นามกาย คืออะไร
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
มหานิทานสูตร
...ฯลฯ...
ก็คำนี้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ เรากล่าวอธิบายดังต่อไปนี้
ดูกรอานนท์ เธอพึงทราบความข้อนี้โดยปริยายแม้นี้ เหมือนที่เราได้กล่าวไว้ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุเทศ นั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อในรูปกายจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ การบัญญัติรูปกาย ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการกระทบ จะพึงปรากฏในนามกายได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามก็ดี รูปกายก็ดี ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี การสัมผัสเพียงแต่ชื่อ ก็ดี การสัมผัสโดยการกระทบ ก็ดี จะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
ดูกรอานนท์ การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต อุเทศ เมื่ออาการ เพศ นิมิต อุเทศนั้นๆ ไม่มี ผัสสะจะพึงปรากฏได้บ้างไหม ฯ
ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า ฯ
เพราะเหตุนั้นแหละ อานนท์ เหตุ นิทาน สมุทัย ปัจจัยแห่งผัสสะ ก็คือนามรูป นั่นเอง ฯ
...ฯลฯ...
(ภาษาไทย) มหา. ที. ๑๐/๕๕/๖๐. : คลิกดูพระสูตร
ลักษณะแห่งสัมมาสมาธิชั้นเลิศ ๕ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดงการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! การเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ นั้นเป็นอย่างไรเล่า?
๑. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุ ฌานที่หนึ่ง ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปติ ิและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. เธอ ประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก นั้น, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกนั้น ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือน นายช่างอาบ ก็ดี หรือลูกมือของเขาก็ดี เป็นคนฉลาด โรยผงที่ใช้สำหรับถูตัวในเวลาอาบน้ำลงในขันสำริด แล้วพรมน้ำหมักไว้, ครั้นเวลาเย็น ก้อนผงออกยางเข้ากัน ซึมทั่วกันแล้ว จับกันทั้งภายในภายนอก ไม่ไหลหยด ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น ประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอ ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ห้าอันเป็นอริยะ ประการที่หนึ่ง.
๒. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้จึงบรรลุ ฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน นำให้เกิดสมาธิมีอารมณ์อันเดียว ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่. เธอประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือน ห้วงนํ้าอันลึก มีน้ำพลุ่งขึ้น ไม่มีปากทางน้ำเข้าทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ แห่งห้วงน้ำนั้น และฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่ขณะนั้นท่อน้ำเย็นพลุ่งขึ้นจากห้วงน้ำนั้น ไหลทับไหลท่วมแผ่ทั่วเต็มไปหมดซึ่งห้วงน้ำนั้นเอง ด้วยน้ำอันเย็น, ส่วนไหนๆ ของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ, ส่วนใดส่วนหนึ่งในกายเธอ ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ ประการที่สอง.
๓. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย จึงบรรลุ ฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “ผู้ได้บรรลุฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข” ดังนี้ แล้วแลอยู่. เธอ ประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยสุขหาปีติมิได้, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขหาปีติมิได้ ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนใน หนองบัวอุบล หนองบัวปทุม หนองบัวบุณฑริก มีดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางเหล่าที่เกิดอยู่ในน้ำ เจริญอยู่ในน้ำ ยังขึ้นไม่พ้นน้ำ จมอยู่ภายใต้อันน้ำเลี้ยงไว้, ดอกบัวเหล่านั้นถูกน้ำเย็นแช่ชุ่ม ถูกต้องตั้งแต่ยอดตลอดราก, ส่วนไหนๆ ของดอกบัวเหล่านั้นทั่วทั้งดอก ที่น้ำเย็นไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี. ข้อนี้เป็นฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุ ประพรมกายนี้ทำให้ชุ่มทั่ว ชุ่มรอบ เต็มรอบ ด้วยสุขหาปีติมิได้, ส่วนใดส่วนหนึ่งในกายเธอ ที่สุขหาปีติมิได้ ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ ประการที่สาม.
๔. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ, เพราะละสุขและละทุกข์เสียได้, เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, จึงบรรลุ ฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. เธอนั้น นั่งแผ่ไปตลอดกายนี้ ด้วยใจอันบริสุทธ์ิผ่องใส, ส่วนใดส่วนหนึ่งของกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือน ชายคนหนึ่ง นั่งคลุมตัว ด้วยผ้าขาวตลอดศีรษะ, ส่วนไหนๆในกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ผ้าขาวไม่ถูกต้องแล้ว (คือไม่คลุมแล้ว) มิได้มี ข้อนี้เป็นฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั่งแผ่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องใสไปตลอดกายนี้, ส่วนใดส่วนหนึ่งในกายเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่ถูกต้องแล้ว มิได้มี, ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ ประการที่สี่.
๕. ภิกษุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ปัจจเวกขณนิมิต เป็นสิ่งที่ภิกษุนั้น ถือเอาแล้วด้วยดี กระทำในใจแล้วด้วยดี เข้าไปทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา (ชัดเจน) เปรียบเหมือน คนคนหนึ่ง เห็นคนอีกคนหนึ่ง หรือว่าเหมือนคนยืน เห็นคนนั่ง หรือว่าเหมือน คนนั่ง เห็นคนนอน, ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ปัจจเวกขณนิมิต เป็นสิ่งที่ภิกษุนั้นถือเอาแล้วด้วยดี กระทำในใจแล้วด้วยดี เข้าไปทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้คือ การเจริญสัมมาสมาธิ ที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ ประการที่ห้า.
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ อันภิกษุ เจริญกระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุย่อมน้อมจิตไปเพื่อกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมใดๆที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งอยู่ ในธรรมอันควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้นๆนั่นแหละ เธอนั้นย่อมลุถึงซึ่งความสามารถทำได้จนเป็นสักขีพยาน ในเมื่ออายตนะยังมีอยู่ๆ.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือน หม้อนํ้ามีหูจับ ตั้งอยู่บนเชิงรอง เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปาก กาดื่มได้ บุรุษมีกำลังจับหม้อน้ำนั้นหมุนไปทางใดๆ น้ำย่อมกระฉอกไปทางนั้นๆ มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ อันภิกษุ เจริญทำให้มากแล้วอย่างนี้ ภิกษุย่อมน้อมจิตไปเพื่อกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมใดๆที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งอยู่ ในธรรมอันควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้นๆนั่นแหละ เธอนั้นย่อมลุถึงซึ่งความสามารถทำได้จนเป็นสักขีพยานในเมื่ออายตนะยังมีอยู่ๆ.
ภิกษุทั้งหลาย ! หรือเปรียบเหมือน สระโบกขรณี สี่เหลี่ยม กั้นไว้ด้วยขอบคัน เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปาก กาดื่มได้ มีบุรุษผู้มีกำลังมาเจาะขอบคันที่ใดๆ น้ำย่อมไหลออกมาโดยที่นั้นๆ มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุย่อมน้อมจิตไปเพื่อกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมใดๆ ที่ควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งอยู่ ในธรรมอันควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้นๆนั่นแหละ เธอนั้นย่อมลุถึงซึ่งความสามารถทำได้จนเป็นสักขีพยาน ในเมื่ออายตนะยังมีอยู่ๆ.
ภิกษุทั้งหลาย ! หรือเปรียบเหมือน รถเทียมด้วยม้าอาชาไนยที่ฝึกดีแล้ว ผูกเครื่องผูกครบถ้วนแล้ว เป็นรถที่จอดอยู่หนทางสี่แพร่ง มีภูมิภาคอันดีสารถีผู้เชี่ยวชาญในการฝึกม้า เป็นชั้นอาจารย์ ขยันขันแข็ง ขึ้นสู่รถนั้นแล้วจับเชือกด้วยมือซ้าย จับปฏักด้วยมือขวา เพียงแต่ยกปฏักขึ้นเป็นสัญญาณ ก็สามารถให้ม้าพารถไปข้างหน้า หรือให้ถอยหลัง ได้ตามที่ตนปรารถนา, นี้ฉันใด; ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือเมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ห้า อันเป็นอริยะ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุย่อมน้อมจิตไปเพื่อกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมใดๆที่คควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งอยู่ ในธรรมอันควรกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งนั้นๆ นั่นแหละ เธอนั้นย่อมลุถึงซึ่งความสามารถทำได้จนเป็นสักขีพยาน ในเมื่ออายตนะยังมีอยู่ๆ.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย หน้า ๑๒๘๑
(ภาษาไทย) ปญฺจก.อํ. ๒๒/๒๓/๒๘. : คลิกดูพระสูตร