Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

เหตุแห่งการสมปรารถนา เช่น การได้มาซึ่งโภคทรัพย์ หรือสิ่งอื่น พระพุทธเจ้าให้ทำอะไรบ้าง

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

 

วีดีโอ 1

บริษัทดอกบัวคู่ 26 ก.ค. 56

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วีดีโอ 2

โรงแรมเกษมศานติ์ จันทบุรี 2 พ.ค. 55

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วีดีโอ 3

สนทนาธรรมค่ำเสาร์ 18 มิ.ย. 54

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

วีดีโอ 4

งานมงคลสมรส คิม-พงศกร : ไก่-มีสุข  15 กุมภาพันธ์ 2556 บ้านก้ามปู

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

เสียง 1

 

โรงเรียนนายร้อย จปร. เขาชะโงก 10 ต.ค. 55

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่

 

 

วีดีโอ 5 NEW

สนทนาธรรมช่วงก่อนฉัน  22 ธ.ค. 56

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง 10 ปทุมธานี

ดาวน์โหลด : mp4, mp3 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

  

เหตุสำเร็จความปรารถนา

ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดงเหตุสำเร็จความปรารถนาแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังเหตุสำเร็จความปรารถนานั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่าโอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาลเถิดดังนี้ก็มี เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้มรรค นี้ปฏิปทา เป็นไปเพื่อความสำเร็จในความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่าโอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพราหมณ์มหาศาลเถิดดังนี้ก็มี เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้มรรค นี้ปฏิปทา เป็นไปเพื่อความสำเร็จในความเป็นสหายแห่งพราหมณ์มหาศาล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนาอย่างนี้ว่าโอหนอ ! เราเมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งคหบดีมหาศาลเถิดดังนี้ก็มี เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จในภาวะนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้มรรค นี้ปฏิปทา เป็นไปเพื่อความสำเร็จในความเป็นสหายแห่งคหบดีมหาศาล.

ภพภูมิ หน้า ๒๐๑

(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๑๗๒/๓๑๘-๓๒๐. : คลิกดูพระสูตร  

  

อานิสงส์สำหรับผู้ทำศีลให้บริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่เถิด พวกเธอทั้งหลาย จงสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายที่มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงเป็นที่รัก ที่เจริญใจ ที่เคารพ ที่ยกย่อง ของเพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกันทั้งหลายดังนี้แล้ว,

เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย

พึงตามประกอบในธรรมเป็นเครื่องสงบแห่งจิตในภายใน เป็นผู้ไม่เหินห่างในฌาน,

เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยวิปัสสนา

และให้วัตรแห่งผู้อยู่สุญญาคารทั้งหลาย เจริญงอกงามเถิด.

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงเป็นผู้มีลาภด้วยบริขารคือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลายดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด การกระทำเหล่านั้น พึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่ทายกเหล่านั้นดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า ญาติสายโลหิตทั้งหลาย ซึ่งตายจากกันไปแล้ว มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงเราอยู่ ข้อนั้นจะพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แก่เขาเหล่านั้นดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงอดทนได้ซึ่งความไม่ยินดีและความยินดี, อนึ่ง ความไม่ยินดีอย่าเบียดเบียนเรา, เราพึงครอบงำย่ำยีความไม่ยินดี ซึ่งยังเกิดขึ้นแล้วอยู่เถิดดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงอดทนความขลาดกลัวได้, อนึ่ง ความขลาดกลัวอย่าเบียดเบียนเรา, เราพึงครอบงำย่ำยีความขลาดกลัว ที่บังเกิดขึ้นแล้วอยู่เถิดดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงได้ตามต้องการ ได้ไม่ยาก ได้ไม่ลำบาก ซึ่งฌานทั้งสี่ อันเป็นไปในจิตอันยิ่ง เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหารดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงเป็นโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม เป็นผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา ผู้เที่ยงต่อพระนิพพาน มีการตรัสรู้ อยู่ข้างหน้าดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงเป็นสกทาคามี เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม และเพราะความเบาบางแห่งราคะ โทสะ และโมหะ พึงมาสู่เทวโลกอีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วพึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงเป็นโอปปาติกะ (พระอนาคามี) เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำห้า พึงปรินิพพานในภพนั้น ไม่กลับจากโลกนั้น เป็นธรรมดาดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงแสดงอิทธิวิธีมีอย่างต่างๆ ได้ดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงมีทิพยโสตดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราใคร่ครวญแล้ว พึงรู้จิตของสัตว์เหล่าอื่น, ของบุคคลเหล่าอื่น ด้วยจิตของตนดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ...

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงตามระลึกถึงภพที่เคยอยู่ในกาลก่อนได้หลายๆ อย่าง...” ดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ..

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงเห็นสัตว์ทั้งหลายด้วยจักษุทิพย์ อันหมดจดเกินจักษุสามัญของมนุษย์ดังนี้ก็ดี, ...ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุหากจำนงว่า เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมเทียวเข้าถึงแล้วแลอยู่ดังนี้ก็ดี,

เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย พึงตามประกอบในธรรมเป็นเครื่องสงบแห่งจิตในภายใน เป็นผู้ไม่เหินห่างในฌาน ประกอบพร้อมแล้วด้วยวิปัสสนา และให้วัตรแห่งผู้อยู่สุญญาคารทั้งหลายเจริญงอกงามเถิด.

คำใดที่เราผู้ตถาคตกล่าวแล้วว่า

ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย จงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่เถิด เธอทั้งหลาย จงสำรวมด้วยปาติโมกขสังวร สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายที่มีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิดดังนี้.

คำนั้นอันเราตถาคต อาศัยเหตุผลดังกล่าวนี้แล จึงได้กล่าวแล้ว.

 

ปฐมธรรม หน้า ๑๓๕

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๒๒๙

(ภาษาไทย) มู. . ๑๒/๔๓/๗๓. : คลิกดูพระสูตร 

อากังขสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

 ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลาย จงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยปาติโมกข์อยู่เถิด จงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ ในสิกขาบททั้งหลายเถิด

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นที่รัก ที่ชอบใจที่เคารพ และที่ยกย่องของสพรหมจารีทั้งหลายไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลาย ไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของชนเหล่าใด ขอสักการะของชนเหล่านั้นพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า ญาติสาโลหิตเหล่าใด ผู้ละไปแล้วกระทำกาละแล้วมีจิตเลื่อมใส ย่อมตามระลึกถึง ขอการระลึกถึงแห่งญาติสาโลหิตเหล่านั้นพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย เหลือบ ยุงลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เสือกคลาน ถ้อยคำอันหยาบช้า พึงเป็นผู้อดกลั้นต่อทุกขเวทนาอันมีในสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว กล้าแข็ง เผ็ดร้อน อันไม่ชื่นใจไม่พอใจ อันนำชีวิตไปไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี และความยินดี และขอความไม่ยินดีและความยินดีไม่พึงครอบงำเรา เราพึงครอบงำความไม่ยินดี และความยินดีอันเกิดขึ้นแล้วอยู่ไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ครอบงำภัยและความหวาดเสียว และขออภัยและความหวาดเสียวไม่พึงครอบงำเราได้ เราพึงเป็นผู้ครอบงำภัยและความหวาดเสียวที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะไม่ได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ไซร้ ภิกษุนั้นพึง

เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่า เถิด

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยปาติโมกข์อยู่เถิด จงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว ฯ

(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑๑๗/๗๑ : คลิกดูพระสูตร 

สิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะได้

 

คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก. ธรรม ๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-

 

ขอโภคทรัพย์จงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรม ประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก. เราได้โภคทรัพย์ทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว

 

ขอยศจงเฟื่องฟูแก่เราพร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย นี้เป็นธรรม ประการที่ ๒ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก. เราได้โภคทรัพย์ทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว

 

ขอเราจงเป็นอยู่นาน จงรักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็นธรรม ประการที่ ๓ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก. เราได้โภคทรัพย์ทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศพร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นานรักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว

 

เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรม ประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.

 

คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้แล น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.

 

คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ ธรรม ๔ ประการ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-

 

สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค) ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา) .

 

คหบดี ! ก็ สัทธาสัมปทาเป็นอย่างไรเล่า ?

 

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า เพราะเหตุอย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์”. คหบดี ! นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา.

 

ก็ สีลสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

 

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท เป็นผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท. นี้เรียกว่า สีลสัมปทา.

 

ก็ จาคสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

 

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ มีการบริจาคอันปล่อยอยู่เป็นประจำ มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ และการแบ่งปัน. นี้เรียกว่า จาคสัมปทา.

 

ก็ ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?

 

บุคคลมีใจอันความโลภอย่างแรงกล้า คือ อภิชฌาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำเมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำและละเลยกิจที่ควรทำเสีย ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำและละเลยกิจที่ควรทำเสีย ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข.

 

คหบดี ! อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะ (ความโลภอย่างแรงกล้า) เป็นอุปกิเลส (โทษเครื่องเศร้าหมอง) แห่งจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตเสียได้ รู้ว่า พยาบาท (คิดร้าย) ถีนมิทธะ (ความหดหู่ซึมเซา) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต ย่อมละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นอุปกิเลสแห่งจิตเหล่านั้น .

 

คหบดี ! เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าอภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้ เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสแห่งจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละสิ่งเหล่านั้นเสียได้ อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้เห็นทาง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา. นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา.

 

คหบดี !

 ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้ธรรม ๔ ประการ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.

 ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๒๓

 

จตุกฺก. อํ. ๒๑/๖๕/๖๑. : คลิกดูพระสูตร

  

ทาน ที่จัดว่าเป็น มหาทาน

 

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวก ในกรณีนี้ ละปาณาติบาต เว้นขาดจากปาณาติบาต.

 

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกเว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว ย่อมชื่อว่า ให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลาย มากไม่มีประมาณ; ครั้นให้อภัยทาน อเวรทาน อัพยาปัชฌทาน แก่สัตว์ทั้งหลายมากไม่มีประมาณแล้ว ย่อมเป็นผู้ มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อันไม่มีประมาณ.

 

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เป็นทานชั้นปฐม เป็นมหาทาน รู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน.

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้เป็นท่อธารแห่งบุญ เป็นที่ไหลออกแห่งกุศล นำมาซึ่งสุข เป็นไปเพื่อยอดสุดอันดี มีสุขเป็นวิบาก เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขอันพึงปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ.

 

ภิกษุทั้งหลาย ! ทาน ๕ ประการนี้แล เป็นมหาทานรู้จักกันว่าเป็นของเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นของประพฤติสืบกันมาแต่โบราณ ไม่ถูกทอดทิ้งเลย ไม่เคยถูกทอดทิ้งในอดีต ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ในปัจจุบัน และจักไม่ถูกทอดทิ้งในอนาคต อันสมณพราหมณ์ผู้รู้ไม่คัดค้าน.

 ปฐมธรรม หน้า ๑๒๐

 อฏฺฐก. อํ. ๒๓/๑๙๑/๑๒๙. : คลิกดูพระสูตร

  

เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน ๘ ประการ

ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน ๘ ประการนี้.

๘ ประการ อย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาเห็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อม ถูกบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ! เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาลเขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่า เป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตบริสุทธิ์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ... เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ! เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาเขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ... เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ...เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุขมาก เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ! เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตีเขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตบริสุทธิ์

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมให้ทาน คือ ข้าวน้ำ ... เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น เขาได้ฟังมาว่า เทวดาชั้นพรหมกายิกา มีอายุยืน มีวรรณะ มากด้วยความสุข เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ ! เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมกายิกาเขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น จิตของเขานึกน้อมไปในทางที่เลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหมกายิกา แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะจิตปราศจากราคะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุเกิดขึ้นแห่งทาน ๘ ประการนี้แล.

ภพภูมิ หน้า ๒๖๔

(ภาษาไทย) สตฺตก. อํ. ๒๓/๑๘๖/๑๒๕ : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

 
Today294
Yesterday268
This week853
This month3026
Total2361020

Who Is Online

14
Online