Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

เวลาปฏิบัติอานาปานสติ มักจะมีสัญญาเก่ามาคอยเตือนให้ปรารภความเพียร ถือว่าปฏิบัติถูกต้องหรือไม่

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4, mp3


พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

 

 

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุเป็นผู้ตามประกอบในธรรมเป็นเครื่องตื่น เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากอาวรณียธรรม (กิเลสที่กั้นจิต) ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวันยังค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี, ครั้นยามกลางแห่งราตรี นอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงข้างขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น, ครั้นยามสุดท้ายแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากอาวรณียธรรม ด้วยการเดินจงกรมและการนั่ง อีก.

ภิกษุทั้งหลาย! อย่างนี้แล ชื่อว่าภิกษุเป็นผู้ตามประกอบในธรรมเป็นเครื่องตื่น.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า 1151

 (ภาษาไทย)  สฬา. สํ. ๑๘/๑๙๖/๓๑๙.  : คลิกดูพระสูตร

 

 

ภิกษุทั้งหลาย ! เรายังรู้สึกได้อยู่ซึ่งธรรม ๒ อย่าง คือ

ความไม่รู้จักอิ่มจักพอ (สันโดษ) ในกุศลธรรมทั้งหลาย และ

ความเป็นผู้ไม่ถอยกลับ (อัปปฏิวานี)ในการทำความเพียร.

 

ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมตั้งไว้ซึ่งความเพียรอันไม่ถอยกลับ (ด้วยการอธิษฐานจิต) ว่า

หนัง เอ็น กระดูก จักเหลืออยู่,

เนื้อและเลือดในสรีระจักเหือดแห้งไปก็ตามที;

ประโยชน์ใด อันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลัง

ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ,

ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว

จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มีดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! การตรัสรู้เป็นสิ่งที่เราถึงทับแล้วด้วยความไม่ประมาท อนุตตรโยคักเขมธรรม ก็เป็นสิ่งที่เราถึงทับแล้วด้วยความไม่ประมาท.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าแม้ พวกเธอ พึงตั้งไว้ ซึ่งความเพียรอันไม่ถอยกลับ (ด้วยการอธิษฐานจิต) ว่า

หนัง เอ็น กระดูก จักเหลืออยู่, เนื้อและเลือดในสรีระ

จักเหือดแห้งไปก็ตามที; ประโยชน์ใด อันบุคคลจะบรรลุได้

ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ของบุรุษ, ถ้ายัง

ไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มี

ดังนี้ แล้วไซร้;

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอ ก็จักกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันไม่มีอะไรอื่นยิ่งกว่า อันเป็นประโยชน์ที่ต้องการของกุลบุตร ผู้ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนโดยชอบ, ได้ต่อกาล ไม่นานในทิฏฐธรรม เข้าถึงแล้วแลอยู่ เป็นแน่นอน.

ก้าวย่างอย่างพุทธะ หน้า ๓๗

(ภาษาไทย)  ทุก. อํ. ๒๐/๔๘/๒๕๑.: คลิกดูพระสูตร

 

 

ดูก่อนโสณะ ! เมื่อเธอเข้าไปสู่ที่ลับหลีกเร้นอยู่แต่ผู้เดียว ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เธอว่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่าใด ซึ่งปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นผู้หนึ่งในบรรดาสาวกเหล่านั้น ถึงอย่างนั้น จิตของเราก็ยังหาพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้ไม่. อันที่จริง โภคะในสกุลของเรา ก็ยังมีอยู่มาก เราอาจจะใช้สอยโภคะและบำเพ็ญบุญได้อยู่, ถ้ากระนั้น เราควรสึกไปใช้สอยโภคะ และบำเพ็ญบุญเอาจะดีกว่าดังนี้ มิใช่หรือ ?

เป็นเช่นนั้นจริง พระเจ้าข้า.” พระโสณะทูลตอบ.

ดูก่อนโสณะ ! เธอมีความคิดในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร: เมื่อก่อนแต่ครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์ เธอเชี่ยวชาญในเรื่องเสียงแห่งสายพิณ มิใช่หรือ ?

เป็นเช่นนี้ พระเจ้าข้า

ดูก่อนโสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนี้เป็นไฉน: เมื่อใด สายพิณของเธอขึงตึงเกินไป เมื่อนั้นพิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ จะใช้การได้หรือ ?

ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.”

ดูก่อนโสณะ ! เธอจะสำคัญข้อนี้เป็นไฉน : เมื่อใดสายพิณของเธอขึงหย่อนเกินไป เมื่อนั้น พิณของเธอจะมีเสียงไพเราะน่าฟังหรือ จะใช้การได้หรือ ?

ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า

ดูก่อนโสณะ ! แต่ว่า เมื่อใดสายพิณของเธอไม่ตึงนัก หรือไม่หย่อนนัก ขึงได้ระเบียบเสมอ ๆ กันแต่พอดี เมื่อนั้น พิณของเธอ ย่อมมีเสียงไพเราะน่าฟัง หรือใช้การได้ดี มิใช่หรือ ?

เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า.”

ดูก่อนโสณะ ! ข้อนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล กล่าวคือ ความเพียรที่บุคคลปรารภจัดเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน, ที่ย่อหย่อนเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน. โสณะ ! เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งความเพียรแต่พอดี, จงเข้าใจความที่อินทรีย์ทั้งหลาย ๑ ต้องเป็นธรรมชาติเสมอ ๆ กัน, จงกำหนดหมายในความพอดีนั้นไว้เถิด.

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๒๗๖

  (ภาษาไทย) ฉกฺก. อํ ๒๒/๓๓๙/๓๒๖. :

(ภาษาไทย) - มหา. วิ. ๕/๕/๒.: คลิกดูพระสูตร

 

 

ภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเล่าที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ?

ภิกษุทั้งหลาย ! :

เพราะมีอวิชชา       เป็นปัจจัย จึงมี    สังขารทั้งหลาย;

เพราะมีสังขาร        เป็นปัจจัย จึงมี    วิญญาณ;

เพราะมีวิญญาณ    เป็นปัจจัย จึงมี    นามรูป;

เพราะมีนามรูป       เป็นปัจจัย จึงมี    สฬายตนะ;

เพราะมีสฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมี    ผัสสะ;

เพราะมีผัสสะ             เป็นปัจจัย จึงมี    เวทนา;

เพราะมีเวทนา            เป็นปัจจัย จึงมี    ตัณหา;

เพราะมีตัณหา            เป็นปัจจัย จึงมี    อุปาทาน;

เพราะมีอุปาทาน          เป็นปัจจัย จึงมี    ภพ;

เพราะมีภพ         เป็นปัจจัย จึงมี   ชาติ;

เพราะมีชาติ       เป็นปัจจัย, ชรามรณะโสกะปริเทวะ

ทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน:

 

ก้าวย่างอย่างพุทธะ หน้า ๑๑๕

 (ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖//. : คลิกดูพระสูตร

 

 

สัตว์โลกนี้ เกิดความเดือดร้อนแล้ว มีผัสสะบังหน้า ย่อมกล่าวซึ่งโรคนั้น โดยความเป็นตัวเป็นตนเขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด แต่สิ่งนั้นย่อมเป็นโดยประการอื่นจากที่เขาสำคัญนั้นสัตว์โลกติดข้องอยู่ในภพ ถูกภพบังหน้าแล้ว มีภพโดยความเป็นอย่างอื่น จึงได้เพลิดเพลินยิ่งนักในภพนั้น. เขาเพลิดเพลินยิ่งนักในสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นภัย เขากลัวต่อสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์.

พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลย่อมประพฤติ ก็เพื่อการละขาดซึ่งภพ.

 

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความหลุดพ้นจากภพว่า มีได้เพราะภพ เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น มิใช่ผู้หลุดพ้นจากภพ. ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความออกไปได้จากภพว่า มีได้เพราะวิภพ เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น ก็ยังสลัดภพออกไปไม่ได้.

ก็ทุกข์นี้มีขึ้น เพราะอาศัยซึ่งอุปธิทั้งปวง.

เพราะความสิ้นไปแห่ง อุปาทานทั้งปวง ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์จึงไม่มี.

 

ท่านจงดูโลกนี้เถิด (จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลายอันอวิชชาหนาแน่นบังหน้าแล้ว และว่าสัตว์ผู้ยินดีในภพอันเป็นแล้วนั้น ย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้. ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใด อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.

เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งข้อนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริงอย่างนี้อยู่ เขาย่อมละภวตัณหาได้ และไม่เพลิดเพลินวิภวตัณหาด้วย.

ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือ เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยประการทั้งปวง นั้นคือนิพพาน. ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับเย็นสนิทแล้ว เพราะไม่มีความยึดมั่น.

ภิกษุนั้น เป็นผู้ครอบงำมารได้แล้ว ชนะสงครามแล้ว ก้าวล่วงภพทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้คงที่ ดังนี้แล.

ภพภูมิ หน้า ๕๑๓

(ภาษาไทย) อุ.ขุ. ๒๕/๘๗/๘๔.: คลิกดูพระสูตร

 

 

 

แม้มีอยู่ชั่วขณะก็น่ารังเกียจ

ภิกษุทั้งหลาย ! คูถ แม้นิดเดียว ก็เป็นของมีกลิ่นเหม็น ฉันใด.

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่เรียกว่า ภพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

แม้มีประมาณน้อย ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ไม่มีคุณอะไรที่พอจะกล่าวได้.

 

(ในสูตรถัดไป ได้ตรัสอุปมาด้วยมูตร ด้วยน้ำลาย ด้วยหนอง ด้วยโลหิต โดยทำนองเดียวกัน

เอก. อํ. ๒๐/๓๖/๒๐๔.)

ภพภูมิ หน้า ๑๙

(ภาษาไทย)  เอก. อํ. ๒๐/๓๖/๒๐๓.: คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 
Today168
Yesterday429
This week1910
This month1059
Total2359053

Who Is Online

13
Online