ขอคำอธิบายคำว่า จิตสังขาร, ปิติ, สุข, โลภ, อภิชฌา, จิตปราโมทย์, จิตตั้งมั่น, จิตปล่อย, ความจางคลาย, ความสลัดคืน
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า
จึงเป็นไปเพื่อการกำจัดเสียซึ่งอนุสัย ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม
นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น
มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก:
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดวาเราหายใจเข้ายาว, เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป้นผู้เห้นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”:
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า” ว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”:
ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติสมาธิ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อการกำจัดเสียซึ่งอนุสัย
(ไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๔๒/๑๔๐๘ : คลิกดูพระสูตร
(บาลี) มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๒๖/๑๔๐๘ : คลิกดูพระสูตร
[๑๒๗] เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุขเมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น. เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาดจะพึงใส่จุรณ์สีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำ หมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณ์สีตัวซึ่งยางซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออก ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่าทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ.
(ไทย) สี.ที. ๙/๗๐/๑๒๗ : คลิกดูพระสูตร
(บาลี) สี.ที. ๙/๙๘/๑๒๗: คลิกดูพระสูตร
ดูกรอานนท์ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อวิปปฏิสารมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปราโมทย์มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปีติมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัสสัทธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สุขมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สมาธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์
พ. ดูกรอานนท์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ยถาภูตญาณทัสสนะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาวิราคะเป็นอานิสงส์ ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นิพพิทาวิราคะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ นิพพิทาวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์
ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตโดยลำดับด้วยประการดังนี้แล ฯ
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้าที่ ๒๒๘
(ไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๑/๑: คลิกดูพระสูตร
(บาลี) ทสก. อํ. ๒๔/๑/๑: คลิกดูพระสูตร
(อนุปุพพสังขารนิโรธ)
ภิกษุ ! ความดับแห่งสังขารโดยลำดับๆ เราได้กล่าวแล้ว ดังนี้คือ :-
เมื่อเข้าสู่ ปฐมฌาน แล้ว วาจา ย่อมดับ ;
เมื่อเข้าสู่ ทุติยฌาน แล้ว วิตก และ วิจาร ย่อมดับ ;
เมื่อเข้าสู่ ตติยฌาน แล้ว ปีติ ย่อมดับ ;
เมื่อเข้าสู่ จตุตถฌาน แล้ว อัสสาสะ และ ปัสสาสะ ย่อมดับ ;
เมื่อเข้าสู่ อากาสานัญจายตนะ แล้ว รูปสัญญา ย่อมดับ ;
เมื่อเข้าสู่ วิญญาณัญจายตนะแล้วอากาสานัญจายตนสัญญาย่อดับ ;
เมื่อเข้าสู่ อากิญจัญญายตนะ แล้ว วิญญาณัญจายตนสัญญา ย่อมดับ ;
เมื่อเข้าสู่ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้ว อากิญจัญญายตนสัญญา ย่อมดับ ;
เมื่อเข้าสู่ สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว สัญญา และ เวทนา ย่อมดับ ;
เมื่อภิกษุ สิ้นอาสวะ แล้ว ราคะ ก็ดับ โทสะ ก็ดับ โมหะ ก็ดับ.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๗๖๖.
(ไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๒๓๑/๓๙๒.: คลิกดูพระสูตร
(บาลี) สฬา. สํ. ๑๘/๒๖๘/๓๙๒. : คลิกดูพระสูตร