตาสติ  ชนเหล่านั้นชื่อว่าย่อมบริโภคอมตะ

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่บริโภคแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่บริโภคแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดบริโภคแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นบริโภคแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติของชนเหล่าใดเสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าเสื่อมแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติของชนเหล่าใดไม่เสื่อมแล้ว อมตะของชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่เสื่อมแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดเบื่อแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเบื่อแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดชอบใจแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นชอบใจแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใดประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าประมาทอมตะ

ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใดไม่ประมาทกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่ประมาทอมตะ

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดหลงลืม อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นหลงลืม

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่หลงลืม อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่หลงลืม

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ส้องเสพแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ส้องเสพแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดส้องเสพแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นส้องเสพแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่เจริญแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่เจริญแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดเจริญแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นเจริญแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้มากแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้มากแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้มากแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่กำหนดรู้แล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่กำหนดรู้แล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดกำหนดรู้แล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นกำหนดรู้แล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดไม่ทำให้แจ้งแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นไม่ทำให้แจ้งแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! กายคตาสติอันชนเหล่าใดทำให้แจ้งแล้ว อมตะชื่อว่าอันชนเหล่านั้นทำให้แจ้งแล้ว, ดังนี้

 

อานาปานสติ  หน้า ๑๔๖ – ๑๔๙

 

(ภาษาไทย)  เอก. อํ.  ๒๐/๔๒-๔๕/๒๒๕-๒๔๖ :  คลิกดูพระสูตร

 

ควรได้ฟังคำตถาคต  มีอานิสงส์ 6 ประการ

ดูกรอานนท์  อานิสงส์ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ๖ ประการนี้  ๖ ประการเป็นไฉน

 ดูกรอานนท์ จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอได้เห็นตถาคต ตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น อันงามในท่ามกลาง อันงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น  ดูกรอานนท์  นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ    

 อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕  ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคตเลย แต่ได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคต ย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่เธอ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น  ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

         อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุยังไม่หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ ในเวลาใกล้ตาย เธอไม่ได้เห็นตถาคต และไม่ได้เห็นสาวกของตถาคตเลย แต่ย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมหลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕  ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ฯ    

 ดูกรอานนท์ จิตของมนุษย์ในธรรมวินัยนี้ ได้หลุดพ้นจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมได้เห็นพระตถาคต พระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

         อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต แต่เธอย่อมได้เห็นสาวกของพระตถาคต สาวกของพระตถาคตย่อมแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ... แก่เธอ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ เพราะได้ฟังธรรมเทศนานั้น  ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ในการฟังธรรมโดยกาลอันควร ฯ

         อีกประการหนึ่ง จิตของภิกษุหลุดพ้นแล้วจากสังโยชน์อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ ๕ แต่จิตของเธอยังไม่น้อมไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ในเวลาใกล้ตาย เธอย่อมไม่ได้เห็นพระตถาคต และย่อมไม่ได้เห็นสาวกของพระตถาคตเลย แต่เธอย่อมตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมา เมื่อเธอตรึกตรองเพ่งด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมาได้เรียนมาอยู่ จิตของเธอย่อมน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส อันหาธรรมอื่นยิ่งกว่ามิได้ ดูกรอานนท์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อ ๖ ในการใคร่ครวญเนื้อความแห่งธรรมโดยกาลอันควร ดูกรอานนท์ อานิสงส์ในการฟังธรรม ในการใคร่ครวญเนื้อความโดยกาลอันควร  ๖ ประการนี้แล ฯ

  (ภาษาไทย) ปญฺจก. อํ.  ๒๒/๓๔๓/๓๒๗  : คลิกดูพระสูตร

ดาวน์โหลด : วีดีโอ

 

 

สังโยชน์สิบ

ภิกษุทั้งหลาย ! สังโยชน์ ๑๐ ประการเหล่านี้ มีอยู่สิบประการอย่างไรเล่า ? สิบประการ คือ :-

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.

 

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามฉันทะ, พยาบาท

เหล่านี้ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.

 

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือ รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจ, อวิชชา

เหล่านี้คือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.

 

ภิกษุ ทั้งหลาย เหล่านี้แล สังโยชน์ ๑๐ ประการ.

คู่มือโสดาบัน หน้า ๑๒๗

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑๖/๑๓ : คลิกดูพระสูตร

 

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ อานิสงส์ ๔ ประการเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ...เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ เธอมีสติ หลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิอันบุคคลพึงหวังได้

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ...เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งบทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลอง เขาเดินทางไกล พึงได้ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่า เสียงกลองหรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงกลองทีเดียว ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ...บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรม ในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกล พึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลง ว่า เสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงสังข์ฉันใด   ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้   บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็มิได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า ท่านผู้นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในกาลก่อน เธอกล่าวอย่างนี้ว่า   ท่านผู้นฤทุกข์   สติบังเกิดขึ้นช้า   แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนเล่นฝุ่นด้วยกัน เขามาพบกัน บางครั้งบางคราว ในที่บางแห่ง สหายคนหนึ่งพึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นี้ได้หรือ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ เราระลึกได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เหมือนกันย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน

ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการนี้ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังแล้วเนืองๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ ฯ

(ภาษาไทย) จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๗๘/๑๙๑ : คลิกดูพระสูตร

 

 

คิลายนสูตร ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้น ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน พระเจ้ามหานามศากยราช ได้ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ยินมาว่า ภิกษุมากรูปกระทำจีวรกรรมของพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริกโดยล่วง ๓ เดือน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้หม่อมฉันยังไม่ได้ฟัง ยังไม่ได้รับมา เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า อุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าวสอนอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก.

. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา พึงปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการว่า ท่านจงเบาใจเถิดว่า ท่านมีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม ... ในพระสงฆ์ ... มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ.

ดูกรมหาบพิตร อุบาสกผู้มีปัญญา ครั้นปลอบอุบาสกผู้มีปัญญา ผู้ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ด้วยธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการนี้แล้ว

พึงถามอย่างนี้ว่า ท่านมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในมารดาและบิดา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในมารดาและบิดาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในมารดาและบิดาของเราแล้ว.

อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ก็ท่านยังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในบุตรและภริยาอยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ท่านผู้เช่นกับเรา ซึ่งมีความตายเป็นธรรมดา ถ้าแม้ท่านจักกระทำความห่วงใยในบุตรและภริยา ก็จักตายไป ถ้าแม้ท่านจักไม่กระทำความห่วงใยในบุตรและภริยา ก็จักตายไปเหมือนกัน ขอท่านจงละความห่วงใยในบุตรและภริยาของท่านเสียเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เราละความห่วงใยในบุตรและภริยาของเราแล้ว

อุบาสกนั้นพึงถามเขาอย่างนี้ว่า ท่านยังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ? ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า เรายังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่ อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า กามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่า กามอันเป็นของมนุษย์ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากกามอันเป็นของมนุษย์แล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว.

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ยังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นจาตุมหาราช ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราช แล้วน้อมจิตไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์เถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว จิตของเราน้อมไปในพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า พวกเทพชั้นยามายังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ... พวกเทพชั้นดุสิตยังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นยามา ... พวกเทพชั้นนิมมานรดียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นดุสิต ... พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตียังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นนิมมานรดี ... พรหมโลกยังดีกว่า ประณีตกว่า พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แล้วน้อมจิตไปในพรหมโลกเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีแล้ว จิตของเราน้อมไปในพรหมโลกแล้ว.

อุบาสกนั้นพึงกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ แม้พรหมโลกก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในสักกายะ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากพรหมโลก แล้วนำจิตเข้าไปในความดับสักกายะเถิด ถ้าเขากล่าวอย่างนี้ว่า จิตของเราออกจากพรหมโลกแล้ว เรานำจิตเข้าไปในความดับสักกายะแล้ว

ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันของอุบาสก ผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี คือ พ้นด้วยวิมุติเหมือนกัน.

(ภาษาไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๐๖/๑๖๒๗-๑๖๓๓ : คลิกดูพระสูตร

 

สัญญา ๑๐ ประการ ในฐานะ

แห่งการรักษาโรคด้วยอำนาจสมาธิ

อานนท์ ! ถ้าเธอจะเข้าไปหาภิกษุคิริมานนท์แล้ว กล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่เธอแล้ว ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ ภิกษุคิริมานนท์ฟังสัญญาสิบประการแล้ว อาพาธอันเป็นทุกข์หนักของเธอ ก็จะระงับไปโดยควรแก่ฐานะ

สัญญา ๑๐ ประการ นั้นคือ อนิจจสัญญา อนัตตสัญญา อสุภสัญญา อาทีนวสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา นิโรธสัญญา สัพพโลเกอนภิรตสัญญา สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา อานาปานสติ.

อานนท์ ! อนิจจสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์อย่างนี้ ว่า รูป ไม่เที่ยง; เวทนา ไม่เที่ยง; สัญญา ไม่เที่ยง; สังขาร ไม่เที่ยง; วิญญาณ ไม่เที่ยงดังนี้ เป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า เหล่านี้อยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ : นี้เรียกว่า อนิจจสัญญา.

อานนท์ ! อนัตตสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์อย่างนี้ ว่า ตา เป็นอนัตตา รูป เป็นอนัตตา; หู เป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา; จมูก เป็นอนัตตา กลิ่น เป็นอนัตตา; ลิ้นเป็นอนัตตา รส เป็นอนัตตา; กาย เป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา; ใจ เป็นอนัตตา ธรรมารมณ์ เป็นอนัตตาดังนี้ เป็นผู้เห็นซึ่งความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งภายในและภายนอกหก เหล่านี้อยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ : นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา.

อานนท์ ! อสุภสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ เห็นโดยประจักษ์ซึ่งกายนี้ นี่แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไปถึงเบื้องบน แต่ปลายผมลงมาถึงเบื้องล่าง ว่า มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ; คือกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำลื่นหล่อข้อ น้ำมูตร; เป็นผู้เห็นความไม่งามในกายนี้อยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ : นี้เรียกว่า อสุภสัญญา.

อานนท์ ! อาทีนวสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์อย่างนี้ ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก; คือในกายนี้มีอาพาธต่างๆ เกิดขึ้น, กล่าวคือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคที่ศีรษะ โรคที่หู โรคที่ปาก โรคที่ฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้มีพิษร้อน ไข้เซื่องซึม โรคกระเพาะ โรคลมสลบ ลงแดง จุกเสียด เจ็บเสียว โรคเรื้อรัง โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ ลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน คุดทะราด โรคละออง โรคโลหิต โรคดีซ่าน เบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง ริดสีดวงทวาร อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน ไข้สันนิบาต ไข้เพราะฤดูแปรปรวน ไข้เพราะบริหารกายไม่สม่ำเสมอ ไข้เพราะออกกำลังเกิน ไข้เพราะวิบากกรรม ความไม่สบายเพราะความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย การถ่ายอุจจาระ การถ่ายปัสสาวะดังนี้; เป็นผู้เห็นโทษในกายนี้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ : นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา.

อานนท์ ! ปหานสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ ไม่ยอมรับไว้ซึ่ง กามวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป; ไม่ยอมรับไว้ซึ่ง พ๎ยาปาทวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป; ไม่ยอมรับไว้ซึ่ง วิหิงสาวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป; ไม่ยอมรับไว้ซึ่ง อกุศลธรรมทั้งหลาย อันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละ ย่อมบรรเทา กระทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีอีกต่อไป; นี้เรียกว่าปหานสัญญา.

อานนท์ ! วิราคสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์ อย่างนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่น ประณีต : กล่าวคือ ธรรมชาติอันเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับเย็นดังนี้ : นี้เรียกว่า วิราคสัญญา.

อานนท์ ! นิโรธสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาอยู่โดยประจักษ์ อย่างนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่น ประณีต : กล่าวคือ ธรรมชาติอันเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความดับ เป็นความดับเย็นดังนี้ : นี้เรียกว่า นิโรธสัญญา.

อานนท์ ! สัพพโลเกอนภิรตสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้อนุสัย (ความเคยชิน) ในการตั้งทับ ในการฝังตัวเข้าไปยึดมั่นแห่งจิตด้วยตัณหา อุปาทานใดๆ ในโลก มีอยู่, เธอละอยู่ซึ่งอนุสัยนั้นๆ งดเว้น ไม่เข้าไปยึดถืออยู่ : นี้เรียกว่า สัพพโลเกอนภิรตสัญญา (ความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าเป็นสิ่งไม่น่ายินดี).

อานนท์ ! สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชัง ต่อสังขารทั้งหลายทั้งปวง : นี้เรียกว่า สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา (ความสำคัญว่าไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง).

อานนท์ ! อานาปานสติ เป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง ก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก. เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว, เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว; เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, เมื่อ หายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก” ; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นหายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”; เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, ว่า เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”; นี้เรียกว่า อานาปานสติ.

อานนท์ ! ถ้าเธอจะเข้าไปหาภิกษุคิริมานนท์ แล้วกล่าวสัญญาสิบประการเหล่านี้แก่เธอแล้ว ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือภิกษุคิริมานนท์ฟังสัญญาสิบประการแล้ว อาพาธอันเป็นทุกข์หนักของเธอก็จะระงับไป โดยควรแก่ฐานะ.

ลำดับนั้นแล ท่านอานนท์จำเอาสัญญาสิบประการเหล่านี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าไปหาท่านคิริมานนท์ แล้วกล่าวสัญญาสิบประการแก่ท่าน เมื่อท่านคิริมานนท์ฟังสัญญาสิบประการแล้ว อาพาธก็ระงับไปโดยฐานะอันควร. ท่านคิริมานนท์หายแล้วจากอาพาธ และอาพาธก็เป็นเสมือนละไปแล้วด้วย แล.

 

พุทธวจน อานาปานสติ หน้า ๑๑๒

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๙๙/๖๐ : คลิกดูพระสูตร

 

 

 
Today552
Yesterday684
This week4103
This month14121
Total2521426

Who Is Online

88
Online