เพียรทิ้งอกุศลคือเดินมรรค ๘ ใช่หรือไม่
พระสูตรที่เกี่ยวข้อง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนบุคคล เมื่อรู้เมื่อเห็น ซึ่ง จักษุ ตามที่เป็นจริง, เมื่อรู้เมื่อเห็น ซึ่งรูปทั้งหลาย ตามที่เป็นจริง, เมื่อรู้เมื่อเห็นซึ่งจักขุวิญญาณ ตามที่เป็นจริง, เมื่อรู้เมื่อเห็น ซึ่งจักขุสัมผัส ตามที่เป็นจริง, เมื่อรู้เมื่อเห็น ซึ่งเวทนาอันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุขก็ตาม ตามที่เป็นจริง แล้ว; เขาย่อมไม่กำหนัดในจักษุ, ไม่กำหนัดในรูปทั้งหลาย, ไม่กำหนัดในจักขุวิญญาณ, ไม่กำหนัดในจักขุสัมผัส, และไม่กำหนัดในเวทนาอันเกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม. เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่ลุ่มหลงแล้ว ตามเห็นอาทีนวะ (โทษของสิ่งเหล่านั้น) อยู่เนือง ๆ, ปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลายย่อมถึงซึ่งความไม่ก่อเกิดต่อไป; และตัณหาอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพใหม่ อันประกอบอยู่ด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลินเป็นเครื่องทำให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ นั้นอันเขาย่อมละเสียได้; ความกระวนกระวาย แม้ทางกาย อันเขาย่อมละเสียได้, ความกระวนกระวาย แม้ทางจิตอันเขาย่อมละเสียได้; ความแผดเผา (สนฺตาป) แม้ทางกาย อันเขาย่อมละเสียได้, ความแผดเผา แม้ทางจิต อันเขาย่อมละเสียได้; ความเร่าร้อน (ปริฬาห) แม้ทางกาย อันเขาย่อมละเสียได้, ความเร่าร้อน แม้ทางจิต อันเขาย่อมละเสียได้. บุคคลนั้น ย่อมเสวยซึ่งความสุขอันเป็นไปทางกาย ด้วย, ซึ่งความสุขอันเป็นไปทางจิต ด้วย. เมื่อบุคคลเป็นเช่นนั้นแล้ว ทิฏฐิของเขา ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ; ความดำริของเขา ย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ; ความพยายามของเขา ย่อมเป็นสัมมาวายะมะ; สติของเขา ย่อมเป็นสัมมาสติ; สมาธิของเขาย่อมเป็น สัมมาสมาธิ; ส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา เป็นธรรมบริสุทธิ์มาแล้วแต่เดิมนั่นเทียว. ด้วยอาการอย่างนี้แล อัฏฐังคิกมรรค อันเป็นอริยะ ของเขานั้น ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบแห่งความเจริญ; ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๓๓๕-๓๓๗ (บาลี) อุปริ. ม.๑๔/๕๒๒-๕๒๕/๘๒๘-๘๓๑. : คลิกดูพระสูตร (ไทย) อุปริ. ม.๑๔/๓๙๕-๓๙๘/๘๒๘-๘๓๑. : คลิกดูพระสูตร