Buddhawajana FAQ

Thai (th)English (UK)

การที่พระสงฆ์รับเงินแล้ว ไม่ได้สละเงินออกท่ามกลางสงฆ์ ถือว่าการปลงอาบัติสำเร็จประโยชน์หรือไม่ และถ้าปลงอาบัติด้วยวาจาซ้ำๆกันเป็นประจำจะมีความผิดซ้ำในพระวินัยหรือไม่

ให้เรตสมาชิก
ไม่ดีดี 

 

วิดีโอ

บรรยายธรรมโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล

วัดนาป่าพง ลำลูกกา คลอง ๑๐ ปทุมธานี

สนทนาธรรมค่ำวันเสาร์   24 พ.ย. 2554

ดาวน์โหลด : วิดีโอ

พระสูตรที่เกี่ยวข้อง


[๑๐๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็นกุลุปกะของสกุลหนึ่ง รับภัตตาหารอยู่เป็นประจำ ของเคี้ยวของฉันอันใดที่เกิดขึ้นในสกุลนั้น. เขาย่อมแบ่งส่วนไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร. เย็นวันหนึ่งในสกุลนั้นมีเนื้อเกิดขึ้น เขาจึง แบ่งส่วนเนื้อนั้นไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร. เด็กของสกุลนั้นตื่นขึ้นในเวลาเช้ามืด ร้อง อ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า. บุรุษสามีจึงสั่งภรรยาว่า จงให้ส่วนของพระแก่เด็ก เราจัก ซื้อของอื่นถวายท่าน. ครั้นแล้วเวลาเช้าท่านอุปนันทศากยบุตร นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปสู่สกุลนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย. ทันใด บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตร กราบแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง, ได้กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น, ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้าส่วนหนึ่ง, จากนั้นเด็กคนนี้ตื่นขึ้นแต่เช้ามืดร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า ผมจึงได้ให้เนื้อส่วนของ พระคุณเจ้าแก่เด็ก, พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ. ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า เธอบริจาคทรัพย์กหาปณะหนึ่งแก่เรา แล้วหรือ? บุ. ขอรับ ผมบริจาคแล้ว. อุ. เธอจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา. บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตร ในทันใดนั้นเอง แล้วเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ รับรูปิยะเหมือนพวกเรา. ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้รับรูปิยะเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า

ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธอรับรูปิยะจริงหรือ?

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียน

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า

ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ, ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า? การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของ ชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.

ทรงบัญญัติสิกขาบท

พระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตร โดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้วตรัส โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่ เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำ นาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑

เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑

เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑

เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุมีศีลเป็นที่รัก ๑

เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑

เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑

เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง ไม่เลื่อมใส ๑

เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑

เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑

เพื่อถือตามพระวินัย ๑.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ ๓๗. ๘.

อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์. 

 

สิกขาบทวิภังค์

[๑๐๖] บทว่า อนึ่ง ... ที่ชื่อว่า ทอง ตรัสหมายทองคำ.

ที่ชื่อว่า เงิน ได้แก่กหาปณะ

มาสกที่ทำด้วยโลหะ

มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วยครั่ง

ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้.

บทว่า รับ คือรับเอง เป็นนิสสัคคีย์.

บทว่า ให้รับ คือให้คนอื่นรับแทน เป็นนิสสัคคีย์.

บทว่า หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้

ความว่า หรือยินดี ทอง เงินที่เขาเก็บ ไว้ให้ด้วยบอกว่า ของนี้จงเป็นของพระคุณเจ้า ดังนี้เป็นต้น, เป็นนิสสัคคีย์ทองเงินที่เป็นนิสสัคคีย์ ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละรูปิยะนั้น อย่างนี้

 

(ไทย) วิ. มหา. ๒/๑๐๘/๑๐๕:คลิกดูพระสูตร

(บาลี) วิ. มหา. ๒/๘๙/๑๐๕:คลิกดูพระสูตร

 

ตัชชนียกรรม (ข่มขู่)

ทรงแสดงหลักการลงตัชชนียกรรม คือการสวดประกาศลงโทษเป็นการ

ตำหนิภิกษุผู้ชอบหาเรื่องก่อการทะเลาะวิวาทก่อเรื่องอื้อฉาวก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์.

 

นิยสกรรม (ถอดยศหรือตัดสิทธิ)

ทรงแสดงหลักการลงนิยสกรรม คือ การถอดยศหรือตัดสิทธิแก่ภิกษุ

ผู้มากด้วยอาบัติ คลุกคลีกับคฤหัสถ์ ในลักษณะที่ไม่สมควร.

 

ปัพพาชนียกรรม (ขับไล่)

ทรงแสดงหลักการลงปัพพาชนียกรรม คือการไล่เสียจากวัด แก่ภิกษุ

ผู้ประทุษร้ายตระกูลประจบคฤหัสถ์ ยอมตัวให้เขาใช้ มีความประพฤติชั่ว.

 

ปฏิสารณียกรรม (ขอโทษคฤหัสถ์)

ทรงแสดงหลักการลงปฏิสารณียกรรม คือการให้ไปขอโทษคฤหัสถ์

แก่ภิกษุผู้ด่า บริภาษคฤหัสถ์.

 

อุกเขปนียกรรม (ยกเสียจากหมู่)

ครั้นแล้วทรงแสดงหลักการลงอุกเขปนียกรรม คือการสวดประกาศ

ยกเสียจากหมู่ ไม่ให้ใครร่วมกิน ร่วมนอน หรือคบหาด้วย ว่าจะทำได้ในกรณีที่

ไม่เห็นอาบัติ, ไม่ทำคืนอาบัติ, ไม่สละความเห็นที่ชั่ว ต่อจากนั้นทรงอธิบายการ

ทำกรรมที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมแก่พระอุบาลี.

 

 

หนังสืออริยวินัย หน้า ๒๖๘

 

 

 

 

Today262
Yesterday568
This week2617
This month7648
Total2365642

Who Is Online

21
Online