Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

การปฏิบัติภาวนา วิธีที่เพ่งให้จิตนิ่งอยู่ กับวิธีที่เอาจิตไปใช้ใคร่ครวญพิจารณา วิธีไหนดีกว่ากัน

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

เสียง

 


แสดงธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

 วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

ดาวน์โหลด mp3 : คลิกที่นี่


 

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง

                สันธะ ! เธอจงเพ่งอย่างการเพ่งของสัตว์อาชาไนย ; อย่าเพ่งอย่างการเพ่งของสัตว์กระจอก.

สันธะ ! อย่างไรเล่า เป็นการเพ่งอย่างของสัตว์กระจอก ?

สันธะ ! ม้ากระจอกถูกผูกไว้ที่รางเลี้ยงอาหาร ใจของมันก็จะเพ่งอยู่แต่ว่าข้าวเปลือกๆเพราะเหตุไรเล่า ?

สันธะ ! เพราะเหตุว่ามันไม่มีแก่ใจที่จะคิดว่า วันนี้ สารถีของเราต้องการให้เราทำอะไรหนอ เราจะตอบสนองเขาอย่างไรหนอ” ; มันมัวเพ่งอยู่ในใจว่า ข้าวเปลือกๆดังนี้.

สันธะ ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ภิกษุกระจอกบางรูปในกรณีนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม สู่โคนไม้ก็ตาม สู่เรือนว่างก็ตาม มีจิตถูกกามราคนิวรณ์กลุ้มรุมห่อหุ้มอยู่.  เขาไม่รู้ตามเป็นจริงซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกจากกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว; เขากระทำกามราคะนั้นๆ ให้เนื่องกันไม่ขาดสาย เพ่งอยู่ เพ่งทั่วอยู่  เพ่งโดยไม่เหลืออยู่  เพ่งลงอยู่.

(ในกรณีแห่ง พยาบาท - ถีนมิทธะ - อุทธัจจกุกกุจจะ – และวิจิกิจฉานิวรณ์ ก็ได้เป็นไปในลักษณะอย่างเดียวกัน).

ภิกษุนั้นย่อมเพ่งอาศัยความสำคัญว่าดินบ้าง ย่อมเพ่งอาศัยความสำคัญว่าน้ำบ้าง อาศัยความสำคัญว่าไฟบ้าง อาศัยความสำคัญว่าลมบ้าง ว่าอากาสานัญจายตนะบ้าง ว่าวิญญาณัญ-จายตนะบ้าง ว่าอากิญจัญญายตนะบ้าง ว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง ว่าโลกนี้บ้าง ว่าโลกอื่นบ้าง อาศัยความสำคัญว่า สิ่งที่เราเห็นแล้ว”.  “สิ่งที่เราฟังแล้ว”, “สิ่งที่เรารู้สึกแล้ว”, “สิ่งที่เรารู้แจ้งแล้ว”, “สิ่งที่เราบรรลุแล้ว”, “สิ่งที่เราแสวงหาแล้ว”, “สิ่งที่ใจของเราติดตามแล้วแต่ละอย่างๆเป็นต้น ดังนี้บ้าง, เพ่งอยู่.

สันธะ ! อย่างนี้แล เป็นการเพ่งอย่างของสัตว์กระจอก.

สันธะ ! อย่างไรเล่า เป็นการเพ่งอย่างของสัตว์อาชาไนย ?

สันธะ ! ม้าอาชาไนยตัวเจริญ ถูกผูกไว้ที่รางเลี้ยงอาหาร ใจของมันจะไม่เพ่งอยู่แต่ว่า 

ข้าวเปลือก ๆเพราะเหตุไรเล่า ?

สันธะ ! เพราะเหตุว่าแม้ถูกผูกอยู่ที่รางเลี้ยงอาหาร แต่ใจของมันมัวไปคิดอยู่ว่า วันนี้ สารถีของเราต้องการให้เราทำอะไรหนอ เราจะตอบสนองเขาอย่างไรหนอดังนี้ ; มันไม่มัวแต่เพ่งอยู่ 

ในใจว่า ข้าวเปลือก ๆดังนี้.    

สันธะ ! ก็ม้าอาชาไนยนั้น รู้สึกอยู่ว่า การถูกลงปะฏักนั้นเป็นเหมือนการใช้หนี้ การถูกจองจำ ความเสื่อมเสีย เป็นเหมือน เสนียดจัญไร.

(ขอให้สังเกตว่า แม้อยู่ในที่เดียวกัน ต่อหน้าสถานการณ์อย่างเดียวกัน ม้าสองตัวนี้ก็มีความรู้สึกอยู่ในใจคนละอย่างตามความต่างของมัน คือตัวหนึ่งเพ่งแต่จะกิน ตัวหนึ่งเพ่งแต่ในหน้าที่ ที่จะไม่ทำให้บกพร่องจนถูกลงโทษ ; ดังนี้เรียกว่า มีความเพ่งต่างกันเป็นคนละอย่าง).

สันธะ ! ภิกษุอาชาไนยผู้เจริญ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม, มีจิตไม่ถูกกามราคนิวรณ์กลุ้มรุม ห่อหุ้มอยู่, เขาเห็นตามเป็นจริงซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกกามราคะที่เกิดขึ้นแล้ว.

(ในกรณีแห่ง พยาบาท - ถีนมิทธะ - อุทธัจจกุกกุจจะ - และวิจิกิจฉา - นิวรณ์ ก็ได้เป็นไปในลักษณะอย่างเดียวกัน). 

ภิกษุนั้น ย่อมเพ่งไม่อาศัยความสำคัญว่าดินย่อมเพ่งไม่อาศัยความสำคัญว่าน้ำ ไม่อาศัยความสำคัญว่าไฟ  ไม่อาศัยความสำคัญว่าลม ไม่อาศัยความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ ไม่อาศัยความสำคัญว่าวิญญาณัญจายตนะ ไม่อาศัยความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ ไม่อาศัยความสำคัญว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่อาศัยความสำคัญว่าโลกนี้  ไม่อาศัยความสำคัญ ว่าโลกอื่น ย่อมเพ่งไม่อาศัยความสำคัญว่า สิ่งที่เราเห็นแล้ว”. “สิ่งที่เราฟังแล้ว”, “สิ่งที่เรารู้สึกแล้ว”, “สิ่งที่เรารู้แจ้งแล้ว”, “สิ่งที่เราบรรลุแล้ว”, “สิ่งที่เราแสวงหาแล้ว”, “สิ่งที่ใจของเราติดตามแล้ว”  แต่ละอย่างๆ เป็นต้น ดังนี้บ้าง, เพ่งอยู่ .

สันธะ ! เทวดาทั้งหลาย พร้อมทั้งอินทร์ พรหม และปชาบดี ย่อมนมัสการบุรุษอาชาไนยผู้เจริญผู้เพ่งอยู่อย่างนี้ มาแต่ที่ไกลทีเดียว  กล่าวว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ! ข้าแต่ท่านบุรุษสูงสุด ! ข้าพเจ้าขอนมัสการท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะทราบ สิ่งซึ่งท่านอาศัยแล้วเพ่งของท่าน(เมื่อตรัสดังนี้แล้ว สันธภิกษุได้ทูลถามว่า)

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ เพ่งอย่างไรกัน ชนิดที่ไม่อาศัยดินหรือน้ำเป็นต้นแล้วเพ่ง จนกระทั่งพวกเทวดาพากันสรรเสริญว่าดังนั้น  พระเจ้าข้า ?”

(ต่อไปนี้ เป็นคำตรัสที่แสดงให้เห็นว่า สัญญาต่างๆ จะถูกเพิกถอนไป เมื่ออารมณ์แห่งสัญญานั้นเป็นที่แจ่มแจ้งแก่ผู้เพ่ง ว่าสิ่งนั้นๆ มิได้เป็นตามที่คนธรรมดาสามัญที่สำคัญว่าเป็นอย่างไร ; ขอให้ผู้ศึกษาตั้งใจทำความเข้าใจให้ดีที่สุด ดังต่อไปนี้ )

สัทธะ ! ในกรณีนี้ ปฐวีสัญญา(ความสำคัญในดินว่าดิน)ย่อมเป็นแจ้งแก่บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ

ความสำคัญในน้ำว่าน้ำ,

ความสำคัญในไฟว่าไฟ,

ความสำคัญในลมว่าลม,

ความสำคัญในอากาสานัญจายตนะ ว่าอากาสานัญจายตนะ,

ความสำคัญในวิญญาณัญจายตนะว่าวิญญาณัญจายตนะ,

ความสำคัญในอากิญจัญญายตนะว่าอากิญจัญญายตนะ,

ความสำคัญในเนวสัญญานาสัญญายตนะว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ,

ความสำคัญในโลกนี้ว่าโลกนี้,

ความสำคัญในโลกอื่นว่าโลกอื่น,

ความสำคัญในสิ่งที่เห็นแล้วฟังแล้วว่า สิ่งที่เราเห็นแล้ว”  “สิ่งที่เราฟังแล้ว”… ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นแจ้งแก่บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ

สันธะ ! บุรุษอาชาไนยผู้เจริญ เพ่งอยู่อย่างนี้ จึงได้ชื่อว่า ไม่อาศัยความสำคัญว่าดินแล้วเพ่ง ไม่อาศัยความสำคัญว่าน้ำแล้วเพ่ง ไม่อาศัยความสำคัญว่าไฟแล้วเพ่ง เป็นต้น จนกระทั่งพวกเทวดาพากันสรรเสริญว่าดังนั้น.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑หน้า ๗๘๒-๗๘๕

 (ภาษาไทย) เอกาทสก. อํ. ๒๔/๒๙๘-๓๐๑/๒๑๖. : คลิกดูพระสูตร

 

 

ภิกษุทั้งหลาย. ! สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่.

สามอย่างอย่างไรเล่า สามอย่างคือ :

๑. มีการเกิดปรากฏ (อุปฺปาโท ปญฺญายติ);

๒. มีการเสื่อมปรากฏ (วโย ปญฺญายติ) ;

๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).

ภิกษุทั้งหลาย. ! สามอย่างเหล่านี้แล  คือสังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม.

ภิกษุทั้งหลาย. ! อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม  ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.

สามอย่างอย่างไรเล่า สามอย่างคือ :

๑. ไม่ปรากฏมีการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺญายติ) ;

๒. ไม่ปรากฏมีการเสื่อม (น วโย ปญฺญายติ) ;

๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).

       ภิกษุทั้งหลาย. ! สามอย่างเหล่านี้แล คือ อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม.

ปฐมธรรม หน้า ๓๐๔-๓๐๕ อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า  ๔๔๘

 (ภาษาไทย)  ติก. อํ. ๒๐/๑๔๔/๔๘๖-๔๘๗.  : คลิกดูพระสูตร

 

 

ภิกษุทั้งหลาย. ! นี้เป็นสิ่งที่หวังได้สำหรับภิกษุผู้มีมิตรดี(กลฺยาณมิตฺต) มีสหายดี(กลฺยาณสหาย) มีพวกพ้องดี(กลฺยาณสมฺปวงฺก) คือ จักเป็นผู้มีศีลสำรวมด้วยการสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายอยู่ ;

ภิกษุทั้งหลาย. ! นี้เป็นสิ่งที่หวังได้สำหรับภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีพวกพ้องดี ; กล่าวคือ กถาเป็นเครื่องขูดเกลาอย่างยิ่ง เป็นธรรมเครื่องสบายแก่การเปิดโล่งแห่งจิต ได้แก่ อัปปิจฉกถา(เรื่องปรารถนาน้อย) สันตุฏฐิกถา(เรื่องสันโดษ) ปวิเวกกถา(เรื่องความสงัด) อสังสัคคกถา(เรื่องไม่คลุกคลี) วิริยารัมภกถา(เรื่องมีความเพียร) สีลกถา(เรื่องศีล) สมาธิกถา(เรื่องสมาธิ) ปัญญากถา(เรื่องปัญญา) วิมุตติกถา(เรื่องวิมุตติ) วิมุตติญาณทัสสนกถา(เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ)เธอจักเป็นผู้ได้โดยง่าย ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเช่นนี้ ;

ภิกษุทั้งหลาย. ! นี้เป็นสิ่งที่หวังได้สำหรับภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีพวกพ้องดี ; กล่าวคือ จักเป็นผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว เพื่อการละซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อการถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย มีกำลัง(จิต) มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ;

ภิกษุทั้งหลาย. ! นี้เป็นสิ่งที่หวังได้สำหรับภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีพวกพ้องดี ; กล่าวคือ จักเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องให้รู้ซึ่งความเกิดและความดับ(อุทยตฺถคามินี) อันเป็นปัญญาที่เป็นอริยะ เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส ให้ถึงซึ่งสิ้นทุกข์โดยชอบ.

ภิกษุทั้งหลาย. ! ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมห้าประการเหล่านี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ :-

เจริญ อสุภะ เพื่อ ละ ราคะ ;

เจริญ เมตตา เพื่อ ละ พยาบาท ;

เจริญ อานาปานสติ เพื่อ ตัดเสียซึ่ง วิตก ;

เจริญ อนิจจสัญญา เพื่อ ถอน อัส๎มิมานะ.

ภิกษุทั้งหลาย. ! เมื่อภิกษุมีอนิจจสัญญาอนัตตสัญญา  ย่อมตั้งมั่น ;

ผู้มีอนัตตสัญญา ย่อมถึงการถอนเสียได้ซึ่งอัส๎มิมานะ

คือ นิพพาน ในทิฏฐธรรมเทียว.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๔๖๖-๔๖๘

(ภาษาไทย)  นวก. อํ. ๒๓/๒๘๓-๒๘๕/๒๐๕.  : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

เมื่อผู้เจริญมุ่งอานิสงส์หกประการ

ภิกษุทั้งหลาย. ! เมื่อภิกษุหวังอยู่ซึ่งอานิสงส์  ๖ ประการ ย่อมสมควรโดยแท้ เพื่อจะเข้าไปตั้งซึ่ง อนิจจสัญญา ในสังขารทั้งปวงอย่างไม่จำกัดขอบเขต.

หวังอยู่ซึ่งอานิสงส์  ๖ ประการเหล่าไหนเล่า ? หกประการคือ :

สังขารทั้งปวง จักปรากฏโดยความเป็นของตั้งอยู่อย่างไม่มั่นคง;

ใจของเรา จักไม่ยินดีในโลกทั้งปวง;

ใจของเรา จักออกจากโลกทั้งปวง;

ใจของเรา จักเป็นใจน้อมไปในนิพพาน

       สังโยชน์ทั้งหลายของเราจัก ถึงซึ่งการละขาด; และ

เราจักเป็นผู้ประกอบด้วยสามัญญคุณอันยอดเยี่ยม.

ภิกษุทั้งหลาย. ! เมื่อภิกษุหวังอยู่ซึ่งอานิสงส์ ๖ ประการเหล่านี้แล ย่อมสมควรโดยแท้ เพื่อจะเข้าไปตั้งไว้ซึ่งอนิจจสัญญา ในสังขารทั้งปวงอย่างไม่จำกัดขอบเขต.

 

ทุกขสัญญาเป็นไปโดยสะดวก

เมื่อผู้เจริญมุ่งอานิสงส์หกประการ

ภิกษุทั้งหลาย. ! เมื่อภิกษุ หวังอยู่ซึ่งอานิสงส์  ๖ ประการ ย่อมสมควรโดยแท้ เพื่อจะเข้าไปตั้งไว้ซึ่ง ทุกขสัญญา ในสังขารทั้งปวงอย่างไม่จำกัดขอบเขต.  

หวังอยู่ซึ่งอานิสงส์  ๖ ประการไหนเล่าหกประการคือ :

นิพพิทาสัญญา๑ (สัญญาในความน่าเบื่อหน่าย) ของเราในสังขารทั้งปวงจักปรากฏ เหมือนมีเพชฌฆาตเงื้อดาบอยู่ต่อหน้าเรา;

ใจของเรา จักออกจากโลกทั้งปวง;

เราจักเป็นผู้เห็นสันติ(ความสงบระงับ) ในนิพพานอยู่เป็นประจำ;

อนุสัยทั้งหลายของเรา จักถึงซึ่งการถูกถอนขึ้นจนหมดสิ้น;

เราจักเป็นผู้กระทำกิจ(ในการทำที่สุดทุกข์) อยู่เป็นประจำและ

พระศาสดาจักเป็นผู้ที่เราบำเรอแล้ว ด้วยวัตรอันประกอบด้วยเมตตา(ความรักอันประกอบด้วยธรรม).

ภิกษุทั้งหลาย. ! เมื่อภิกษุหวังอยู่ซึ่งอานิสงส์ ๖ ประการ เหล่านี้แล ย่อมสมควรโดยแท้ เพื่อจะเข้าไปตั้งไว้ซึ่งทุกขสัญญา ในสังขารทั้งปวงอย่างไม่จำกัดขอบเขต.

 

อนัตตสัญญาเป็นไปโดยสะดวก

เมื่อผู้เจริญมุ่งอานิสงส์หกประการ

ภิกษุทั้งหลาย. ! เมื่อภิกษุหวังอยู่ซึ่งอานิสงส์  ๖ ประการ ย่อมสมควรโดยแท้ เพื่อจะเข้าไปตั้งไว้ซึ่ง อนัตตสัญญา ในธรรมทั้งปวงอย่างไม่จำกัดขอบเขต.

หวังอยู่ซึ่งอานิสงส์  ๖ ประการเหล่าไหนเล่า หกประการคือ :

เราจักเป็นอตัมมโย ในโลกทั้งปวง(ปัจจัยนั้น ๆ  ไม่อาจปรุงแต่งได้);

อหังการ(การกระทำในใจด้วยความยึดถือว่าเราว่าตน)ทั้งหลายของเราจักเข้าถึงการดับ;

มมังการ(การกระทำในใจด้วยความยึดถือว่าของเรา ว่าของตน)ทั้งหลายของเราจักเข้าถึงการดับ;

เราจักเป็นผู้ประกอบด้วยอสาธารณญาณ (ความรู้อันไม่ทั่วไปแก่ปุถุชน);

ธรรมอันเป็นเหตุ จักเป็นสิ่งที่เราเห็นแล้วด้วยดี; และ

ธรรมทั้งหลายอันเกิดแต่เหตุ จักเป็นสิ่งที่เราเห็นแล้วด้วยดี.

ภิกษุทั้งหลาย. ! เมื่อภิกษุหวังอยู่ซึ่งอานิสงส์ ๖ ประการเหล่านี้แล ย่อมสมควรโดยแท้ เพื่อจะเข้าไปตั้งไว้ซึ่งอนัตตสัญญา ในธรรมทั้งปวงอย่างไม่จำกัดขอบเขต.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๙๒๘-๙๓๐

(ภาษาไทย)  ฉกฺก. อํ. ช ๒๒/๓๙๖-๓๙๗/๓๗๓-๓๗๕.  : คลิกดูพระสูตร

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง ...สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ...สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ...สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.

เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนาไม่เที่ยง ... สัญญาไม่เที่ยง ... สังขารไม่เที่ยง ... วิญญาณไม่เที่ยง ...สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ...สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ...สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ...นั่นไม่ใช่ของเรา ...นั่นไม่เป็นเรา ...นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความจริงอย่างนี้ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากรูปธาตุ หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. ถ้าจิตของภิกษุคลายกำหนัดแล้วจากเวทนาธาตุ ... จากสัญญาธาตุ ... จากสังขารธาตุ ... จากวิญญาณธาตุ หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น. เพราะหลุดพ้นแล้ว จิตจึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อม เพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

ปฐมธรรม หน้า ๓๐๖

(ภาษาไทย)  ขนธ. สํ.  ๑๗/๔๔/๙๑.  : คลิกดูพระสูตร

 

ภิกษุทั้งหลาย. ! ภิกษุใด  เป็นพระอรหันต์  มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันตามถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ;

ภิกษุนั้น ย่อมรู้ยิ่งซึ่งดินโดยความเป็นดิน; ครั้นรู้ยิ่ง (อภิญฺญา) ซึ่งดินโดยความเป็นดินแล้ว,

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ซึ่งดิน (ปฐวึ น มญฺญติ);

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ในดิน (ปฐวิยา น มญฺญติ);

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย โดยความเป็นดิน (ปฐวิโต น มญฺญติ);

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ว่าดินของเรา (ปฐวิมฺเมติ น มญฺญติ);

ย่อม ไม่เพลินอย่างยิ่งซึ่ง ดิน (ปฐวึ นาภินนฺทติ).

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเรากล่าวว่า เพราะดินเป็นสิ่งที่เธอนั้นกำหนดรู้รอบ(ปริญฺญาต) แล้ว.

(ในกรณีแห่งธรรมอื่นอีก ๒๒ อย่าง คือ น้ำ ไฟ ลม ภูตสัตว์ เทพ ปชาบดี พรหม อาภัสสรพรหม สุภกิณหพรหม เวหัปผลพรหม อภิภู อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ รูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว สิ่งที่รู้สึกแล้วทางจมูก,ลิ้น,ผิวกาย สิ่งที่รู้แจ้งแล้ว เอกภาวะ นานาภาวะ และสิ่งทั้งปวงแต่ละอย่าง ๆ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้โดยระเบียบแห่งถ้อยคำอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งดิน จนกระทั่งถึงกรณีแห่งนิพพาน ซึ่งจะได้บรรยายด้วยข้อความเต็มอีกครั้งหนึ่งดังต่อไปนี้ )

ภิกษุทั้งหลาย. ! ภิกษุใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันตามถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ;

ภิกษุนั้น ย่อมรู้ยิ่งซึ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน; ครั้นรู้ยิ่ง(อภิญญา) ซึ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว.

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ซึ่งนิพพาน (นิพฺพานํ น มญฺญติ);

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ในนิพพาน (นิพฺพานสฺมึ น มญฺญติ);

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย โดยความเป็นนิพพาน (นิพฺพานโต น มญฺญติ);

ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ว่านิพพานของเรา (นิพฺพานมฺเมติ น มญฺญติ);

ย่อม ไม่เพลินอย่างยิ่งซึ่ง นิพพาน (นิพฺพานํ นาภินนฺทติ).

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? ข้อนั้นเรากล่าวว่า เพราะนิพพานเป็นสิ่งที่เธอนั้นกำหนดรู้รอบ (ปริญฺญาต) แล้ว.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้า ๖๔๕-๖๔๖

(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๖/๔.  : คลิกดูพระสูตร

 

 ภิกษุทั้งหลาย ! บริษัทชื่อ ปฏิปุจฉาวินีตา ปริสา โน อุกกาจิตวินีตา เป็นอย่างไรเล่า?

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุทั้งหลายในบริษัทใด,

เมื่อสุตตันตะทั้งหลาย ที่กวีแต่งขึ้นใหม่

เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอนมีอักษรสละสลวย

มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก

อันบุคคลนำมากล่าวอยู่, ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิต

เพื่อจะรู้ทั่วถึง และไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ส่วนสุตตันตะ เหล่าใดอันเป็น ตถาคตภาษิตอันลึกซึ้ง มีอรรถอันลึกซึ้ง

เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยเรื่องสุญญตา,

เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านี้มากล่าวอยู่ พวกเธอย่อมฟังด้วยดี

ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมเข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง

และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ควรศึกษา เล่าเรียน.

พวกเธอเล่าเรียนธรรมที่เป็นตถาคตภาษิตนั้นแล้ว ก็สอบถาม ซึ่งกันและกัน ทำให้เปิดเผยแจ่มแจ้งออกมาว่า ข้อนี้พยัญชนะเป็นอย่างไร อรรถะเป็นอย่างไร ดังนี้.

เธอเหล่านั้นเปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผยได้หงายของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นได้

บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีอย่างต่างๆ ได้.

ภิกษุทั้งหลาย! นี้เราเรียกว่า ปฏิปุจฉาวินีตาปริสา โน อุกกาจิตวินีตา.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า. ๕๐๕

(ภาษาไทย) ทุก. อํ. ๒๐/๖๘/๒๙๒ : คลิกดูพระสูตร

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ข้อนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาดังนี้

พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวน ในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย

ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุนี้จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึง ทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงใน  พระสูตรได้เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำ สั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุนี้จำมาถูกต้องแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่หนึ่งนี้ไว้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า สงฆ์พร้อมทั้งพระเถระ พร้อมทั้งปาโมกข์ อยู่ในอาวาสโน้น ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้

พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย

ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตรเทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้ง คำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำสั่งสอนของ พระผู้มีพระภาคแน่นอน และภิกษุสงฆ์นั้นจำมาถูกต้องแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สองนี้ไว้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุ  ผู้เป็นเถระมากรูปอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้

พวกเธอไม่พึงชื่นชมไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย

ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตรเทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่านี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้น จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระเหล่านั้น จำมาถูกต้องแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สามนี้ไว้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุ  ผู้เป็นเถระอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ดังนี้

พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้ว พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตรเทียบเคียงในพระวินัย ลงในพระสูตรไม่ได้ ลงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้มิใช่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาผิดแล้วดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัยลงในพระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำของ พระผู้มีพระภาคแน่นอน และพระเถระนั้นจำมาถูกต้องแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย   พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศข้อที่สี่นี้ไว้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำ มหาประเทศทั้ง ๔ เหล่านี้ไว้ ฉะนี้แล ฯ

แผ่นพับ ๑๐ พระสูตร ข้อ ๙

(ภาษาไทย) มหา. ที. ๑๐/๑๐๒-๑๐๓/๑๑๓-๑๑๖.  : คลิกดูพระสูตร

 

       อานนท์ ! ก็กัลยาณวัตรอันเราตั้งไว้ในกาลนี้  นี้เป็นไปเพื่อความ เบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว  เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อรู้พร้อม เพื่อนิพพาน.  

อานนท์ ! กัลยาณวัตรนี้ เป็นอย่างไรเล่า ? นี้คือ  อริยอัฏฐังคิกมรรค, กล่าวคือ  สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ; สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ; สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.             

       อานนท์ ! เกี่ยวกับกัลยาณวัตรนั้น เราขอกล่าวกะเธอ โดยประการที่เธอทั้งหลายจะพากันประพฤติตามกัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้แล้วนี้: เธอทั้งหลายอย่าเป็นบุรุษพวกสุดท้ายของเราเลย.

อานนท์ ! ความขากสูญแห่งกัลยาณวัตรนี้ มีในยุคแห่งบุรุษใด; บุรุษนั้นชื่อว่าบุรุษคนสุดท้ายแห่งบุรุษทั้งหลาย.

อานนท์ ! เกี่ยวกับกัลยาณวัตรนั้น เราขอกล่าวย้ำกับเธอโดยประการที่เธอทั้งหลายจะพากันประพฤติตามกัลยาณวัตรที่เราตั้งไว้แล้วนี้:

เธอทั้งหลายอย่าเป็นบุรุษพวกสุดท้ายของเราเลย.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒หน้า ๑๔๘๘-๑๔๘๙

(ภาษาไทย) ม.  ม. ๑๓/๓๒๔-๓๒๕/๔๖๓.  : คลิกดูพระสูตร

 

ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว : กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า อานกะ มีอยู่ เมื่อกลองอานกะนี้ มีแผลแตก หรือลิ, พวกกษัตริย์ทสารหะ ได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่ม เสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น (ทุกคราวไป). ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้น นานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น;

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น : ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย, สุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้นที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

ปฐมธรรม หน้า ๒๔๕

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๒๖๙/๖๗๒-๓. : คลิกดูพระสูตร

 

 

พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า

ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุทั้งหลาย พึงถามเธออย่างนี้ว่า ท่านอานนท์

...ความเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าไหนย่อมปรากฏ

...ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่าไหน ย่อมปรากฏ

...ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมเหล่าไหนที่ตั้งอยู่แล้ว ย่อมปรากฏ

ดังนี้ไซร้. เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฯลฯ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นแห่งรูปแลย่อมปรากฏ ความเสื่อม แห่งรูปย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งรูปที่ตั้งอยู่แล้วย่อมปรากฏ. ความบังเกิดขึ้นแห่งเวทนา สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งวิญญาณย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งวิญญาณย่อมปรากฏ. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แล ย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แล ย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่แล้วย่อมปรากฏ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้แล.

ถูกแล้ว ถูกแล้ว อานนท์

...ความบังเกิดขึ้นแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณแลย่อมปรากฏ

...ความเสื่อมแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณแล ย่อมปรากฏ

...ความเป็นอย่างอื่นแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณที่ตั้งอยู่แล้ว ย่อมปรากฏ

ดูกรอานนท์ ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แล ย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แล ย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมเหล่านี้ที่ตั้งอยู่แล้ว ย่อมปรากฏ.

ดูกรอานนท์ เธอถูกถามอย่างนี้แล้วพึงพยากรณ์อย่างนี้.

พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า

ดูกรอานนท์ ถ้าภิกษุทั้งหลายพึงถามเธออย่างนี้ว่า ท่านอานนท์

...ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าไหนปรากฏแล้ว

...ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่าไหนปรากฏแล้ว

...ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมเหล่าไหนที่ตั้งอยู่ปรากฏแล้ว.

 

...ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าไหนจักปรากฏ

...ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่าไหนจักปรากฏ

...ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่แล้วเหล่าไหนจักปรากฏ.

 

...ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าไหนย่อมปรากฏ

...ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่าไหนย่อมปรากฏ

...ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่แล้วเหล่าไหนย่อมปรากฏ.

ดูกรอานนท์เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างไร?

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฯลฯ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณใดแลที่ล่วงไปแล้ว ดับแล้ว แปรไปแล้ว

...ความบังเกิดขึ้นแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณนั้นปรากฏแล้ว

...ความเสื่อมแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณนั้นปรากฏแล้ว

...ความเป็นอย่างอื่นแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณที่ตั้งอยู่แล้วนั้น ปรากฏแล้ว.

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แลปรากฏแล้ว ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แลปรากฏแล้ว ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่แล้วเหล่านี้แลปรากฏแล้ว.

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณใด แลยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ

...ความบังเกิดขึ้นแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณนั้นจักปรากฏ

...ความเสื่อมแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณนั้นจักปรากฏ

...ความเป็นอย่างอื่นแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณที่ตั้งอยู่แล้วนั้นจักปรากฏ.

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แลจักปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แลจักปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมเหล่านี้ที่ตั้งอยู่แล้วแลจักปรากฏ.

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณใดแลที่เกิดที่ปรากฏ

...ความบังเกิดขึ้นแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณนั้นย่อมปรากฏ

...ความเสื่อมแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณนั้นย่อมปรากฏ

...ความเป็นอย่างอื่นแห่งรูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณที่ตั้งอยู่แล้วนั้นย่อมปรากฏ.

ดูกรอาวุโสทั้งหลายความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แลย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แลย่อมปรากฏ ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่แล้วเหล่านี้แลย่อมปรากฏ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้วพึงพยากรณ์อย่างนี้แล.

ถูกแล้ว ถูกแล้ว อานนท์ รูปใดที่ล่วงไปแล้ว ดับแล้ว แปรไปแล้ว ความบังเกิดขึ้นแห่งรูปนั้นปรากฏแล้ว... ฯลฯ  ดูกรอานนท์

...ความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่านี้แลย่อมปรากฏ

...ความเสื่อมแห่งธรรมเหล่านี้แลย่อมปรากฏ

...ความเป็นอย่างอื่นแห่งธรรมที่ตั้งอยู่เหล่า นี้แลย่อมปรากฏ.

ดูกรอานนท์ เธอถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้.

(ภาษาไทย)  ขนธ. สํ.  ๑๗/๓๗/๗๙.  : คลิกดูพระสูตร

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง จักจำแนกปฏิจจสมุปบาทแก่พวกเธอ พวกเธอจงฟังปฏิจจสมุปบาท นั้น จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาท เป็นไฉน  ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เพราะ  อวิชชา     เป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

เพราะ  สังขาร     เป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ

เพราะ  วิญญาณ   เป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

เพราะ  นามรูป    เป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ

เพราะ  สฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

เพราะ  ผัสสะ      เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

เพราะ  เวทนา     เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

เพราะ  ตัณหา     เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

เพราะ  อุปาทาน   เป็นปัจจัย จึงมีภพ

เพราะ  ภพ        เป็นปัจจัย จึงมีชาติ

เพราะ  ชาติ        เป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข์โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๒/๔-๕. : คลิกดูพระสูตร

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะย่อมมี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม, ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว;

คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา(ธัมมัฏฐิตตา),

คือความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา (ธัมมนิยามตา),

คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย  สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น (อิทัปปัจจยตา).

ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น; ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว, ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ และ ได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ท่านทั้งหลายจงมาดู: เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะย่อมมีดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุดังนี้แล : ธรรมธาตุใด ในกรณีนั้น

อันเป็น ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น,

เป็น อวิตถตา คือความไม่ผิดไปจาก ความเป็นอย่างนั้น,

เป็น อนัญญถตา คือความไม่เป็นไปโดยประการอื่น,

เป็น  อิทัปปัจจยตา  คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมนี้ เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท (คือธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติย่อมมี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม,

ฯลฯ (ตรัสเหมือนกันเปลี่ยนแค่แต่ละท่อนของสายปฏิจจสมุปบาท)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพย่อมมี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม,..ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานชาติย่อมมี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, ...ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาย่อมมี. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, ...ฯลฯ... 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาย่อมมี. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, ...ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะย่อมมี. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, ...ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะย่อมมี. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, ...ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปย่อมมี. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, ...ฯลฯ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณย่อมมี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, ...ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายย่อมมี.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม, จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม, ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว;

คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา(ธัมมัฏฐิตตา),

คือความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา (ธัมมนิยามตา),

คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย  สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น (อิทัปปัจจยตา).

ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งธรรมธาตุนั้น; ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว, ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้งขึ้นไว้ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ และ ได้กล่าวแล้วในบัดนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ท่านทั้งหลายจงมาดู: เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายย่อมมีดังนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุดังนี้แล : ธรรมธาตุใด ในกรณีนั้น

อันเป็น ตถตา คือความเป็นอย่างนั้น,

เป็น อวิตถตา คือความไม่ผิดไปจาก ความเป็นอย่างนั้น,

เป็น อนัญญถตา คือความไม่เป็นไปโดยประการอื่น,

เป็น  อิทัปปัจจยตา  คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมนี้ เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท (คือธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น)

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๓๔-๓๗

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๒๒/๖๑. : คลิกดูพระสูตร

 

 

( ๑. การทรงแสดงไตรลักษณ์)

ภิกษุทั้งหลาย. ! เพราะตถาคตเกิดขึ้น  หรือเพราะตถาคตไม่ได้เกิดขึ้น ก็ตาม, สิ่งที่ทรงตัวอยู่ได้เอง   (ธรรมธาตุ) ซึ่งเป็น

คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา(ธัมมัฏฐิตตา),

คือความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา (ธัมมนิยามตา),

นั้น ย่อมตั้งอยู่อย่างคงตัวว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง (สัพเพ สังขารา อนิจจา),

ภิกษุ ท.! ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะซึ่งสิ่งนั้น ; ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมวางหลักเกณฑ์ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง  ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ เพื่อให้รู้ทั่วกันว่า

สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย. ! เพราะตถาคตเกิดขึ้น หรือเพราะตถาคตไม่ได้เกิดขึ้นก็ตาม, สิ่งซึ่งทรงตัวอยู่ได้เอง (ธรรมธาตุ) ซึ่งเป็น

คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา(ธัมมัฏฐิตตา),

คือความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา (ธัมมนิยามตา),

นั้น  ย่อมตั้งอยู่อย่างคงตัวว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ (สัพเพ สังขารา ทุขขา),

ภิกษุทั้งหลาย. ! ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะ ซึ่งสิ่งนั้น; ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้วถึงพร้อมเฉพาะแล้ว ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมวางหลักเกณฑ์ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ เพื่อให้รู้ทั่วกันว่า

สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นทุกข์ ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย. ! เพราะตถาคตเกิดขึ้น หรือเพราะตถาคตไม่ได้เกิดขึ้นก็ตาม, สิ่งซึ่งทรงตัวอยู่ได้เอง  (ธรรมธาตุ) ซึ่งเป็น

คือความตั้งอยู่แห่งธรรมดา(ธัมมัฏฐิตตา),

คือความเป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา (ธัมมนิยามตา),

นั้น  ย่อมตั้งอยู่อย่างคงตัวว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา (สัพเพ ธัมมา อนัตตา),

ภิกษุทั้งหลาย. ! ตถาคตย่อมรู้พร้อมเฉพาะ ย่อมถึงพร้อมเฉพาะซึ่งสิ่งนั้น ; ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว    ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมวางหลักเกณฑ์ ย่อมเปิดเผย ย่อมจำแนกแจกแจง ย่อมทำให้เป็นเหมือนการหงายของที่คว่ำ เพื่อให้รู้ทั่วกันว่า

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา   ดังนี้.

 

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า ๔๖๑-๔๖๒

(ภาษาไทย) ติก. อํ.  ๒๐/๒๗๓/๕๗๖. : คลิกดูพระสูตร

 

ดูก่อนกัจจานะ ! คำกล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวง มีอยู่ ดังนี้ : นี้เป็นส่วนสุด(มิใช่ทางสายกลาง) ที่หนึ่ง; คำกล่าวที่ยืนยันลงไปด้วยทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวง ไม่มีอยู่ ดังนี้ : นี้เป็นส่วนสุด (มิใช่ทางสายกลาง) ที่สอง

ดูก่อนกัจจานะ !  ตถาคตย่อมแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปหาส่วนสุดทั้งสองนั้นคือตถาคตย่อมแสดงดังนี้ว่า :

เพราะ  อวิชชา     เป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

เพราะ  สังขาร     เป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ

เพราะ  วิญญาณ   เป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

เพราะ  นามรูป    เป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ

เพราะ  สฬายตนะ เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

เพราะ  ผัสสะ      เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

เพราะ  เวทนา     เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา

เพราะ  ตัณหา     เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

เพราะ  อุปาทาน   เป็นปัจจัย จึงมีภพ

เพราะ  ภพ        เป็นปัจจัย จึงมีชาติ

เพราะ  ชาติ        เป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข์โทมนัสและอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. ... ... (แล้วทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารไปจนจบ)”.

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๑๕-๑๖

(ภาษาไทย) นิทาน.สํ.๑๖/๑๕/๔๔. : คลิกดูพระสูตร

 

 

 

 

 

 

 

 

Today255
Yesterday254
This week841
This month8087
Total2355430

Who Is Online

18
Online