มิจฉาทิฐิ (มิจฉาทิฏฐิ) หรือความเห็นที่ผิด เกี่ยวกับเรื่องกรรม มีอะไรบ้าง
วิดีโอ
บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี
ดาวน์โหลด : คลิกที่นี่
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ลัทธิที่เชื่อว่าสุขและทุกข์เกิดจากกรรมเก่าอย่างเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธิเหล่านี้ มีอยู่, เป็นลัทธิซึ่งแม้บัณฑิตจะพากันไตร่ตรอง จะหยิบขึ้นตรวจสอบ จะหยิบขึ้นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร แม้จะบิดผันกันมาอย่างไร ก็ชวนให้น้อมไปเพื่อการไม่ประกอบกรรมที่ดีงามอยู่นั่นเอง.
ภิกษุทั้งหลาย ! ลัทธิ ๓ ลัทธินั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ๓ ลัทธิคือ :-
(๑) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน” ดังนี้.
(๒) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์ของเจ้าเป็นนาย” ดังนี้.
(๓) สมณะและพราหมณ์บางพวก มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุรุษบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้รับสุข รับทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ ทั้งหมดนั้น ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยเลย” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในบรรดาลัทธิทั้ง ๓ นั้น สมณพราหมณ์พวกใด มีถ้อยคำและความเห็นว่า “บุคคลได้รับสุข หรือทุกข์ หรือไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์เพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนอย่างเดียว” มีอยู่,
เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น แล้วสอบถาม ความที่เขายังยืนยันอยู่ดังนั้นแล้ว เรากล่าวกะเขาว่า“ถ้ากระนั้น คนที่ฆ่าสัตว์ ... ลักทรัพย์ ... ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ... พูดเท็จ ... พูดคำหยาบ ... พูดยุให้แตกกัน... พูดเพ้อเจ้อ ... มีใจละโมบเพ่งเล็ง ... มีใจพยาบาท ...มีความเห็นวิปริตเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง (ในเวลานี้)นั่นก็ต้องเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน. เมื่อมัวแต่ถือเอากรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนมาเป็นสาระสำคัญดังนี้แล้วคนเหล่านั้นก็ไม่มีความอยากทำ หรือความพยายามทำในข้อที่ว่า
สิ่งนี้ควรทำ (กรณียกิจ)
สิ่งนี้ไม่ควรทำ(อกรณียกิจ) อีกต่อไป.
เมื่อกรณียกิจและอกรณียกิจไม่ถูกทำหรือถูกละเว้นให้จริงๆ จังๆ กันแล้วคนพวกที่ไม่มีสติคุ้มครองตนเหล่านั้นก็ไม่มีอะไรที่จะมาเรียกตนว่าเป็นสมณะอย่างชอบธรรมได้” ดังนี้.
หนังสือแก้กรรม หน้า ๖๐
(ภาษาไทย) ติก. อํ. ๒๐/๑๖๗/๕๐๑. : คลิกดูพระสูตร
ทิ้งเสียนั่นแหละ กลับจะเป็นประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย. !
สิ่งใด ไม่ใช่ของเธอ, สิ่งนั้น จงละมันเสีย;
สิ่งนั้น อันเธอละเสียแล้ว
จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่เธอ.
ภิกษุทั้งหลาย. ! อะไรเล่า ที่ไม่ใช่ของเธอ ?
ภิกษุทั้งหลาย. ! จักษุไม่ใช่ของเธอ เธอจงละมันเสีย;
จักษุนั้น อันเธอละเสียแล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่เธอ
(ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ และ มโน ก็ได้ตรัสต่อไปด้วยข้อความอย่างเดียวกัน).
ภิกษุทั้งหลาย. ! เปรียบเหมือน อะไร ๆ ในแคว้นนี้ ที่เป็นหญ้า เป็นไม้ เป็นกิ่งไม้ เป็นใบไม้
ที่คนเขาขนไปทิ้ง หรือ เผาเสีย หรือทำตามปัจจัย; พวกเธอรู้สึกอย่างนี้บ้างหรือไม่ว่า คนเขาขนเราไป หรือเผาเรา หรือทำแก่เราตามปัจจัยของเขา ?
“ไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า !”
เพราะเหตุไรเล่า ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เพราะเหตุว่า ความรู้สึกว่าตัวตน (อตฺตา) ของตน (อตฺตนิยา) ของข้าพระองค์ไม่มีในสิ่งเหล่านั้น พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลาย. ! ฉันใดก็ฉันนั้น :
จักษุ...โสตะ...ฆานะ...ชิวหา...กายะ...มโน ไม่ใช่ของเธอเธอจงละมันเสีย
สิ่งเหล่านั้น อันเธอละเสียแล้ว
จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่เธอ แล.
(ภาษาไทย) สฬา.สํ ๑๘/๑๓๑/๒๑๙ : คลิกดูพระสูตร